DB Artivist

จุดเด่นที่ทําให้เราจดจํา BaseNine ได้คือ "เขี้ยวเสน่ห์’ หรือ Spur ที่กระจายตัวอยู่ตามปลายเส้นตั้งของตัวอักษร (ทั้งปลายบนและล่าง) เช่น ในกลุ่ม a, b, p หรือกลุ่ม m, n, u เป็นต้น โดยเฉพาะตัว r นั้นดูจัดจ้านเป็นพิเศษด้วยเขี้ยวเล็บ 2 ทิศทาง คือ มีทั้งขึ้นบนและลงล่าง ไม่มี r ใดเสมอเหมือน! แม้บุคลิกโดยรวมของ BaseNine จะดูกร้าวแบบเพศชาย แต่คนออกแบบเป็นหญิงชื่อ Zuzana Licko (house designer ของ Emigre อันเลื่องชื่อ.) ช่องไฟที่จงใจหลวมมากเป็นพิเศษนั้นมีส่วนทําให้ BaseNine ดูแปลกแยกไปจากฟอนต์ละติน ทั่วๆ ไปอย่างเด่นชัด. อย่างไรก็ตาม เมื่อผมตัดสินใจจะทําฟอนต์ไทยอารมณ์ BaseNine สิ่งแรกที่คํานึงถึงคือต้องลดช่องไฟลงจากเดิม. เหตุผลคือนักออกแบบไทยเคยชินกับตัวดิสเพลย์ไทยช่องไฟชิดๆ มาหลายสิบปีแล้ว (เริ่มติดนิสัยมาจากขูดตัวอักษรลอก?) พอเจอฟอนต์ไทยช่องไฟอักษรห่างๆ อย่าง SR FahMai ซึ่งอ่านง่ายดีกลับไม่นิยมใช้เป็นตัวเนื้อ หรือเจอ DB Moment ที่ทําช่องไฟค่อนข้างห่างก็มักแก้ให้ชิด เป็นต้น.

ในการออกแบบฟอนต์ไทยเสมือน Baseline เริ่มต้น ก็คล้ายๆ ฟอนต์ไทยเสมือนโรมันทั่วๆ ไป คือ เอาตัวพิมพ์เล็ก n, u มาทํา ท, น เป็นต้น จึงติดเขี้ยวเสน่ห์ของ n, u มาด้วย. ส่วนเขี้ยวคู่ของตัว r ที่แรงจัดนั้นสามารถพลิกกลับในแนวนอนมาทําหัวอักษรกลุ่มขมวดหยัก ซ, ฆ, ฑ ได้อย่างเหมาะเหมง. และถ้าเราตัดตอนตัว r เอาเฉพาะส่วนที่ยื่นไปทางขวามือ จะเห็นว่ามันใช้เป็นหัวอักษร ค ได้ และพลิกกลับไปเป็นหัว จ, ฐ ได้พอดี! เท่านั้นไม่พอ ยังนําไปจบปลายหาง ฎ ฏ, ฐ ได้ด้วยเป็นของแถม!

ตัวอักษรคล้าย ก ทุกตัว (ถ, ณ, ภ, ฎ ฯลฯ) ปากถูกออกแบบให้ยื่นแหลมล้อเลียนกับส่วนขมวดม้วน น, ม (ที่ถูกลดรูปเหลือแค่ปลายแหลม) ยกเว้น ก ตัวเดียวที่ไม่มีปาก เพราะเขี้ยวที่กระจายอยู่ทั้งชุดนั้นน่าจะกร้าวเพียงพอแล้ว จะเขี้ยวมากขนาดไหนให้อ่านต่อ!

เพื่อให้ฟอนต์ดูกร้าว ผมเลือกใช้ ข, พ แบบหยักฟันปลาเหมือนตัวพิมพ์เล็ก v, w. ส่วน ผ ใช้หยักแหลมเช่นกัน เพียงแต่แยกแยะให้มันดูต่างจาก พ ด้วยการให้มุมหยักกลาง ผ ต่ำกว่าของ พ มากๆ และให้เส้นหน้าเส้นหลังของ ผ อยู่ในแนวตั้งตามปรกติแทนที่จะเป็นแนวทแยงแบบ พ.

ก่อนหน้าที่จะซื้อ BaseNine Medium มาแตกแขนงเป็นฟอนต์ไทยนั้น ผมเคยผ่านประสบการณ์ออกแบบฟอนต์กร้าว อย่าง DB Kakabaht มาแล้ว ตัวอักษร ช, ธ, ย, ล, ที่อยู่ในโครงเส้นกากบาทสามารถนํามาดัดแปลงใช้กับโค้งบนล่างของ Baseline กลายเป็นของใหม่แปลกตาได้, นี่เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถนําประสบการณ์เก่ามาเกลาแต่งแปลงเสริมเป็นงานใหม่ได้เสมอ (ส่วนจะออกมาดีไม่ดีนั้นเป็นอีกเรื่อง!).

การถ่ายทอด DNA จาก DB Kakabaht สู่ DB Artivist
ยิ่งขนาดเล็กลงเท่าใด ท ยิ่งสับสนกับ ก มากเท่านั้น
สามารถเปลี่ยนไปใช้ ท แบบ N กลับด้าน อ่านชัดเจนดีกว่า
เปรียบเทียบความแตกต่างของตัวอักษรและช่องไฟ ระหว่าง BaseNine Medium (บน) กับ DB Artvist Medium (ล่าง)

สําหรับตัวเลขอารบิกซึ่งนิยมใช้มากกว่าตัวเลขไทยนั้น ได้เติมเขี้ยวเพิ่มเข้าไปจากเดิมอีก 2 ตัวคือ 2 และ 7 (เลียนแบบ 3, 5 ที่มีอยู่แล้ว.)

ในส่วนของอักษรโรมันใหม่ที่ใช้เข้าชุดกับอักษรไทยนั้น นอกจากจะปรับช่องไฟให้กระชับตามชุดอักษรไทยแล้ว ยังได้ทําการขยายความกว้างของตัวพิมพ์ใหญ่บางตัวคือ D, O, Q และ Z (O ที่กว้างขึ้นช่วยให้ไม่สับสนกับตัวเลข 0 เหมือนใน BaseNine เดิม.) ส่วนตัวพิมพ์เล็กมีเพียง m ตัวเดียวที่ถูกขยายให้โปร่งขึ้น. ตัว z และ Z ที่คล้ายเลข 7 จึงเติมเขี้ยวด้วยให้เข้าชุดกัน.

ประสบการณ์ที่ได้จากการสร้างฟอนต์ DB Yord ทําให้เห็นว่า f, t ของ DB Yord ที่มีปลายเส้นนอนสอบแหลมนั้นน่าจะปรับมาใช้กับ f, t ของ BaseNine ภาคภาษาไทยได้กร้าวดี ไม่แพ้สิ่งที่ได้จาก DB Kakabaht.

การถ่ายทอด DNA จาก DB Yord สู่ DB Artivist
ใช้ DB Artivist Extra Bold แทน DB Erawan ได้

แม้ว่า BaseNine ต้นตํารับจะมีบุคลิก Aggressive ก็ตาม เมื่อสะกดคําว่า Aggressive ด้วยฟอนต์นี้ กลับดูไม่ Aggressive เท่าที่ควร, เป็นเพราะตัว A ทรงยูคว่ำของมันดูหวานเกินไปนั่นเอง. ผมจึงจงใจแก้ A ให้กลับไปเป็นทรงวีคว่ำธรรมดา ซึ่งดูกร้าวกว่า. Aggressive ยังเป็นบุคลิกของ Activist ซึ่งบางทีก็ดูก้าวร้าวเกินจําเป็น. ผมเองชอบกร้าวแบบไม่ร้าว! ชื่อ Artivist จึงน่าจะเหมาะสมกับฟอนต์ไทยเสมือน BaseNine ตัวนี้มากกว่า (แค่เปลี่ยนจาก c เป็น r เท่านั้น). จะหมายถึงนักเคลื่อนไหวทางศิลปะ หรือ นักเคลื่อนไหวอย่างมีศิลปะก็ได้

ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวเชิงพาณิชย์ หรือเคลื่อนไหวเชิงสังคมอย่าง Aggressive ผมแนะนําให้ลองใช้ DB Artivist ไม่ผิดหวังแน่ แต่โปรดอย่าหวังในทางที่ผิดนะ เช่นหวังให้คนเข้าใจผิดเพื่อค้ากําไรเกินควร หรือเพื่อสร้างความร้าวฉานเกลียดชังระหว่างคนในชาติ ฯลฯ

เพราะบุคลิกของ DB Artivist คือ ‘กร้าว ไม่ร้าว’ เหมาะเอาไว้ใช้สร้างสรรค์กุศลศิลป์เท่านั้นครับ!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ November 2011