VAG Rounded เป็นผลงานของกลุ่มนักออกแบบที่ร่วมกันพัฒนาสําหรับ Volkswagen AG ในปี ค.ศ. 1979 และได้รับการปรับปรุงเป็น PostScript ในอีก 10 ปีต่อมาโดย Adobe. ด้วยรูปทรงที่เรียบง่ายของ VAG Rounded ทําให้สามารถใช้เป็น text ได้สบาย ให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจาก Helvetica เท่าใดนัก. แต่เมื่อใช้ในขนาดใหญ่เป็น display ปลายที่มนของมันจะแสดงความเป็นกันเอง ดูผ่อนคลายกว่า Helvetica อย่างเหลือเชื่อ นี่คือสองคุณสมบัติพิเศษของมัน ที่รวมอยู่ในร่างเดียว และน่าจะเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทําให้ VAG Rounded ยังคงเป็นฟอนต์ sans serif แบบปลายมนที่ได้รับความนิยมสูงสุดจนถึงยุค opentype ในทุกวันนี้
การทําอะไรก่อนคนอื่นเป็นเรื่องดี แต่ที่สําคัญกว่าคือผลงานต้องออกมาดีด้วยจึงได้รับการยอมรับ. พี่น้องตระกูลไรท์ ไม่ใช่คนแรกที่สร้างเครื่องบินได้ เพียงแต่สร้างได้ดีที่สุดจนเห็นจุดเปลี่ยนที่น่าพึงพอใจได้ในการบิน VAG Rounded ก็คงไม่ใช่แบบตัวพิมพ์เส้นมน (Rounded) ชุดแรกของโลกตะวันตก เพียงแต่ว่ามันลงตัวมากจนซึมเข้าไปอยู่ในใจนักออกแบบโดยง่าย, นั้นน่าจะเป็นเพราะมันถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อให้เป็นตัวมนๆ โดยเฉพาะ เพราะไม่เคยเห็นมี VAG มีแต่ VAG Rounded! ถึงจะมีฟอนต์ VAG มาก่อน แล้วค่อยมาทําให้เป็น Rounded) ก็คงจินตนาการ VAG เมื่อใช้เป็น display ได้ว่าน่าจะดูงั้นๆ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แค่ประมาณว่ามันอยู่ระหว่าง Helvetica กับ Futura เท่านั้นเอง
การสร้างฟอนต์รูปทรงคล้ายเส้นไส้กรอกในภาคภาษาไทยให้เทียบเคียงได้กับ VAG Rounded นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว. ถ้าเอาแค่รูปทรงอาจจะง่าย ความยากมันอยู่ที่ว่า ถ้ารูปทรงยิ่งเรียบง่ายตัดทอนจากตัวมาตรฐานไทยเท่าไหร่ก็ยิ่งทําให้มันใช้อ่านในขนาดตัวเล็กๆ ได้ยากขึ้นเท่านั้น. ผมเลือกใช้หลักการอะลุ้มอล่วยระหว่างรูปอักษรที่พึงพอใจ (ดูในขนาดโต) และประโยชน์ใช้สอย (อ่านง่าย ในขนาดเล็ก), โดยความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว DB SaiKrok ที่ต้องละหัวให้ดูเรียบง่ายคล้าย VAG Rounded นั้นไม่น่าจะอ่านเป็น text ยาวๆ ในขนาดตัวพิมพ์เล็ก ๆ ได้ดีเท่าแบบตัวพิมพ์ไทยมาตรฐานหัวกลมที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคย แม้จะพยายามขจัดคู่สับสนจนไม่เหลือเลยก็ตาม
เริ่มจากตัว ก ผมเอาหลักการที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วจาก DB Erawan คือให้ตัว ก ซึ่งมีความถี่ในการใช้งานสูง (กว่าเพื่อนร่วมก๊วนอักษรคล้ายของมัน คือ ถ, ภ, ฌ, ณ, ฯลฯ) เป็นรูปตัว U พลิกกลับหัว ซึ่งช่วยให้มันดูเรียบง่ายแบบ VAG Rounded (เพราะไม่มีรอยหยักปาก) แต่ตัวอื่นๆ ที่เป็นอักษรคล้าย ก ให้มีเส้นบนขวาสุดทํามุมฉากกับเส้นหน้าให้ดูเป็นปากไก่, วิธีนี้ทําให้ตัว ถ ดูไม่สับสนเป็นตัว ด ได้ง่าย ขณะเดียวกัน ตัว ด ก็ใช้เส้นหน้าโค้งทั้งเส้นแบบ ด ของ DB Erawan ทําให้ขจัดปัญหาคู่สับสนระหว่าง ถ กับ ด ได้โดย สิ้นเชิง. ต่างจากฟอนต์ไทยเสมือน VAG Rounded ตัวอื่นที่ ด มีเส้นหน้าตรง แถมมีหัวมนสั้นจู๋จนดูสับสนเป็น ถ พอเอามาพิมพ์คําว่า ‘ดอน’ แท้ๆ ก็จะอ่านผิดเป็น ‘ถอน’ เอาได้!
ระหว่างอักษร ง กับ จ ถ้าเป็นตัวเนื้อมาตรฐานหัวกลมทั่วไปแล้ว ดูยังไงก็ไม่มีวันสับสนกัน แต่เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่มีฟอนต์ไทยสไตล์ VAG Rounded มากกว่า 1 ฟอนต์ กลับมี ตัว ง ที่ดูคล้ายตัว จ มาก! นั่นเป็นเพราะประการแรก หัว ง ยาวซุ้มไปข้างหน้ามากเกินไปจนเกือบจะเป็นเส้นบนของ จ. และประการที่สอง หางทะแยงของมันสั้นเกินไปจนดูคล้ายจะเป็นส่วนหัวของ จ. ใน DB SaiKrok นั้น ผมเลือกให้ ง เป็นแบบตัว J ของ VAG Rounded แล้วพลิกกลับหัวมาทําสระอา ส่วนตัว จ นั้นคล้ายๆ สระอา เพียงแต่เส้นบนมีรัศมี ความโค้งกว้างกว่าของสระอา แล้วเติมขีดเส้นตรงแนวนอน กลางตัวทําเป็นหัว จ ขณะที่หัว ง ขีดข้างบน, ผลลัพธ์ที่ได้ ดูยังไงก็ไม่มีวันสับสนกัน เมื่อพิมพ์คําว่า แอบงีบ, โดนงับ ด้วย DB SaiKrok จึงไม่มีวันอ่านสับสนเป็น แอบจีบ, โดนจับ เป็นต้น!
ตัว ต มีเส้นหน้าโค้งงุ้มเข้าเป็นหัวเหมือนกับตัว ด เมื่อ เอา ต พลิกกลับหัวขึ้นมา ก็จะได้ตัว ผ ที่ดูแตกต่างจาก พ ซึ่งประกอบขึ้นจากเส้นตรงแนวดิ่ง 3 เส้น.
สําหรับตัวไม้โทนั้นถ้าออกแบบไม่พิถีพิถันพอ จะดูสับสนกับตัวไม้หันอากาศได้ง่าย. ใน DB SaiKrok ไม้โทเน้นเส้นหางโค้งขึ้นชัดเจน ขณะที่ไม้หันอากาศหางอยู่ในแนวระดับ จึงไม่มีโอกาสอ่านสับสนกัน. ผมเคยสังเกตเห็นป้ายไมโครบัส ที่ติดตามป้ายรถเมล์ใช้ฟอนต์ DB Helvethaica (DB Heavent) ซึ่งออกแบบไม้โทหางโค้งขึ้นเหมือนของ DB SaiKrok ดีๆ อยู่แล้วแท้ๆ กลับพิมพ์พาดหัวคําแรกพลาดจาก ‘เส้นทาง’ เป็น ‘เสันทาง’ จนได้! ถ้าไม่สังเกตอ่านผ่านๆ ใจมันพาให้ออกเสียงเป็น ‘เส้น’ ได้, นั้นเป็นเพราะว่าฟอนต์ที่ปรับปรุงมาจาก Helvetica ส่วนใหญ่ล้วนมีไม้โทที่ดูคล้ายไม้หันอากาศนั่นเอง! ในทํานองเดียวกัน ฟอนต์ไทยปลายมนแบบ VAG Rounded ที่มีไม้โทหางเหยียดตรงในแนวระดับเหมือนไม้หันอากาศแถมหัวไม้โทยังมนสั้นจู๋ (ยิ่งชวนให้ดูเป็นไม้หันอากาศเข้าไปใหญ่) เมื่อพิมพ์คําว่า ‘เส้นหมี่’ ผิดเป็น ‘เสันหมี่’ ก็อาจหลุดสายตาออกไปได้ง่ายๆ, และในทางกลับกัน คนชื่อ “ซัน” ก็อาจพิมพ์ผิดเป็น “ซ้น” หมดหล่อไปเลย!
ถ้าลองสังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของ DB SaiKrok เช่น สระอะหรือสระไอดูจะพบว่ามันเกิดมาเพื่อเป็นตัวมนเหมือนกับที่ VAG Rounded เป็นจริงๆ
การทําให้ฟอนต์อ่านง่ายโดยเฉพาะเมื่อใช้ในขนาดเล็กนั้น สิ่งสําคัญนอกเหนือไปจากการแก้ปัญหาคู่สับสนก็คือ ระยะห่างระหว่างตัวอักษรที่เพียงพอ แม้แต่ระยะห่างระหว่างสระบนกับตัวพยัญชนะก็ตาม. สระบนของ DB Saikrok นั้นมี ระยะค่อนข้างห่างจากตัวพยัญชนะ แม้ว่าหางพวก ช, ศ. ส. ฮ ในชุดของมันจะตั้งตรงขึ้นไปก็ไม่รู้สึกอึดอัดกับสระบนแต่อย่างไร.
แม้ว่าผมจะไม่ได้หมายมั่นให้มันเป็นตัวเนื้อที่ดีเท่ากับให้มันเป็นตัวพาดหัวที่ดีก็ตาม กลับพบว่ามีคนใช้ DB SaiKrok ขนาดเล็กๆ เป็นประโยคเน้นปนกับตัวเนื้อให้เห็นบ่อยๆ มีพ็อกเก็ตบุ๊คอยู่เล่มหนึ่ง กล้าหาญมากที่ใช้ DB SaiKrok เป็นตัว เนื้อสลับกับตัวเนื้อหัวกลมมาตรฐานแบบครึ่งต่อครึ่งทั้งเล่ม! ต้องลองซื้อหนังสือ ‘เต๋า แบบหมีพูห์’ มาอ่านพิสูจน์ดูถึงจะรู้ว่า ความเคยชินที่ว่าตัวเนื้อไทยต้องมีหัวกลมนั้นถูก DB SaiKrok ท้าทายได้ถึงเพียงไหน.
ผมไม่ใช่คน ‘ได้คืบ เอาศอก’ นะครับ ก็บอกแล้วไง ว่าฟอนต์ DB SaiKrok ตั้งใจทําแค่คืบ (ตัวพาดหัว) นักออกแบบเอาไปใช้ได้ถึงศอก (ตัวเนื้อ) หรือเปล่า คนอ่านและกาลเวลาจะเป็นผู้ตัดสิน.