DB Futhaira

ถ้าถามว่า มีชุดตัวอักษรไทยไหนบ้างที่เทียบเคียงแบบตัวพิมพ์ Futura ของ Paul Renner มากที่สุด? คําตอบจะเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจากชุคแบบตัวอักษร สําคัญ 4, สําคัญ 5 และสําคัญ 6 ของ สําคัญ โกศัลวัฒน์ ที่ปรากฏหลักฐานงานพิมพ์ยุคหลังปี พ.ศ.2516 (ดูภาพ โปสเตอร์ขบวนการนักศึกษาก่อน 6 ตุลาคม 2519). แบบอักษรลอกชุดนี้นอกจากจะเรียบง่ายในแบบอย่าง ของ Futura แล้ว ยังมีความประณีตสูงกว่าแบบตัวอักษรประดิษฐ์ยุคก่อนที่เกิดจากเครื่องมือเขียนแบบเหมือนๆ กัน. เมื่อเทียบน้ําหนักกับ Futura แล้ว สําคัญ 4-5-6 จะอยู่ประมาณ Futura Light, Medium และ Bold ตามลําดับ นับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา.

ในหนังสือแบบตัวพิมพ์ของโรงหล่อตัวพิมพ์รักศรีอักษร ซึ่งไม่ได้ระบุปี พ.ศ. ที่ตีพิมพ์นั้น มีตัวพิมพ์แบบ โป้งใหม่ เบอร์ 2 ขนาด 40 ปอยท์ หน้าตาเหมือนตัวสําคัญ 5! ผมลองสังเกตที่อยู่เบอร์โทรศัพท์ของโรงหล่อ (ในหน้าเดียวกัน) เป็นถนนพลับพลาไชย กรุงเทพฯ โทร. 216808 เบอร์โทรเลขแค่ 6 ตัวในกรุงเทพฯ มันนานมากแล้วจนเกิดคําถามว่า ระหว่างสําคัญ 5 ในรูปอักษรลอกกับโป้งใหม่เบอร์ 2 ในร่างตะกั่วนั้นใครเกิดก่อน?

แบบตัวตะกั่วที่คล้าย Sumkan 5

ตัวอักษรลอกไทยเริ่มเสื่อมความนิยมลงในราวปี พ.ศ. 2530 เมื่อการจัดหน้าสิ่งพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามา. อักษรลอกค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยฟอนต์แบบ PostScript ทั้งที่ออกแบบขึ้นใหม่ เช่น ฟอนต์ตระกูล DB เก่า (ส่วนใหญ่อนุรักษ์ไว้เป็นฟอนต์ Unicode แล้วใน DB#1), และฟอนต์อนุรักษ์แบบตัวพิมพ์เก่าไปจนถึงแบบอักษรลอกเก่าที่เคยได้รับความนิยมมาก่อน. แบบอักษรลอกสําคัญ 4-5-6 ได้รับการถ่ายโอนเป็นฟอนต์ PostScript ด้วยเช่นกัน ชื่อ JS Thanaporn. น่าเสียดายที่ JS Thanaporn มีเพียงน้ําหนักเดียว อีกทั้งความละเอียดพิถีพิถันยังห่างไกลจากต้นฉบับของคุณสําคัญ. ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ JS Thanaporn มีสระโ ใ ไ สูงเกะกะเกินไป (โดยเฉพาะตัว ไ มีรายละเอียดมากเกินงาม), ตัว ร ดูหยาบเห็นได้ชัด และตัว ว, อ เส้นหลังตรง ไม่เป็นโค้งกลมอย่างตัว C และ G ของ Futura.

โลกเข้าสู่ยุค Unicode Font มาแล้วหลายปี แต่ฟอนต์เก่าอย่าง JS Thanaporn ก็ยังคงใช้งานกันอยู่, แม้กระทั่งในนามบัตรของศิลปินศิลปาธรปี 2552 ท่านหนึ่งที่ผมได้รับมา (ขออนุญาตกล่าวพาดพิง!), แม้กระทั่งในเมนูของร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN, และแม้กระทั่งตัว body copy ในงาน Mag Ad/Print Ad ของแบรนด์ชั้นนําอย่าง HP. ตัวอย่างที่ผมกล่าวมาล้วนเป็นการใช้งานในขนาดตัวพิมพ์เล็กๆ ซึ่งดูผ่านๆ อาจไม่เห็นความบกพร่องของส่วนโค้งเว้าที่มีกระจัดกระจายอยู่มากมาย. ยิ่งมันถูกใช้ในขนาดตัว ใหญ่ขึ้นเท่าไรคุณภาพของงานก็จะเล็กลงเท่านั้น.

อย่างไรก็ตาม JS Thanaporn มีข้อดีมากอยู่ 2 ข้อ. หนึ่งคือน้ําหนักเส้นที่อยู่ระหว่างสําคัญ 4 และ สําคัญ 5 หรือเทียบได้ประมาณ Futura Regular จึงใช้งานในขนาดอักษรเล็กๆ ได้ดี. ข้อสอง JS Thanapom มีช่องไฟค่อนข้างโปร่ง เมื่อใช้ตัวขนาดเล็กๆ จึงอ่านง่าย กว่าฟอนต์ PSL Display ซึ่งแม้จะดูประณีตกว่ามาก แต่ช่องไฟติดชิดเกินกว่าที่จะใช้เป็น body copy อย่าง JS Thanaporn (ชื่อ PSL Display ก็บอกชัดอยู่แล้วว่า คนออกแบบตั้งใจให้ใช้เป็น headline!).

เท่ากับว่าตัวอักษรลอกไทยสไตล์ Futura 3 น้ําหนัก ที่เคยผงาดในยุทธจักร เมื่อกลับชาติมาเกิดเป็นฟอนต์ กลับเหลือน้ําหนักเดียว ไม่มีแม้กระทั่งตัวเอน! เมื่อเทียบกับฟอนต์ Futura ซึ่งมีครบเครื่องทั้งตัวมาตรฐาน จากบางเฉียบถึงหนาเข้ม, ทั้งตัวผอม (Condensed) และตัวมน (Rounded) นับว่ายังห่างกันอยู่มาก. ผมจึงตัดสินใจถมช่องว่างขนาดใหญ่นี้ด้วย DB Futhaira เพื่อ เพิ่มเครื่องมือชุดใหม่ให้กับนักออกแบบไทย (ไม่ให้งานไทยน้อยหน้าฝรั่ง!) ชุดความกว้างมาตรฐานไล่จาก Ultralight, Light, Regular, Medium, DemiBold, Bold และ ExtraBold รวม 7 น้ําหนัก. ชุดตัวผอมเริ่มจาก Light ไปจบที่ Bold เป็น 5 น้ําหนัก. ส่วนตัวมนเริ่มจาก Medium จบที่ Bold เป็น 3 น้ําหนัก. ทุกน้ําหนักรวมกันเข้า 7+5+3 เป็น 15 สไตล์ เมื่อเพิ่มตัวเอน (italic) เข้าไป คูณด้วย 2 เป็น 30 สไตล์!

เท่านั้นยังไม่พอ เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยของมันให้สมบูรณ์แบบ จึงจัดช่องไฟออกเป็น 2 แบบ คือ DB Futhaira Body มีช่องไฟค่อนข้างหลวมทั้งแนวนอนและแนวตั้ง กับ DB Futhaira Head มีช่องไฟชิดกว่า. ทําให้เบ็ดเสร็จฟอนต์นี้มีมากถึง 60 สไตล์!!

นอกจากรูปทรงที่เกลี้ยงกลมเป็นเรขาคณิตแล้ว ชุดแบบอักษรลอกสําคัญ 4-5-6 ยังมีความโดดเด่น อยู่ 2 ประการที่นักออกแบบยุคหลังต้องศึกษา. แรกสุดคือ กลุ่มตัวอักษรคล้าย ก ซึ่งมีทั้งหัวเข้าและออกคือพวกหัว แบบ ถ และแบบ ภ นั้น เราจะพบว่า มีเพียงตัว ถ, ภ และ ฦ เท่านั้นที่มีหัวเป็นเส้นขีค นอกนั้นถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจ. ลักษณะการตัดทอนอย่างกล้าหาญเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นชุดอักษรไทยที่ล้ำหน้ามากในยุคทองของอักษรลอก แต่ยังคงทิ้งปัญหาไว้เล็กน้อย คือ หัวของ ถ ยาวเท่าๆ กับ ด อีกทั้งมีปากหยักเล็กเกินไป (โดยเฉพาะสําคัญ 4 ที่ขนาด 5 มม.) ทําให้ดูคลุมเครือแยกไม่ออกว่าเป็นตัว ถ หรือ ด. ในทางตรงข้ามตัว ภ และ ฦ กลับมีขีดหัวสั้นมาก (คงเป็นการตอบสนองความต้องการของนักออกแบบเรขศิลป์ยุคนั้นที่ชอบดวลกันว่าใครจะขูดอักษรลอกได้ชิดกว่ากัน!) ทําให้อาจสับสนเป็นตัว ก และ ฤ (ที่ถูกละหัว) ตามลําดับ. ใน DB Futhaira ผมยังคงรักษาสุดยอดแห่งการตัดทอน ของสําคัญ 4-5-6 ไว้อย่างครบถ้วน เพียงแต่แก้ไขปัญหาคู่สับสนเล็กน้อยดังที่กล่าวมาเช่นเพิ่มหัวให้ ฤ.

ความโดดเด่นประการที่สองของสําคัญ 4-5-6 คือ ขมวดม้วนของ น และ ม ที่ลดรูปลงเป็นขีคขนาบเส้นหลัง และเส้นหน้า ตามลําดับ. ขีคขนาบข้างที่มีปลายสอบห่างโค้งล่างของ น, ม และอักษรคล้าย (เช่น ณ, ฌ ฯลฯ) นี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของสําคัญ 4-5-6. แม้ว่ามันจะดูรุงรังไปบ้างก็ตามแต่สามารถแก้ปัญหาความคลุมเครือระหว่าง ตัว ม, บ และ น ได้ดีกรณีถูกใช้งานในขนาดตัวเล็กๆ ที่สําคัญที่สุดคือช่วยรักษาเส้นฐานครึ่งวงกลมไว้ได้ โดยไม่ต้องโยกหลบเส้นหลังแบบตัว น ทั่วๆ ไปที่เลียนแบบตัวอักษรละติน u. ใน DB Futhaira ได้เก็บข้อดีของสําคัญ 4-5-6 ไว้ เพียงแต่ลดขนาดความยาวของขีดลงเล็กน้อย.

ตัว ท ของชุดสําคัญ 4-5-6 นั้นเหมือนกับตัว n ของ Futura และเพราะว่าตัว ก ของมันก็กลมไม่มีปาก (เหมือนจับตัว U ของ Futura กลับหัวขึ้นมา) ทําให้สายตาของเราแยกแยะได้ยากขึ้นระหว่าง ท กับ ก เมื่อใช้ในขนาดเล็กๆ. ดังนั้นใน DB Futhaira Body ตัว ท จึงถูกแก้ไขด้วยเส้นทะแยงเพื่อให้ทหารไม่กลายเป็นไก่!

ตัว ข ของชุดสําคัญ 4-5-6 มีความกว้างเท่าตัว บ มีเพียงแต่ส่วนหัวเยื้องเข้ากลางลําตัวเล็กน้อยมาก. ใน DB Futhaira ได้ปรับ ข ให้แคบลงเพื่อให้ไม่สับสนกับตัว บ. ตัวสําคัญ 4/5 มม. ซึ่งบางที่สุดนั้น เราแทบไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง ช กับ ซ, ม กับ ฆ และ ท กับ ฑ เลย เพราะหัวที่หยักมีขนาดเล็กจนสังเกตได้ยาก. ใน DB Futhaira หัวหยักถูกออกแบบใหม่ให้เห็นง่ายขึ้น.

ตัว ผ ฝ บางๆ ของสําคัญ 4 ไม่ค่อยมีปัญหาสับสน กับ พ, ฟ มากนัก นั่นเป็นเพราะมันมีที่ว่างภายในมากพอให้ใส่ขีดหัวยาวเป็นที่สังเกต. แต่ยิ่งเพิ่มน้ําหนักเส้นหนาขึ้นก็จะยิ่งสังเกตหัวได้ยากขึ้น. ใน DB Futhaira เส้นกลางของ ผ ฝ ถูกลดระดับลงเพื่อเปิดที่ให้หัวเดินเส้นเป็นมุมโค้งเข้าตัวชัดๆ จึงแยกแยะจาก พ ฟ ได้ง่ายไม่กํากวม. ส่วนตัว ฬ ของชุดสําคัญ 4-5-6 ที่หางพุ่งขึ้นในแนวดิ่ง ถูกเปลี่ยนใหม่เป็นลากไปทางขวาเสมอแนวหัว เพื่อที่จะใช้ สระอิ, อี ร่วมกับตัว พ ได้โดยไม่ตีหาง.

ตัว ด มีปัญหาคล้ายคลึงกับตัว ผ, ฝ. ยิ่งเพิ่มน้ําหนักเส้นหนาขึ้น หัวตัว ค จะยิ่ง (ต้อง) สั้นลงจนดูคล้ายเป็นตัว ถ (แบบไม่มีหยักปาก) เข้าไปทุกที. การเปลี่ยนหัวจากเส้นตรงที่ชนเป็นมุมฉากมาเป็นมุมโค้งแนว 6.00-9.00 น. ช่วยให้มันดูเป็นเด็กขึ้น!

ชุดสระหน้าสูง โ ใ ไ ของสําคัญฯ สูงเลยพ้นสระ แ ขึ้นไปไม่มาก และแบบก็เรียบง่าย, อ่านง่ายลงตัว จึงเก็บ รักษาไว้ใน DB Futhaira.

การแก้ไขรูปอักษร (glyph) ที่ดูเหมือนเล็กๆ น้อยๆ แต่หลายๆ จุดรวมกันเข้ากับการมีช่องไฟ 2 แบบให้เลือก ช่วยทําให้ DB Futhaira เป็นฟอนต์ที่ผู้อ่านกวาดสายตาอ่านได้คล่องขึ้น เมื่อไม่ต้องใช้สมาธิในการแยกแยะรายละเอียดของตัวอักษรเป็นรายตัวโดยไม่จําเป็น ผู้อ่านจะมีสมาธิในการรับรู้และทําความเข้าใจในสาระที่อ่านไปได้สูงขึ้น. เท่ากับว่างานอนุรักษ์แบบตัวอักษรลอกมาเป็น Unicode Font ชิ้นนี้ตอบโจทย์ได้ทั้งคําว่า ประสิทธิภาพ (อ่านง่าย) และประสิทธิผล (เข้าใจง่าย) ภายใต้ข้อจํากัดของการออกแบบที่ยังต้องคงความเรียบง่ายแบบเรขาคณิตของ Futura ไว้สุดฤทธิ์.

สําหรับมือสมัครเล่นอาจคิดในใจว่า "จะทําไปทําไมวะ ตั้ง 60 สไตล์? ใช้ทั้งชาติก็ยังไม่ครบทุกตัว!" แต่กับมืออาชีพที่พิถีพิถันกับทุกระยะของการอ่าน, ทุกความเปรียบต่างของสีระหว่างตัวอักษรกับพื้นหลัง ฯลฯ จะคิดไปอีกแบบว่ามีเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้อุ่นใจดีกว่า

เกินพอ คือ พอเพียง ครับ!!!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ March 2010