เส้นแบ่งระหว่างเก่ากับใหม่ของตัวอักษรไทย ไม่ว่าจะเป็นตัวพิมพ์หรืออักษรประดิษฐ์ก็ตาม เราอาจพิจารณาได้จากความซับซ้อนของอุปกรณ์ที่ใช้เขียนหรือสร้างมันขึ้นมา ว่าเป็นการเขียนหรือสลัก ฯลฯ ด้วยมือโดยตรงหรือวาดผ่านเครื่องมือเรขาคณิตเพื่อจัดระเบียบเส้น เป็นต้น.
ตัวพิมพ์ยุคแรกของไทยที่หมอบรัดเลย์สร้างไว้นั้นมีเส้นบนหักเหลี่ยมอิงอยู่กับวิธีการจารอักษรลงในใบลาน ซึ่งเป็นมาตรฐานการบันทึกของไทยที่มีอยู่ก่อน. ต่อมาจึงมีตัวพิมพ์แบบเส้นบนโค้งคล้ายเกิดจากการวาดแต่งด้วยเครื่องมือ (เช่นเดียวกับตัวพิมพ์อักษรโรมันพวก sans serif ที่มีขึ้นแล้วในซีกโลกตะวันตกยุคสมัยเดียวกันนั้น). ตัวอักษรแบบบรัดเลย์เหลี่ยมมีลักษณะอิงของเก่าขณะที่ตัวบรัดเลย์โค้งได้เปลี่ยนโฉมหน้ารูปแบบตัวพิมพ์อย่างขนานใหญ่จนแทบไม่เหลือกลิ่นใบลาน. ไม่ว่าแบบอักษรบรัดเลย์โค้งจะเกิดจากการวาดอย่างพิถีพิถันด้วยมือหรือใช้เครื่องมือก็ตาม เส้นโค้งที่ถูกจัดระเบียบคือตัวแทนของความใหม่ทันสมัยในยุคนั้นอย่างแน่นอน.
ตัวเขียนประดิษฐ์ของไทยก็เช่นกัน ยุคที่ช่างเขียนนิยมใช้พู่กันปากแบน เขียนอักษรลงบนผ้าใบให้ได้น้ําหนักเส้นหนาสม่ำเสมอกันนั้นจะใช้วิธีเขียนเส้นตรงประกอบกันขึ้นเป็นตัวอักษรเสียส่วนใหญ่ (อาจใช้ไม้บรรทัดช่วยประคองบ้าง) ทั้งนี้เพราะมันบังคับเส้นให้สม่ำเสมอได้ง่ายกว่าเขียนเป็นเส้นโค้ง เป็นที่น่าสังเกตว่าข้อจํากัดของการเขียนวิธีนี้ทําให้เกิดลูกเล่นการเขียนละขมวดม้วนของตัว น โดยใช้เส้นกลางเฉียงขึ้นเกยทับเส้นหลัง มีทั้งปล่อยยาวเฉียงเลยออกไป, หักเป็นเหลี่ยมลงและหักนอนทับเส้นหลัง. ด้วยหลักการเดียวกับตัวพิมพ์ บรัดเลย์โค้ง เราจึงน่าจะมีตัวดิสเพลย์ไทยใหม่งอกเงยออกมาจากตัวเขียนประดิษฐ์สายพันธุ์ไทยแท้กลุ่มนี้โดยวิธีใส่เส้นโค้งซึ่งเคยเป็นข้อจํากัดเข้าไปในร่างเก่านั่นเอง.
ผมร่างตัวพิมพ์ใหม่ในจินตนาการด้วยตัวค่อนข้างกว้าง เส้นจะได้ไหลเลี้ยวได้อย่างราบรื่น. การเดินเส้นอิงกับตัวเขียนพาดหัวยุคเก่าโดยยึดเส้นตรงทั้งในแนวตั้งและแนวเฉียงไว้. ส่วนเส้นแนวนอน (ยกเว้นรูปสระบน) ส่วนใหญ่ให้เป็นโค้งป้าน. มุมที่เกิดจากเส้นตั้งกับและเส้นเฉียงบรรจบกันถูกปรับให้โค้งมน. แม้กระทั่งปากตัว ก ก็ตามถูกปรับให้มนไปด้วย.
- พยัญชนะส่วนใหญ่เขียนละหัวไว้ให้ดูเรียบง่าย ยกเว้นบางตัวที่คงไว้เพื่อให้อ่านได้และดูลงตัว เช่น ข (ช), ค, ง, จ, ถ, ผ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่มีหัวเป็นเส้นขีดสั้นแนวนอน.
- ตัว ด จงใจให้หัวอยู่ในแนวตั้งแล้วหักเส้นคอมาบรรจบเส้นหน้าแบบที่เคยทดลองใน DB ToonHua มาก่อน ซึ่งทําให้ดูโปร่งกว่าตัว ด ของ DB Ramintra ที่มีหัวหักในแนวนอนเข้าหาเส้นหน้า.
- ตัว ล, ส จงใจละหัวให้โปร่ง (ไม่สับสนกับตัวไหนอยู่แล้ว) เติมเส้นตรงสั้นๆ ในแนวนอนก่อนหักลงมาหาเส้นหลัง, วิธีนี้ทําให้ได้ ล, ส ที่ดูกลมกลืนกับขมวดม้วนลดรูปแบบไทยแท้ของตัว น, ม.
- ตัว ย นั้นพยายามคงเส้นตรงสั้นๆ เป็นรอยหยักเข้าในแนวนอนก่อนหักเฉียงต่อกับเส้นโค้งล่าง. เช่นเดียวกับขมวดม้วนของ ห และหางของ ฎ ทําให้เส้นตรงสั้นๆ ในแนวนอนกระจายคลุมตัวพิมพ์ทั้งชุด.
- ตัว ร, ว เป็นแบบตัวเขียนไทยแท้ๆ คือ ส่วนหัวข้างล่างจะไม่ยื่นยาวเสมอแนวส่วนบนซ้ายต่างจากตัว s และ c ที่เส้นล่างยาวเต็มตัวอักษร.
- ตัว จ, ง จงใจให้แคบกว่าตัวปรกติ (เหมือนกับตัว ร, ว) ตามสัดส่วนที่ควรจะเป็นของอักษรไทย ชุดสระบน อิ อี อึ อื ของมันจึงต้องสั้นเป็นพิเศษกว่าตัวปรกติ.
- ตัว ต, ซ ที่เส้นหยักเป็นมุมป้านมากนั้นไม่ได้ลบมุมด้วยโค้ง เพราะถ้าโค้งน้อยจะไม่สังเกตเห็น แต่ถ้าโค้งมากจะแยกไม่ชักระหว่าง ด-ต, ช-ซ เมื่อใช้ในขนาดเล็กหรือดูที่ระยะไกลๆ.
- ไม้โท เป็นการต่อยอดมาจาก DB Adman เพียงเปลี่ยนจากทรงกลมมาเป็นทรงรีแนวนอน.
- สระ อะ ใช้วงรีแนวนอนคลุมพื้นที่ได้ดีกว่าใช้ขีดตรงแบบไม้หันอากาศหรือแบบหางของ ษ. ทั้งวงรีของไม้โทและสระอะเข้ากันได้ดีกับเส้นบนเส้นล่างของอักษรชุดนี้ที่เป็นเส้นโค้งป้าน.
- ตัวอักษรโรมันถูกออกแบบให้กลมกลืนกับชุดอักษรไทย โดยเฉพาะตัวที่ประกอบขึ้นด้วยเส้นแนวเฉียงชนทํามุมกัน เช่น M N V W ถูกปรับมุมจากที่เคยแหลมปรกติให้โค้งมนแบบ ท, พ.
ช่องไฟระหว่างตัวอักษรถูกจัดให้ดูค่อนข้างโปร่ง เช่นเดียวกับพื้นที่ภายในตัวอักษร. ตัว Light มีช่องไฟประมาณ 2 เท่าความหนาของน้ําหนักเส้นตั้ง. ส่วนตัว Medium มีช่องไฟและน้ําหนักเส้นใกล้เคียงกัน. เมื่อทดสอบตัวพิมพ์ทั้งชุดดูรู้สึกได้ทันทีถึงความโปร่งสบาย ไหลลื่น. การตั้งชื่อผมตั้งใจไว้ว่าจะโชว์อักษรเด่นๆ คือ ด, ล, น หรือ ม เป็นตัวสะกดอยู่แล้ว ในอักษร 4 ตัวนี้ มีคําว่า ‘ลม’ ซ่อนอยู่ จึงให้ชื่อว่า ‘ชิดลม’ นอกจากจะเป็นชื่อถนนที่ให้ภาพลักษณ์ทันสมัยตามเป้าหมายแล้ว ชื่อยังบอกว่าฟอนต์มันโปร่งยอมให้ลมผ่านถึงได้ใกล้ชิดกับลม ต่างจากของทึบตันลมจะเลี้ยวหลบไม่พัดผ่าน.
เนื่องจากวิธีการเขียนประดิษฐ์อักษรชั้นครูที่เป็นต้นแบบของฟอนท์ DB Chidlom มีความเป็นไทยสูง แตกต่างไปจากตัวดิสเพลย์ไทยจำนวนมากที่ปรับปรุงมาจากฟอนท์อักษรโรมัน จึงทําให้ DB Chidlom ถือเป็นทางเลือกของนักออกแบบไทยที่ต้องการ ‘ทันสมัย แบบไร้กลิ่นนมเนย’.
เอกสารอ้างอิง
โดม สุขวงศ์ และ สวัสดิ์ สุวรรณปักษ์ ; ร้อยปีหนังไทย, 2545