DB Sathorn คือความพยายามของผมที่จะสร้างฟอนต์ตัวพาดหัวไทย ที่สามารถทดแทนตัวอักษรลอกตระกูล Manoptica (มานพติก้า) ซึ่งครองเมืองในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังไม่เป็นที่ใช้แพร่หลาย.
มันเป็นการยากมากสำหรับผม ที่จะออกแบบชุดอักษรไทยที่เลียนแบบ Helvetica ให้ได้ดีไปกว่า Manoptica ของอาจารย์มานพ ศรีสมพร (เนื่องจากเพิ่งมีประสบการณ์ทำฟอนต์พาดหัวมาแค่ 2 ตัว คือ DB PatPong และ DB Erawan) ฉะนั้นวิธีการที่ดีกว่าคือ หนี Manoptica ให้ได้!
การหลีกหนีจาก "ความเป็น Helvetica" ของ Manoptica ก็ยังนับเป็นปัญหาที่ยากอยู่ดี. เพราะถ้าหนีจนดูแตกต่างมากไปฟอนต์ที่ได้อาจห่างไกลจนคนเกิดความไม่คุ้นชินและพาลไม่เป็นที่นิยม. ผมพบคำตอบโดยบังเอิญด้วยความโชคดี ที่ก่อนออกแบบ DB Sathorn ไม่นาน คุณประชา สุวีรานนท์ เคยแวะมาที่บริษัทของผม ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ขณะที่ไปศึกษาต่อที่ New York ว่า โฆษณาสิ่งพิมพ์ของอเมริกันนิยมใช้ตัว Franklin Gothic พาดหัวมากกว่า Helvetica. ข้อสังเกตของคุณประชานี้เอง ทำให้ผมตั้งคำถามว่า "ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?" จนนำไปสู่คำตอบในที่สุดว่าแนวคิดในการออกแบบฟอนต์ใหม่ควรเป็นอย่างไร.
ผมลองหาตัวอบ่าง Franklin Gothic มาเปรียบเทียบกับ Halvetica ดูตัวต่อตัว พิจารณาดูจะเห็นความแตกต่างสำคัญอยู่ข้อหนึ่งคือ Franklin Gothic ยังคงหลงเหลือเส้นหนักเบาของตัวพิมพ์ยุค classic ที่มี serif เอาไว้. ต้องยอมรับว่า stroke และ serif ของตัวพิมพ์ที่สืบทอดกันมานาน (ตั้งแต่ Jenson ที่ออกแบบในปี ค.ศ. 1470 มาจนถึง Times ตัว text ในหนังสือพิมพ์ Times ที่ฝรั่งคุ้นเคย) นั้น เป็นทั้งศิลปกรรมและ "เครื่องมือ" ในการแยกแยะลักษณะตัวพิมพ์แต่ละตัวให้ดูแตกต่างกัน ซึ่งทำให้อ่านได้ง่ายด้วย. ยิ่งถ้าสังเกตตัวอักษร g ให้ดี จะพบว่า g ของ Franklin Gothic มีความคล้ายคลึงของ Jenson ในขณะที่ g ของ Helvetica แตกต่างออกไป. ถึงตรงนี้, ด้วยสามัญสำนึกง่ายๆ ผมจึงเดาได้ (โดยไม่ทันต้องค้นคว้า) ว่า Franklin Gothic น่าจะเกิดก่อน Helvetica และตั้งสมมุติฐาน (ฟังดูน่าเชื่อถือกว่าคำว่าเดา) ได้ว่า เหตุที่โฆษณาอเมริกันช่วงนั้น ใช้ Franklin Gothic มากกว่า Helvetica ก็เพราะมันเป็นตัวพิมพ์ sans serif (sans แปลว่า ไม่, sans serif แปลว่า ไม่มี serif) ที่ดูใกล้เคียง serif มาตรฐาน ซึ่งฝรั่งคุ้นชินในชีวิตประจำวัน (ตั้งแต่ตัว text ในตำราจนถึงหนังสือพิมพ์รายวัน) จึงทำให้ Franklin Gothic สื่อสารได้ "จัง" กว่า. ขณะที่ Helvetica ซึ่งเกิดทีหลังยังเป็นเพียงตัวแทนของรูปลักษณ์ที่สะท้อนความเรียบง่ายของยุคสมัย (นั้น) มากกว่าที่จะให้ "สุ้มเสียง" ที่จริงจังตรงไปตรงมา อย่างที่ภาษาโฆษณา (ยุคนั้น) ต้องการ.
ผลจากการเปรียบเทียบข้างต้นทำให้ผมคลำเป้าหมายเจอ. แค่เพียงออกแบบชุดตัวอักษรไทยที่อยู่ระหว่าง Manoptica กับลายมือเขียนหรือตัวเนื้อไทยที่คนไทยคุ้นเคย เราก็จะได้ตัวพาดหัวสายพันธ์ุใหม่ที่แตกต่างออกไป (เหมือนกับที่ Franklin Gothic แตกต่างกับ Helvetica) กล่าวคือจะไม่เกลี้ยงเกลาเท่า Manoptica แต่สื่อสารได้ชัดเจนและจริงจังกว่า.
บรรดาตัวพาดหัวภาษาไทยซึ่งเข้าข่าย "เป้าหมาย" ที่ผมวางไว้นั้น, เท่าที่เคยผ่านตาของผมมีเพียงตัวอักษรที่ใช้เป็น Slogan ของ Shell ที่ว่า "วางใจไปกับเชลล์" ผมจดจำตัว ง จ และ ช ได้อย่างติดตา เป็นเพราะมันแตกต่างจากของ อ.มานพ อย่างเห็นได้ชัด (ดูภาพประกอบด้านบน) เป็นผลงานของ Leandro Santos, Jr. หรือคุณบอย นักออกแบบเรขศิลป์ชาวฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นปีแรกที่เข้ามาอยู่เมืองไทยทำงานกับบริษัทโฆษณา Ogilvy & Mather. ด้วยความที่ไม่รู้จักภาษาไทยของคุณบอยจึงพยายามออกแบบให้คล้ายตัวไทยมาตรฐานเข้าไว้ (เพื่อความมั่นใจว่าคนไทยจะอ่านรู้เรื่อง!) ผมประทับใจงานของคุณบอยมาก เพราะว่ามันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความเรียบง่ายทันสมัยอย่าง Helvetica กับความอ่านง่ายแบบไทยๆ ไว้ด้วยกัน.
แม้ในขณะกำลังลงมือออกแบบผมจะไม่มี "วางใจไปกับเชลล์" ให้ดู (เพราะค้นหาไม่เจอ) ก็ตาม แต่ตัวอักษร ง จ และ ช ยังถูกเก็บไว้อย่างดีในสมอง. มันเปรียบเสมือนตอม่อที่คุณบอยทำไว้ให้ผมสร้างต่อเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างตัวอักษรไทยยุคใหม่ที่ยึดโยงอยู่กับตัวโรมันของโลกตะวันตก กับตัวอักษรไทยมาตรฐานซึ่งเป็นรากเหง้าของเราเอง. ผมเริ่มงานออกแบบชิ้นนี้ด้วยการเดินไปซื้อแผ่นอักษรลอก Franklin Gothic Medium จากห้างสยามวาลา ที่อยู่ใกล้ๆ บริษัทของผม เอามาลองตัดต่อผสมเป็นตัวอักษรไทยได้ไม่กี่ตัว! เช่น ตัดตัว a ให้เป็นตัว ล แล้วตัด ear ของตัว g มาต่อกับ ล ให้เป็น ส, ตัด crossbar ของตัว e ออกได้เป็นตัว อ. ตัว ท, น, ร, ว ได้จากตัว n, u, s และ c ตามลำดับไม่ต้องออกแรง. ตัวที่เหลือเป็นส่วนใหญ่ ผมต้องร่างด้วยดินสอแทบทั้งหมดเพื่อให้มัน "ดูเป็นไทย" มากขึ้น.
เริ่มจากตัว จ และ ช ที่ได้เค้าโครงมาจากของคุณบอย (ซึ่งเป็น DNA ที่ส่งผ่านมาถึง DB Sathorn) ยังคงถูกรักษาลักษณะเด่นไว้ คือ ตัว จ มีเส้นตรงสอบเข้าทำมุมที่ฐาน และตัว ช มีเส้นขมวดหัวชัดเจน. สิ่งที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย คือ ปลายส่วนหัวของตัวอักษรถูกตัดแนวทะแยง ไม่เหมือนชุดตัวอักษรของคุณบอย ที่ปลายหัวและหางตัดตามแนวดิ่งและแนวนอนอย่าง ending ของ Helvetica ทุกตัว (ยกเว้นปลายหางตัว ง). หางตัว ช ถูกต่อเติมให้สูงขึ้นเลยเส้นบนเล็กน้อยเพื่อความชัดเจน. ส่วนตัว ง นั้น เพื่อไม่ให้ดูแปลกแยกจนเกินไปจาก Manoptica ที่นักออกแบบส่วนใหญ่เวลานั้น (รวมทั้งผมด้วย) คุ้นเคย ผมจึงทำแค่เพียงลดระดับหางของมันให้ต่ำลง เพื่อให้อ่านได้ง่ายเหมือนตัว ง ของคุณบอย แต่ยังคงเส้นหลังโค้งของ อ.มานพ ไว้.
- ตัว ก เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างใหม่เก่า. เส้นรอบ (outline) ด้านในเกลี้ยงเกลา ส่วนด้านนอกมีรอยหยักปากให้เด่นชัด (ทำให้ตัว ถ ไม่ไปสับสนกับ ด).
- ทั้ง ด และ ย ของ Manoptica ที่มีเส้นหลังทำมุมฉากกับเส้นบนและเส้นฐานตามลำดับนั้น ถูกปรับใหม่ให้โค้งมนแบบลายมือเขียนเพื่อเพิ่ม "ที่ว่าง" ด้านหลังให้กับมัน จะได้ไม่ดูทึบเมื่อถูกพิมพ์ต่อเนื่องด้วยสระ เ, แ หรือ ตัว ท, ม, ห ของชุดนี้ (อย่าลืมว่าไม่มีหัว) ซึ่งล้วนมีเส้นหนาตรงทึบโดยไม่มีส่วนโค้งใดๆ ช่วย.
- ตัว ธ เกิดจากการปรับเส้นบนและเส้นฐานของตัว s ให้เหยียดตรงในแนวนอน เพื่อให้ดูต่างจาก ร ได้อย่างสิ้นเชิงไม่สับสน (ใน DB Sathorn ที่เป็น OpenType Font ตัว ธ คงเหลือแต่เส้นบนตรง ส่วนเส้นฐานปรับโค้งเพื่อให้ดูราบรื่นขึ้น).
- ตัว ผ, ฝ มีหัวโค้งงุ้มเข้าลําตัวเห็นๆ (เป็นDNA ที่ถ่ายทอดมาจาก DB PatPong และ DB Erawan ซึ่งออกแบบมาก่อนหน้า) อีกทั้ง ระดับเส้นกลางจะอยู่ต่ำกว่าแนวเส้นบนเพื่อให้แยกแยะออกจาก พ, ฟ (ซึ่งมีเส้นกลางเสมอแนวเส้นบน) ได้อย่างชัดเจน.
- หางตัว ส ที่ได้จากการตัดต่อ ear ตัว g ของ Franklin Gothic เข้ากับตัว a ของมันนั้น ลักษณะที่เอนหลบซ้ายออกจากเส้นชาน หลังช่วยให้สามารถหลบพ้นจากสระบน (ทําให้เห็นหางเสือได้ชัด แม้ใช้ในขนาดเล็กๆ ก็ไม่สับสนเป็นลิง!).
การได้เรียนรู้จากผลงานระดับอาจารย์ 2 ท่าน ประกอบกับรายละเอียดมากมายที่ปรุงแต่งเข้าไป ทําให้ DB Sathorn Usรลุเป้าหมายที่วางไว้ แม้ว่า billboard ของใครจะอยู่ใกลสูงลิบ, แม้ว่าทีวีบ้านใครคลื่นไม่ชัดแจ๋ว, แม้ว่าสิ่งพิมพ์ฉบับใหนจะปล่อยหมึกหนักไปบ้าง หรือใช้ตัวพิมพ์ขนาดเล็กไปบ้าง ฯลฯ, DB Sathorn ก็ยังคงทําหน้าที่ที่ดีของมัน อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย... นั่นคือถ่ายทอดสาระ ด้วยสุ่มเสียงที่ชัดเจนเสมอ.
วรรณยุกต์ ้ ซึ่งมีที่ใช้มากในภาษาไทย ผมจําเป็นต้องตัดใจ ทิ้งหางโค้งขึ้น เพื่อให้แยกแยะออกจากตัว ั (ซึ่งหางเหยียดตรงใน แนวนอน) ได้ง่าย. ทั้งปลายซ้ายของสระ ิ และปลายหางของ ั ถูกตัดเฉียงเพื่อให้ดูง่ายว่าตรงไหนหัวไหนหาง โดยเฉพาะปลายซ้าย ของ อิ อี อึ อื ทั้งชุด เลี่ยงที่จะตัดแนวดิ่งมาเป็นทะแยงเฉียงก็เพื่อเป็น การชดเชยความกว้างที่ไม่เท่ากันของตัวพยัญชนะไทย (อักษรลอก Manoptica ของ อ.มานพ ก้าวหน้าใส่ใจในรายละเอียด โดยมีชุด สระ ิีึื ให้เลือกใช้ถึง 3 ขนาดตามความกว้างของพยัญชนะ แต่ Technology ของฟอนต์ในยุคแรกเริ่มยังตามไม่ทัน เพิ่งมาทําได้ ในยุคนี้ที่เข้ารหัสอักษรเป็น Unicode ซึ่งเก็บรูปอักษรได้มากมาย ความกว้างของสระจึงไม่ถูกจํากัดอีกต่อไป).
ด้วยแผ่นอักษรลอก, เครื่องมือขุด, คัตเตอร์, ดินสอ, และ กระดาษ ถูกส่งผ่านเป็นต้นแบบใช้ในโปรแกรมสร้างฟอนต์ ที่ถูก ให้ชื่อโดยคุณสุรพล เวสารัชเวศย์ว่า DB Sathorn. ถ้าให้ผมตั้งเอง ณ ตอนนี้ ผมเรียกมันว่า DB Franklin Gothai เพื่อจะได้รู้กันชัดๆ ไปเลยว่า เป็นตัวพาดหัวไทยที่เลียนความเป็น Franklin Gothic, ไม่ใช่แค่เพียงผิวเผิน, หากลงลึกถึงรากวัฒนธรรมของไทยเราเอง
ใครจะเรียกว่า "แฟรงค์ กิน แกง ไทย" ก็ได้ครับ!