ความกว้างของรูปอักษร (glyph) ให้ความรู้สึกโอ่อ่า ฐานที่กว้างให้ความรู้สึกมั่นคง. รูปทรงจัตุรัสที่เกิดจากเส้นน้ำหนักเดียว (Monoline) ให้ความรู้สึกทันสมัยเรียบง่าย. เมื่อถูกลบมุมช่วยลดความแข็งลง. ถ้าเส้นบางจะเหมือนห้องปลอดโปร่ง ถ้าเส้นหนาจะดูหนักแน่นแข็งแรง. นี่คือความเป็น Eurostile Extended.
Eurostile ซึ่งเน้นกรอบเหลี่ยมมากกว่าโค้งนั้น เหมาะสมเป็นตัวพาดหัว (ทั้ง Display และ Subhead) มากกว่า. ถ้ามันถูกใช้เป็นตัวเนื้อ (text) ให้อ่านยาวๆ จะ สู้ Helvetica ไม่ได้ เพราะอ่านยากกว่าพอสมควร. อย่างไรก็ตามแบบตัวพิมพ์ Eurostile ได้ส่งอิทธิพลต่อแบบตัวอักษร ไทยที่มีหัวและไม่มีหัว.
แบบตัวอักษรลอกที่ได้รับอิทธิพลมาจาก Eurostile ได้แก่ มานพ 14 ที่ละหัวไว้เป็นเส้นขีดสั้นๆ ในแนวนอน. ลักษณะที่มีหัวกลม หรือมีหัวแอบแฝงสั้นๆ ถูกมองว่าอนุรักษ์นิยมจนเกินไปในยุคนี้ (ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย) และถูกแทนค่าด้วยตัวอักษรไทยเส้นเดี่ยว (Monoline) ที่ละหัวมากขึ้น (เช่น ตัว น, บ, ม, พ ไม่มีหัวก็อ่านออกอยู่แล้ว แต่ ผ, ภ, ถ ยังไงก็ ต้องมีขีดหัวให้เห็น)
ดังนั้น ผมจึงลองตั้งโจทย์ดูว่า ถ้าเราจะออกแบบฟอนต์ไทยที่ดูเหลี่ยมๆ กว้างๆ เหมือน Eurostile Extended โดยมีโจทย์ว่าเป็นตัวที่ตัดทอนหัวที่ไม่จําเป็นออก แต่ยังให้สําเนียง ไทยแท้อยู่ ผมควรจะทําอย่างไร?
ระหว่างร่างตัวอักษรตามโจทย์ที่ว่านี้ ตัวอักษรที่เขียนประดิษฐ์ด้วยพู่กันปากแบนในโปสเตอร์หนังยุคเก่าๆ ที่เคยเห็นตั้งแต่เด็กได้ผุดขึ้นมาในสมอง จําได้ว่ามันอ่านง่ายเป็นบ้าเลย! เพื่อให้หายสงสัยว่าทําไมมันอ่านง่าย ผมลองเขียน ก ถึง ฮ ดูในกระดาษแล้วพบความจริงว่า มีตัวเขียนมาตรฐานของไทย จํานวนเกินครึ่งหนึ่งที่ประกอบขึ้นด้วยเส้นแนวทะแยง ชันบ้าง (เช่น ง, ท, พ, ห) ลาดบ้าง (เช่น น, ผ, ม), เมื่อเปรียบเทียบดูพบว่า ตัวเขียนโปสเตอร์ด้วยพู่กันปากแบนของช่างเขียนยุคเก่าได้ถ่ายทอดเส้นแนวทะแยงซึ่งเป็น DNA ของตัวอักษรไทยมาตรฐานไว้ได้อย่างชัดเจน เกิดเป็นตัว “Thai Display” ที่ใสซื่อสุดๆ (แม้ทุกวันนี้ไม่มีคอมฯ ไม่มีเงินค่าพิมพ์ inkjet ขอแค่มีผ้า, สี, แปรง, และฝีมือ ก็สามารถพึ่งพาตัวเองได้!) มันทําให้ผมสรุปได้เป็นคําตอบว่า ถ้าไม่มีหัวชัดๆ ให้เน้นเส้นทะแยงชัดๆ เดี๋ยวก็ดูเป็นไทยเอง ผลที่ได้ออกมาคือฟอนต์ที่ดูต่างไปจาก Eurostile Extended คือเรียบง่ายน้อยลง แต่ดูคม และชัดถ้อยชัดคํา เปรียบเป็นถนนก็ชื่อประมาณ รามอินทรา ที่กว้างขวาง, ชื่อฟังดูเป็นไทยๆ แถมเสียงคําท้าย “ทรา” ฟังดูเข้มแข็งหนักแน่น ไม่หน่อมแน้ม. จึงให้ชื่อว่า DB Ramintra. ลักษณะเส้นแนวทะแยงชัดๆ แบบนี้ ผมยังได้นําไปใช้กับฟอนต์อีกตัวหนึ่ง คือ DB PenThai ซึ่งดูเป็นไทยสมชื่อมาก เป็นการนําตัว Thai Display ยุคโปสเตอร์ผ้าที่ใสซื่อมาปรับปรุง โดยการ เปลี่ยนเส้นบนจากเส้นตรงเป็นเส้นโค้งแทนให้ดูร่วมสมัยขึ้น
ตัวอย่างการเลือกฟอนต์เหลี่ยมๆ กว้างๆ ที่เข้ากันได้ดีกับ Headline คือ “คํานําเทรนด์” ของโค้ก และ “0 แคลอรี่ เต็ม ที่ทุกสัมผัส” ของเป๊ปซี่ ซึ่งออกมาชนกัน, ในขณะที่โฆษณา แบรนด์ซุปไก่ทาง TV ชุดที่มี “หนู” แปรงคู่สะบัดเส้นซึ่งดูดี มากนั้น ใช้ฟอนต์ที่ดูทันสมัยกว่า ทว่าอ่านยากเกินไปสําหรับ สื่อ TV ที่มีเวลาให้อ่านจํากัดเป็นวินาที
การเลือกฟอนต์ที่ดูแล้วได้บุคลิกขององค์กร, สินค้า หรือได้บุคลิกของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อถึง ฯลฯ อาจฟังดูง่าย. ปัญหาไม่คาดคิดที่ตามมากลับพบได้บ่อยๆ ว่าอ่านได้ยาก (ทั้งๆ ที่ตั้งใจใส่ลงไปให้อ่านไม่ใช่แค่ดู). ความผิดพลาดเช่น นี้จะไปโทษฟอนต์ไม่ได้, โทษคนออกแบบฟอนต์ก็ไม่ได้อยู่ดี. เป็นความรับผิดชอบของนักออกแบบรวมไปจนถึงผู้อนุมัติแบบก่อนถูกผลิตเป็นชิ้นงานสื่อที่จะต้องหาความรู้ เพื่อสังเกตให้เป็นว่าฟอนต์ตัวไหนเหมาะที่จะใช้ในขนาดไหน (ขนาดสัมพันธ์โดยตรงกับระยะห่างที่ใช้อ่าน) และเหมาะที่จะใช้กับสื่อประเภทไหน (ฟอนต์ที่มีตัวที่สับสนกันมากๆ ต้องให้เวลา อ่านอย่างพอเพียง).
ไม่มีฟอนต์ใดในโลกเป็นยาครอบจักรวาลแก้ปัญหาได้ทุกโจทย์งานสร้างสรรค์ การที่จะประสบความสําเร็จนั้นต้องซ้อม (ตีความให้ถูก), ซ้อม (เลือกให้เป็น), ซ้อม (พิมพ์มาวางเลย์เอาท์ดู) และก็ซ้อม (อ่านให้มั่นใจก่อนใช้จริง) เท่านั้น.