ต้องยอมรับว่า นอกจากวัฒนธรรมจีน, ตะวันตก ที่มีอิทธิพลต่อคนไทยมาช้านานแล้ว วัฒนธรรมญี่ปุ่นก็ซึมเข้ามาไม่น้อย ทั้งอาหารการกิน, การ์ตูน, แฟชั่น ฯลฯ แต่กลับไม่มีฟอนต์ความยืดหยุ่นสูงคล้ายลักษณะนิสัยของคนไทย สามารถประดิษฐ์ เลียนแบบตัวอักษรชาติอื่นๆ ได้ง่าย เช่น อักษรโรมันของชาว ตะวันตก, อักษรจีน, อักษรอินเดีย ฯลฯ แต่ที่ถูกทําเป็นตัวพิมพ์ หรือฟอนต์จริงๆ มักจะเห็นอยู่แค่แบบที่เลียนตัวอักษรโรมัน (ตัว display ส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในกลุ่มนี้) และแบบที่เลียนตัวอักษรจีน (ซึ่งมีไม่กี่ฟอนต์ให้ใช้) เท่านั้น.
เวลานักออกแบบ จะทํางานที่อยากได้สําเนียงญี่ปุ่น (หรือเกาหลี) จึงมักใช้ฟอนต์ US Chawlewhieng, PSL Yaowaraj, DB HuadChai ฯลฯ ล้วน เป็นอักษรไทยเสมือนจีน) เพราะเห็นว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีวัฒนธรรมคล้ายๆ กัน เขียนหนังสือด้วยพู่กันมาก่อนเหมือนกัน เลยเหมาว่าใช้ฟอนต์แบบจีนๆ แทนได้, ความจริงถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องแล้วการใช้ฟอนต์ไทยเสมือนจีนเพื่อแทนสําเนียงญี่ปุ่นนั้น ต้องใช้คําว่า "พออนุโลมได้" ทั้งนี้เพราะในภาษาเขียนของญี่ปุ่นมีตัวอักษรถึง 3 ประเภทรวมอยู่ด้วยกัน. ประเภทแรกคือ ตัวคันจิ เป็นอักษรญี่ปุ่นที่เขียนแบบจีน ความหมายก็เหมือนจีน แต่ออกเสียงต่างกัน. ประเภทที่สอง คือ ตัวฮีรากานะ เป็นอักษร ที่ชาวญี่ปุ่นออกแบบขึ้นมาเพื่อแทนคําออกเสียงคําในภาษาญี่ปุ่นเอง มีลักษณะเส้นตวัดไปมาดูโปร่งๆ ไม่ซับซ้อนเหมือนตัวคันจิ และประเภทที่ 3 คือ ตัวคาตากานะ ที่ชาวญี่ปุ่นประดิษฐ์ขึ้นใหม่เพื่อเขียนทับศัพท์คําภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะ ลักษณะเส้นจะดูตรงๆ ค่อนไปทางอักษรเกาหลี ไม่อ่อนไหวเหมือนตัว ฮีรากานะ
โดยสรุป การใช้ฟอนต์ไทยเสมือนจีนจึงพออนุโลมให้ ดูคล้ายๆ ตัวคันจิของญี่ปุ่นได้ แต่ก็เป็นได้แค่ความเป็นญี่ปุ่น ที่คนญี่ปุ่นหยิบยืมของจีนมา. ถ้าจะทําฟอนต์ไทยเสมือนญี่ปุ่นแล้ว ทางที่ดีควรยึดเอาตัวฮีรากานะเป็นหลักจะดูเป็นญี่ปุ่นมากกว่า เพราะไม่เหมือนทั้งจีน (แบบตัวคันจิ) และเกาหลี (แบบตัวคาตากานะ) นั่นเอง
ไหนๆ จะทําฟอนต์เลียนแบบอักษรญี่ปุ่นทั้งที ผมคิดว่า ชุดแรกที่ออกมาน่าจะดูต่างจากตัวไทยเสมือนจีน (รวมทั้งตัวอักษรไทยประดิษฐ์เลียนแบบจีนที่ทําใช้เฉพาะกิจไม่กี่ตัว) ที่มักจะเน้นลักษณะเส้นพู่กันจีนเป็นสําคัญ. ผมจึงเลือกสไตล์ตัวฮีรากานะที่เป็นเส้นน้ําหนักเสมอกัน แทนแบบเส้นที่มีความหนักเบา อย่างที่เกิดจากปลายพู่กัน เพราะนอกจากจะดูต่างจากตัวไทยเสมือนจีนเดิมๆ เท่าที่เคยมีมาแล้ว เส้นน้ําหนักแบบสม่ำเสมอ ยังให้ความรู้สึกที่ทันสมัยกว่า เนื่องจากมันหลุดพ้นความเป็นเส้นพู่กันซึ่งค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม.
ปรกติแล้วฟอนต์ไทยมาตรฐานทุกชุดจะมีชุดอักษรโรมันสไตล์เดียวกันให้ใช้ร่วมด้วยเสมอ. ในตัวพิมพ์ชุดนี้ที่ผมให้ชื่อว่า DB YeePun ก็เช่นกันต้องออกแบบขึ้นใหม่ทั้ง 2 ภาษาจึงสมบูรณ์ ทันทีที่ฟอนต์ DB YeePun ซึ่งได้อิทธิพลมาจากฮีรากานะเต็มๆ เสร็จเรียบร้อย เราพบว่าการออกแบบ "ฮีรากาไทย" นั้นง่ายกว่า "ฮีรากาโรมัน" เสียอีก เพราะตัวพยัญชนะไทยมีลีลาการเดินเส้นใกล้เคียงกับฮีรากานะมากกว่า อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ออกมาดู เหมือนยังมีจุดอ่อนที่ทําให้ดูแตกต่างจากฮีรากานะที่เป็นต้นแบบอยู่บ้างเล็กน้อย. กล่าวคือในขณะที่ฮิรากานะแท้ๆ แต่ละตัวจะถูกจํากัดพื้นที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมขนาดความสูงเท่าๆ กันนั้น "ฮีรากาไทย" กลับมีสระบน (โดยเฉพาะพวกสระ อิ อี อึ อื ที่มีขนาดเส้นเด่นชัดกว่าวรรณยุกต์หรือสระล่าง) ที่ทําให้แนวเส้นบนของแถวอักษรดูกระโดกกระเดกขึ้นๆ ลงๆ ไม่เรียบร้อยเป็นระบบเหมือนฮีรากานะ, เช่นเดียวกับเส้นหางที่ขึ้นๆ ลงๆ ในตัวพิมพ์เล็ก (small letter) ของตัว "ฮีรากาโรมัน".
ถ้าจะยึดการอ่านง่ายเป็นหลักแล้ว ลักษณะที่เป็นปัญหาดังกล่าวของ DB YeePun ถือว่าควรอนุโลมปล่อยไป. แต่ถ้าอยากให้มันดูเป็นฮีรากานะมากกว่านี้ ผมคิดว่าน่าจะจัดการกับตัวพยัญชนะที่มีสระบนกํากับทั้งหมดให้มันเตี้ยลง เพื่อเปิดพื้นที่ให้สามารถเลื่อนแนวเส้นนอนสระบน (โดยเฉพาะสระ อิ อี อึ อื) ให้ลงมาเสมอแนวความสูงของตัวพยัญชนะปรกติ (ส่วนพวก วรรณยุกต์, การันต์, สระล่าง อนุโลมให้ล้ำเส้นแนวกรอบตัวพยัญชนะได้ เพราะขนาดค่อนข้างเล็ก), สิ่งที่ผมพูดนี้ในอดีตจะทําได้ก็แต่เพียงการเขียนประดิษฐ์เป็นคําๆ ใช้เท่านั้น ไม่สามารถทําเป็นตัวพิมพ์ได้ แต่วันนี้เทคโนโลยีในการสร้างตัวพิมพ์ของโลกเราเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว จึงแทบไม่มีอะไรที่เราทําไม่ได้ นอกจากไม่เริ่มคิดที่จะทํา, FontLab ซึ่งเป็นซอฟแวร์ที่ใช้สร้างฟอนต์โดยเฉพาะนั้นจะมีสมรรถนะ (feature) พิเศษอยู่อันหนึ่ง ที่เรียกว่าลิเกเจอร์ (ligature), เพียงแต่เราออกแบบพยัญชนะ ก-ฮ ให้มี 2 ชุด คือพวกตัวสูงปรกติและพวกตัวเตี้ยลงเล็กน้อย (เพื่อหลบที่ให้สระบน) และออกแบบสระบนทั้งหมดโดยจัดวางให้ตําแหน่งเส้นแนวนอนของมัน อยู่เสมอกับระดับความสูงของพยัญชนะตัวปรกติ. กรณีที่พิมพ์สระบนตามหลังตัวพยัญชนะใดก็ตาม เราสามารถเขียนคําสั่งให้มันไปเลือกพยัญชนะพวกตัวเตี้ย (ในชุดที่ 2) มาใช้ร่วมกับสระบน (ที่ถูกลดระดับตําแหน่ง) แทนพยัญชนะตัวปรกติ (ในชุดที่ 1) ที่เพิ่งพิมพ์ผ่านไปหยกๆ พอคุณกดคีย์บอร์ดพิมพ์สระบนปุ๊บ ตัวพยัญชนะเป็นเตี้ยปั๊บ ราวกับคุณมีนิ้ววิเศษ, DB YeePun เดิมเมื่อผ่านกระบวนการออกแบบใหม่นี้จึงดูเหมือนภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น เลยให้ชื่อใหม่ว่า DB YeePunjung. คําว่า "จัง" ของไทยแปลว่า "มาก" ส่วนญี่ปุ่นแปลว่า "เด็ก" จึงเหมาะจะใช้เป็นชื่อเพื่อแสดงความน่ารัก ร่วมสมัยแบบ ญี่ปุ่น-ญี่ปุ่น นั่นเอง
ส่วนตัวพิมพ์เล็กใน ฮีรากาโรมัน ที่อยู่ใน DBYeePunJung นั้นช่างหัวมัน (ความจริงต้องช่างหางมันถึงจะถูก) คงปล่อยไว้ อย่างเดิมเหมือนใน DB YeePun.
DB YeePun นั้นจะใช้เป็นตัวพาดหัว, ตัวหัวข้อรอง, ตัวโปรย หรือตัวเนื้อความสั้นๆ (ที่ขนาดปอยต์ไม่เล็กจนเกินไป) ก็ได้ แต่ถ้าอยากได้สําเนียงญี่ปุ่นแบบจังๆ เป็นคํา, วลี หรือ ประโยคไม่ยาวมากในการพาดหัว ให้เลือก DB YeePunjung (ใช้ได้กับโปรแกรมที่รองรับ ligature เท่านั้น เช่น IndesignCs, IllustratorCS) จะดูมีรสนิยมกว่า