หากวิเคราะห์จากหลักฐานที่ปรากฏในงานสิ่งพิมพ์ไทยยุคต้นๆ จะพบรูปอักษร (glyph) มากมายของตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วไทยที่แสดงถึงความชาญฉลาดในการออกแบบ เพื่อเอาชนะข้อจํากัดทางเทคโนโลยีการพิมพ์ในยุคนั้น ตัวอย่างเช่น การปรับเปลี่ยนรูปอักษรของสระบนไทยบางตัวคือ อี, อึ, อื ให้แตกต่างไปจากลายมือเขียนปรกติ กล่าวคือแทนที่เส้นขีดตั้งและวงกลมจะเป็นเส้นที่ลากต่อเนื่องจากรูปสระอิที่ปลายด้านขวา ผู้ออกแบบกลับเลื่อนหลบค่อนไปอยู่กลางแทน มีผลต่อเนื่องให้รูปวรรณยุกต์สูงถูกเลื่อนตามเข้าไปด้วย และหล่อทั้งรูปสระบนกับวรรณยุกต์ควบรวมเข้าเป็นตัวเรียงตะกั่วชิ้นเดียว
ถ้าจะให้ผมวิเคราะห์ว่าทําไมนักออกแบบชั้นครูยุคก่อน ถึงได้เลื่อนขีดของสระอีเข้ากลาง? เหตุผลน่าจะมีมากกว่าหนึ่ง. ประการแรกสุดน่าจะเป็นการช่วยให้มันดูห่างออกจากหาง ป ชัดเจนขึ้น
อาจมีข้อถกเถียงว่า น่าจะใช้สระอีที่มีขีดชิดด้านขวา (อย่างลายมือเขียน) ได้อยู่ เพียงแต่เลื่อนออกไปให้ห่างจากหางให้เพียงพอ คําตอบของผมคือ สระอีแบบนี้จะเกะกะกับรูปสระหรือวรรณยุกต์ของตัวพยัญชนะที่อยู่ด้านหน้า (อย่าลืมว่าเป็นตัวเรียงตะกั่วต้องมีช่องว่างทิ้งไว้ จะชิดชนกันแบบฟอนต์ยุคนี้ไม่ได้) ครั้นจะแก้โดยลดขนาดสระอีให้แคบลงก็คงไม่สวย. นี่จึงน่าจะเป็นเหตุผลประการที่สองของการเลื่อนขีดสระอี
ถ้าเราเรียงตัวพิมพ์ตะกั่วเป็นคํา “มิได้” เทียบกับ “มีได้” ด้วยระยะห่างของตัว ม กับ ไ ที่เท่ากัน จะเห็นว่าคํา “มิได้” ดูโปร่งกว่า “มีได้” นั่นเป็นเพราะมันแตกต่างกันที่ขีดสระ อี ด้านซ้ายสุด. ถ้าเราเลื่อนขีดสระอีเข้ากลางจะช่วยให้ “มีได้” ดูโปร่งเสมอกับ “มิได้” เป็นเหตุผลประการที่สามซึ่งเกี่ยวกับการจัดช่องไฟให้สมดุลย์ (คล้าย 2 เหตุผลที่ผ่านมา)
ประการที่สี่ ถ้าพิจารณารูปสระอี, อึ, อื จะพบว่าถ้าขีดและวงกลมอยู่ชิดติดปลายด้านซ้ายจะมีโอกาสเป็นจ้ำได้สูง เนื่องจากเป็นการพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรสบนกระดาษ ไม่เคลือบผิวเป็นส่วนใหญ่ หมึกอาจซึมจนดูไม่สวยงามและอ่านยาก. การออกแบบจึงควรลดจุดบรรจบรวมของเส้นเพื่อเลี่ยงความเข้มที่เกิดจากหมึกซึมเข้าหากัน นั่นคือต้องเลื่อนขีดของสระอีเข้ากลางสถานเดียว
ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลข้อใด (หรือถูกหมดทุกข้อ) โดยสรุป คือเป็นไปเพื่อให้งานพิมพ์ดูโปร่งสบาย ชัดเจน อ่านง่าย เป็นหลักนั่นเอง ลักษณะเด่นของรูปสระอี, อึ, อื ที่ว่านี้ถูกถ่ายทอดต่อมาในฟอนต์ DB ToonHua ด้วยเหตุผลง่ายๆ ข้อเดียว คือ สร้างความแปลกใหม่ซึ่งไม่เคยพบเห็นในฟอนต์ตัวพาดหัวตัวไหนของไทยมาก่อน
ในการออกแบบชุดสระอิ, อี, อึ, อื ผมลดรูปสระอิเป็นรูป โค้งคว่ำ. จากนั้นก็ตั้งขีดและวงกลมตรงกึ่งกลางเป็นสระอี, อึ, อื. หน้าตาของสระตัวใหม่ 3 ตัวนี้เสมือนเป็น DNA ของ "ทูนหัว" มีผลต่อเนื่องไปถึงลักษณะสําคัญของแบบตัวพิมพ์ทั้งชุด ไม่ว่าจะเป็นตําแหน่งวรรณยุกต์ การันต์ชุดสูง, ระบบของหางอักษร, หัวอักษรที่อยู่กลางตัว, หรือหัวที่หันเข้าหาลําตัว ฯลฯ
ตัวอักษรประดิษฐ์ของไทยในยุคเก่าที่มีหาง ศ, ส, ฮ อยู่แนวกลาง (ดูโฆษณาย่งกี่เลียบเฮง) จึงถูกนํามาใช้กับ ฬ รวมถึง ฐ ที่ได้อิทธิพลมาจาก จ ของ DB Soda ซึ่งมีเส้นตั้งอยู่กลางตัว
รูปอักษร ค, ด ของตัวตะกั่ว ฝ.ศ. ถูกปัดฝุ่นมาใช้ได้ดี เพียงแต่เปลี่ยนคอและหัวเป็นเส้นตรงประกอบกัน. ตัว ค ถูกหักปลายขึ้นตรงให้สัมพันธ์กับสระอี. ตัว ย ซึ่งมีหัวโน้มเข้าหากลางตัว (เหมือน ค, ด) จึงง่ายต่อการเติมขีดหัวในแนวดิ่งและส่งอิทธิพลต่อไปถึงหัวของตัว อ, ฮ
ลักษณะขมวดม้วนที่ฐานของกลุ่ม น, ฉ, ณ ที่พบในตัวประดิษฐ์ทรงเหลี่ยมยุคเก่า (ดูคํา พิชาญอนุสรณ์) ซึ่งมีวิธีการเขียนพลิกแพลงนั้น มีส่วนเป็นแรงบันดาลใจให้ผมปรับมาใช้กับ "ทูนหัว" ได้ ทิศทางการเดินเส้นที่แบ่งเป็น 2 เส้นประกอบกันสามารถแทนด้วยเส้นดิ่งตวัดโค้งทวนเข็มนาฬิกาที่ฐานไปหยุดที่ตําแหน่งเลข 1 แล้วลากเส้นหลังดิ่งลงมาสัมผัสเลยไปจรดฐานโค้ง. ขมวดม้วนที่แหวกแนวเป็นพิเศษนี้ กลายเป็นจุดเด่นสําคัญของ "ทูนหัว" เพราะตัว ม และ น เป็นตัวสะกดที่มีใช้บ่อย อีกทั้งยังมีสมาชิกที่เป็นตัวคล้าย (มีขมวดม้วนที่ฐานเหมือนกัน) อีกเป็นจํานวนมาก
ลักษณะรวมๆ ของฟอนต์ทูนหัวที่ปรากฏในขั้นนี้ คือเส้นบนและเส้นล่างจะเป็นโค้งครึ่งวงกลมแทบทั้งหมดเชื่อมต่อกับเส้นในแนวตั้งเป็นส่วนใหญ่, ผมจึงเลือก ข, ง รูปตัว V มาใช้ รวมทั้งหาง ช, ซ แบบเฉียง และ ร, ธ ก็เลือกใช้เส้นทะแยงเช่นกันเพื่อ ‘แก้เลี่ยน’ นั่นเอง
อิทธิพลของสระอี ยังส่งผลมาถึงสระไอด้วย ในเมื่อเรายอมรับได้กับการเลื่อนขีดสระอีไปอยู่กลางมาเกินร้อยปีแล้ว ทําไมจะเลื่อนมุมหยักของ ‘ไม้มลาย’ มาอยู่บนเส้นตั้งให้ดูสมมาตรแบบตัว Y ไม่ได้!
จุดเด่นอีกประการหนึ่งของแบบตัวพิมพ์ชุดนี้ คือ ตัวเลขไทยทรงเรขาคณิตที่ผมบรรจงออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ คนไทยที่รังเกียจเลขไทย (ว่าเชย) ลองเอาไปใช้ดู
ฟอนต์ชุดนี้เมื่อพิมพ์สระบนแล้วตามด้วยวรรณยุกต์จะดูซ้อนขึ้นไปในแนวดิ่งกึ่งกลางตัว เหมือนทูนของไว้สูงเหนือหัว ผมจึงตั้งชื่อว่า DB ToonHua ความหมายที่สอง ‘ทูนหัว’ เป็น คําจากยุคโบราณ (คล้ายที่มาของ DNA ฟอนต์) ใช้เรียกผู้เป็นสุดที่รัก
เป็นความรักอันลึกซึ้งซึ่งเกิดจากการเก็บเกี่ยวสิ่งประทับใจจากวันวานมาปรุงแต่งให้เป็นนิรันดร์
แม้จะมี "เว่อร์" บ้างก็ตาม เพราะความรัก!