ในสมัยที่ไทยยังใช้ตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วในงานสิ่งพิมพ์นั้น แบบตัวเรียงพิมพ์มักนิยมตั้งชื่อเรียกตามลักษณะของมัน เช่น ตัวบาง, ตัวกลาง (หมายถึงน้ําหนักเส้น), ตัวป้อม (หมายถึงความกว้าง), ตัวจิ๋ว, ตัวโป้ง (หมายถึงขนาด) เป็นต้น. ตามประวัติตัวโป้งของไทยถือกําเนิดขึ้นมาเพื่อรองรับยุคทองของหนังสือพิมพ์ไทยระหว่างสมัยรัชกาลที่ 6 - รัชกาลที่ 7. ตัวโป้งที่จัดว่าโป้งสมชื่อคือ ‘โป้งแซ’ เพราะ มีขนาดโตถึง 48 ปอยท์ มีปรากฏใช้งานเป็นหลักฐานตั้งแต่ ปี 2469 เป็นต้นมา จัดได้ว่า ‘โป้งแซ’ เป็นตัวพาดหัวตัวแรกในวงการพิมพ์ไทย (ตัวโป้งก่อนหน้านั้นเป็นเพียง “ตัวเนื้อที่โตขึ้นมาหน่อย” เท่านั้น), ต่อจากโป้งแซก็มี ‘โป้งใหม่’ ออกมาในปี พ.ศ.2472 และ ‘โป้งไม้’ ในปี พ.ศ.2480 ตาม ออกมา. ชื่อ ‘โป้งใหม่’ คงตั้งขึ้นเพื่อต้องการบอกว่าเป็นแบบใหม่กว่าโป้งแซ. ส่วนชื่อ ‘โป้งไม้’ ได้ชื่อเช่นนี้คงเป็น เพราะแรกเริ่มเป็นตัวเรียงขนาดโตที่ทําด้วยไม้ (Wooden type) ครั้นต่อมามีคนเอาไปทําเป็นตัวเรียงตะกั่วก็ยังคงเรียกติดปากว่าโป้งไม้เหมือนเดิม.
ทั้งโป้งแซ, โป้งใหม่, และโป้งไม้ ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงราวปลายยุคตัวเรียงตะกั่ว เพราะถูกแทนที่ด้วยอักษรช่างเขียนประดิษฐ์เอาไปทําบล็อคซึ่งดูตื่นเต้นไม่จําเจเหมือนตัวโป้งเดิมๆ โดยเฉพาะการเกิดของตัวอักษรลอกมากมาย นับแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา โดยยอดนักประดิษฐ์แบบตัวอักษรในยุคนั้น ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ในงานออกแบบสิ่งพิมพ์ ทําให้ตัวโป้งดูล้าสมัยไปเลยทีเดียว.
เมื่อเทคโนโลยีตัวพิมพ์เปลี่ยนจากตัวเรียงตะกั่วมาเป็น ตัวโฟโต้ (ที่คนไทยนิยมเรียกสั้นๆ ว่าตัวเรียงคอมพิว ตามชื่อบริษัท Compute Graphic ที่ทําธุรกิจให้บริการด้านนี้) ตัวโป้งใหม่ซึ่งดูเรียบง่ายกว่าโป้งแซและโป้งไม้ก็ได้รับการอนุรักษ์ไว้โดยอาจารย์มานพ ศรีสมพร ด้วยชื่อ ‘โกเมน’ ในปี พ.ศ.2519 กระทั่งปี พ.ศ.2532 ในช่วงต้นของฟอนต์ PostScript ‘โกเมน’ จึงกลายเป็น EAC Komain โดย อาจารย์มานพ อีกเช่นกัน และเพิ่มตัวหนาเข้าไป.
ในเวลาต่อมา โป้งไม้ ได้รับการอนุรักษ์เป็น PostScript ชื่อ SMB PongMai ใช้กับงานโฆษณาของ SC Matchbox ที่ต้องการแสดงความจริงจังและความจัง. อย่างไรก็ตาม แบบตัวอักษรโรมันทั้งใน EAC Komain และ SMB PongMai ก็ยังดูไม่กลมกลืนกับแบบตัวอักษรไทยเท่าที่ควร เมื่อมีการใช้คละในบรรทัดเดียวกัน
เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี พ.ศ.2551 ซึ่งนับเป็นยุคเฟื่องฟูของฟอนต์ไทยแบบ Opentype โป้งแซจึงได้รับการอนุรักษ์ไว้ด้วยชื่อ DB Zair (อยู่ในฟอนต์ดีบี ชุดที่ 6) ด้วย ความเชื่อของผมว่าคุณค่าของโป้งแซยังรอการรื้อฟื้นกลับมาให้นักออกแบบรุ่นกลางและเก่าใช้เล่าเรื่องย้อนคุณค่าในอดีต รวมไปถึงให้นักออกแบบรุ่นใหม่ (ที่แม้ไม่เคยรู้จักโป้งแซมาก่อนก็ตาม) ต้องลุ่มหลงมีใจให้โดยไม่รู้ตัว.
จากการสังเกตของผม การที่โป้งแซสามารถสร้างปรากฏการณ์เป็นตัวพาดหัวยอดนิยมของตัวยุคตะกั่ว อาจตอบง่ายๆ ว่าเป็นเพราะโป้งแซเป็นตัวพาดหัวที่เกิดขึ้นเป็นตัวแรก หรือเป็นเพราะมันมีแบบตัวเรียงพาดหัวให้เลือกใช้ไม่มากก็ได้ แต่ถ้าลองพิจารณาให้ดีจะพบว่า โป้งแซมีอัตลักษณ์พิเศษที่แตกต่างจากตัวเรียงตะกั่วที่เกิดขึ้นก่อนหน้าหลายประการ จึงทําให้มันดีพอที่จะรักษาระยะเวลาของความนิยมได้นาน. กล่าวคือโป้งแซเป็นแบบตัวพิมพ์ตะกั่วชุดแรกที่มีสัดส่วนกว้าง, มีความเปรียบต่างระหว่างเส้นตั้งที่หนาและเส้นนอนที่บางอย่างเห็นได้ชัด, หัวอักษรคล้าย terminal ของตัว a ในฟอนต์ Bodoni, ส่วนหางอักษรที่ตวัดขึ้นลักษณะคล้ายเส้นพู่กันจีน (นายแซ เป็นช่างฝีมือ เชื้อสายจีน). แบบตัวเรียงโป้งแซจึงถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางศิลปะที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างรูปแบบตัวพิมพ์โรมันยุค Didone, รูปแบบตัวเขียนพู่กันจีน เข้ากับอักขระดั้งเดิมของไทยได้อย่างลงตัว. ศจ.กําธร สถิรกุล เคยเขียน ไว้ใน ‘ลายสือไทย ๗๐๐ ปี’ ว่าโป้งแซเป็นตัวพิมพ์สวยงาม ได้รับการยกย่องกันมากในยุคก่อน.
ในการอนุรักษ์โป้งแซ ผมต้องทําการศึกษาจากสิ่งพิมพ์เก่าๆ ทั้งจากต้นฉบับจริงและสําเนาที่คัดลอกย่อมาลงในหนังสือยุคหลัง. จะเห็นได้ชัดเจนถึงข้อดีของโป้งแซในการใช้เป็นตัวพาดหัวประการหนึ่ง คือ สระหน้า ไ ใ โ ค่อนข้างเตี้ยประหยัดที่. ปัญหาบางประการที่พบคือ ตัว ร มีขนาด แคบมาก ตอนเป็นตัวตะกั่ว ถ้าเรียงคําว่า ‘ศรี’ ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเรียงคําว่า ‘คีรี’ สระอีตัวหลังจะชนตัวหน้า. ถ้าร่นสระ อี ตัวหลังไปทางขวา และร่น ร ตามออกไป ช่องไฟระหว่าง ค-ร จะหลวม. นี่เป็นปัญหาของตัวเรียงตะกั่ว ใน DB Zair ผมเพิ่มความกว้างตัว ร เล็กน้อย ขณะเดียวกันก็ใช้สระอีชุดพิเศษที่แคบลงเล็กน้อยช่วยด้วยอีกชั้นหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาช่องไฟในภาพรวม. ตัว ง, ว ซึ่งจัดเป็นตัวแคบก็อาศัยชุด สระบน อิ อี อึ อื ที่แคบกว่าตัวปรกติช่วยเช่นกัน.
ถ้าสังเกตเส้นล่างของอักษร บ, อ, ฯลฯ ในโป้งแซให้ดีจะพบว่ามุมด้านในบ้านกว่ามุมด้านนอก ลักษณะนี้ได้ถูกปรับแต่งใหม่ใน DB Zair ให้มุมโค้งสัมพันธ์กันมากขึ้น.
ส่วนตัวอักษรโรมันและตัวเลขอารบิกได้ดัดแปลงจากฟอนต์โรมัน 2 ฟอนต์ที่มีลักษณะใกล้เคียง Zair ผสมจนกลมกลืนกับ Zair อย่างที่เห็น. ในตอนแรกผมตั้งใจจะใช้ ชื่อว่า DB PongZair แต่เมื่อทําตัวปรกติเพิ่มเข้าไปแล้ว พบว่าใช้เป็นตัวพาดหัวรองได้สบายทั้ง 2 น้ําหนัก คําว่า ‘โป้ง’ จึงไม่จําเป็นอีกต่อไป คงเหลือแค่ ‘แซ’ คําเดียวพอ ตามชื่อผู้ออกแบบเพื่อเป็นการให้เกียรติท่าน นับเวลาแล้ว แซ ยุคดิจิตอลเกิดหลัง แซ ยุคตัวตะกั่วถึง 80 กว่าปี แต่ก็ ยังร่วมสมัยกับเมืองไทยยุคนี้ที่พูดไทยปนฝรั่งปนจีนอยู่.
เหมือนกับสไตล์ของ DB Zair ที่ยังคง ‘หัวฝรั่ง หางจีน gene ไทย’ ไว้ได้ครบ.