DB ChatGen

ยุคสมัยที่คนทุกวัยล้วนร่วมอยู่ใน 'Chat Generation' นั้น หน้าจอสื่อสารเล็กลง ตรงข้ามกับปริมาณข้อมูลท่วมท้น  เป็นผลให้ต้องใส่ใจความ 'ชัดเจน' ของฟอนต์ที่ใช้อ่านมากขึ้น. 

2516 ห่วงสวยจนสับสน     

นับจากปี 2516 การเกิดขึ้นของแบบอักษรแผ่นขูดลอกไทย 'มานพติก้า' ที่ได้เค้าโครงมาจาก Helvetica ได้ส่งอิทธิพลต่อนักออกแบบกราฟิกไทยให้หันมาใช้ฟอนต์ไทยแบบไม่มีหัวรูปทรงอิงอักษรฝรั่งกันมาก เพราะมันเรียบง่ายช่วยให้งานดูสวยทันสมัย ทำให้มีฟอนต์ไทยที่ถอดลักษณะเด่นจากฟอนต์ฝรั่งอื่นๆ อีกหลายฟอนต์ผลิตออกมาขาย. ผลที่ตามมาคือเกิดความสับสนระหว่างอักษรไทย (เช่น ตัวพิมพ์เล็ก 'n และ u' ที่ยืมมาใช้เป็นตัว 'ท และ น' นั้นจะอ่านสับสนเป็น 'ก และ บ' ตามลำดับ) บางครั้งก็เกิดความสับสนว่านี่มันอักษรไทยหรือฝรั่ง? (เช่นเห็น WS คนไทยจะอ่านเป็น "พร" แต่ฝรั่งจะเข้าใจว่าเป็นตัวย่อของ Web Site, Web Services ฯลฯ)

แผ่นอักษรลอก มานพติก้า
ที่ อ. มานพ ศรีสมพร เก็บรักษาไว้นาน
ได้มอบให้กับมือผู้เขียนเพื่อใช้อ้างอิง
เชิงวิชาการออกแบบ.
ความเกลี้ยงเกลาทันสมัย
ราวอักษรละตินของ มานพติก้า
ถือเป็นปรากฏการณ์ในวงการสื่อโฆษณายุคนั้น.

    เมื่อเข้าสู่ยุคสื่อสังคม (social media) คนทุกช่วงวัยต่างหันมาดูสื่อผ่านทาง มือถือ, แท็บเล็ต แทนที่ สื่อสิ่งพิมพ์, ทีวี มากขึ้น ขนาดตัวอักษรต้องถูกย่อเล็กลงตามขนาดจอ ทำให้ฟอนต์ไทยคล้ายฝรั่ง (ซึ่งไม่มีหัวกลมอยู่แล้ว) ยิ่งอ่านยากมากขึ้นไปอีก! กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ฟอนต์ไทยไม่มีหัวอย่าง 'สุขุมวิท' (ที่ควรใช้เป็นเพียง display เช่นเดียวกับ DB Heavent) เคยถูกใช้เป็น system font ในไอโฟนได้พักเดียว ทนเสียงสวดจากสาวกแอปเปิ้ลว่าอ่านยากไม่ไหวต้องรีบเปลี่ยนมาใช้ฟอนต์ไทยหัวกลม 'ธนบุรี' แทน. 

คุณอาจอ่านรู้เรื่องแต่ไม่รู้ว่ามีพิมพ์ผิดไปกี่คำ
ส่วนชื่อเฉพาะเช่นชื่อคน ที่สมมุติว่าพิมพ์ถูกแล้ว
คุณจะอ่านได้ช้าลงเพราะปัญหาคู่สับสนที่เกิดจากแบบตัวพิมพ์

2566 ถึงเวลาหาจุดเปลี่ยน     

ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ฟอนต์ไทยไม่มีหัวที่ดัดแปลงมาจากฟอนต์ฝรั่งดังกล่าวยังคงความนิยมใช้เป็นตัวพาดหัวเรื่อยมา. ยังมีนักออกแบบกราฟิกไทยจำนวนมากที่ไม่เชื่อว่าการใช้ฟอนต์อักษรไทยหัวกลมจะทำให้งานดูทันสมัยได้. แท้จริงแล้วอาจจะอยู่ที่ว่ายังไม่มีฟอนต์หัวกลมที่ถูกใจให้ลองใช้.     นี่เองเป็นที่มาของแนวคิดในการออกแบบฟอนต์ไทยหัวกลมให้ใช้เป็นทั้ง 'ตัวพาดหัวเท่ๆ' แทนฟอนต์ไทยไม่มีหัวเดิมที่อ่านยาก และ 'ตัวพื้นร่วมสมัย' แทนตัวหัวกลมแนวอนุรักษ์นิยมเดิม.    DB ChatGen สร้างจุดเปลี่ยนด้วยการเลือกอักษรฝรั่งเฉพาะตัวที่ดูคล้ายอักษรไทย (เช่น U, V, W) มาใส่หัวกลม. ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาศัยเส้นสายทางเรขาคณิตมาช่วยแก้ปัญหาคู่อักษรไทยแบบมีหัวเดิมๆ (เช่น ด-ต, ช-ซ) ที่มักดูสับสนกันให้อ่านแยกแยะได้ชัดเจนทุกขนาด ไม่ว่าจะใช้เป็นตัวพื้นขนาดจิ๋วในมือถือ, ตัววิ่งรายงานข่าวในทีวี, ไปจนถึงตัวพาดหัวขนาดใหญ่บนป้ายโฆษณาที่ต้องดูในระยะไกล. 

ตัวอย่างการเอาโครงอักษรฝรั่ง
ที่ดูคล้ายอักษรไทย มาใส่หัวกลม
การลดรูปของหัวอักษรกลุ่มหัวแตก

ไม่ลองไม่รู้     

DB ChatGen ฟอนต์หัวกลมลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง คือจุดเปลี่ยนที่ตอบโจทย์ได้ ทั้งกับคนไทยก็สื่อสารได้แม่นยำร่วมสมัย และกับคนต่างชาติเห็นอักษรหัวกลมป้ายร้านที่ติดมาในภาพก็จำได้ว่าเคยถ่ายตอนมาเที่ยวเมืองไทย, เห็นฉลากบรรจุภัณฑ์อาหารก็รู้ว่านี่ของอร่อยจากเมืองไทย ฯลฯ เหมือนอย่าง ญี่ปุ่น จีน ที่ตัวอักษรเขาดูยุ่งกว่าเราเขายังทำได้.    แล้วทำไมเราไม่ลองทำดูบ้าง?