แนวคิด ‘อยากทันสมัย’ ของชาวสยามยุคเห่อฝรั่งใหม่ๆ นั้น ได้ส่งอิทธิพลต่อบรรดาอักษรประดิษฐ์ของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้. ถ้าใครเคยได้ลองสะกดรอยย้อนกลับไปดูสิ่งพิมพ์เก่าๆ จะพบว่ามีการประดิษฐ์อักษรไทยอย่างอักษรโรมันมานานแล้ว โดยอาศัยแบบตัวโรมันจากสิ่งพิมพ์ที่ถูกนําเข้ามาในกรุงสยาม. บ้างก็ดูมีรายละเอียดมากมายเป็นแบบจารีตนิยม บ้างก็เรียบง่ายมีเส้นน้ําหนักสม่ำเสมอเป็นรูปทรงเรขาคณิตดูทันสมัย.
ถ้าเราเจาะจงเฉพาะกลุ่มที่เป็นรูปทรงเรขาคณิต จะพบว่ามีอยู่จํานวนไม่น้อยที่ยังคงแบบฉบับความเป็นอักขระไทยไว้ได้ค่อนข้างสูง. ถ้าจะให้ผมคาดเดาก็คงเป็นไปได้ว่า ผู้ออกแบบมีชุดตัวอักษรโรมันต้นแบบอยู่ไม่ครบ (พอที่จะให้ดัดแปลง!) หรืออาจเป็นเพราะการถูกกํากับโดยผู้อ่าน (ในยุคที่มีผู้รู้หนังสือน้อย) เช่น หากผู้ออกแบบเอาตัวพิมพ์เล็กตัวยู (u) มาดัดแปลงเป็นตัว น แล้วกลับด้านเป็น ตัว ม อย่างที่สมัยนี้นิยมทํากัน คนสมัยนั้นคงรับไม่ไหว เพราะขมวดม้วนที่คุ้นเคยในลายมือคัดและตัวพิมพ์เนื้อ (ซึ่งก็เพิ่งเกิดได้ไม่นาน) ที่คุ้นเคยตาได้หดหายไปจนแทบจะดูสับสนเป็นตัว บ (u).
ด้วยเหตุที่ผลกล่าวมานี้กระมัง จึงปรากฏกลุ่มตัวอักษรไทยอยู่ชุดหนึ่งที่แม้ว่าจะมีการ ‘ลดรูป’ ด้วยการตัดทอนส่วนหัวกลมของอักษรไปจนหมด แต่กลับ ‘เพิ่มรูป’ ด้วยการอวดขมวดม้วนของตัวสําคัญๆ เช่น น, ม ซึ่งใช้งานมากด้วยขนาดใหญ่กว่าปรกติ. เท่านั้นยังไม่พอ ชุดสระ อิ อี อึ อื ซึ่งแทนที่จะลดรูปเหลือเพียงเส้นเดี่ยวในแนวระดับ (อย่างที่ปัจจุบันนิยมทํากัน) กลับนํารูปสระเดิมมาเพิ่มรูปจนพองโตเป็นทรงกลม ล้อกับขมวดม้วนดูเพลิดเพลินไม่น้อย. เพื่อเป็นการแก้เลี่ยนรูปทรงอักษรโดยรวมที่ค่อนข้างผอม ผู้ออกแบบบางคนได้ใส่ ตัว ว, อ แบบกลมอ้วนเพิ่มเข้าไป ทําให้ดูสนุกสนานยิ่งขึ้น แม้จะยืนอยู่บนเส้นฐานอย่างเรียบร้อยอยู่ก็ตาม.
ในการอนุรักษ์อักษรประดิษฐ์กลุ่มนี้เก็บไว้เป็นตัวพิมพ์นั้น พูดได้ว่าไม่ค่อยมีอุปสรรคมากนัก. ลักษณะเด่นของรูปอักษรเท่าที่พบเป็นไปโดยกฎเกณฑ์ง่ายๆ กล่าวคือประกอบขึ้นระหว่างเส้นตรงแนวตั้ง, แนวระดับ, วงกลม และเส้นโค้งครึ่งวงกลมมาประกอบเข้าด้วยกัน (ส่วนที่เป็นเส้นทแยงพบน้อยมาก) ไหนๆ พวกกลุ่มสระ อิ ก็เป็นทรงกลมไปแล้ว ไม้ไต่คู้และการันต์จึงถูกจัดการให้เข้าทรงกลมไปด้วย (แม้แต่วรรณยุกต์ตรีก็ไม่ละเว้น). สําหรับชุดที่เป็น Opentype ตัว ช, ซ มีอิสระที่จะยึดหางให้ยาวเสมอหางตัว ป, ฝ, ฟ เพราะสามารถเขียน Script จัดให้เข้ากลุ่มเดียวกับ ป, ฝ, ฟ เพื่อขอใช้ชุดสระ, วรรณยุกต์ (แบบเยื้องหลบหาง) ร่วมกันได้.
ตัว ว, อ นั้นผมเลือกใช้ตัวอ้วนกลมเป็นตัวสะกดเพื่อแทรกให้เกิด Contrast กับตัวอื่นๆ ที่ดูผอมกว่า. แต่เมื่อไรก็ตามที่ถูกใช้เป็นตัวพยัญชนะมีรูปสระ, วรรณยุกต์กํากับ (หรือมีการันต์กํากับก็ตาม) ตัวอ้วนที่เพิ่งพิมพ์แสดงผลให้เห็นอยู่หลัดๆ จะถูกคําสั่ง ‘เปลี่ยนร่าง’ ไปเลือกชุดตัวสัดส่วนปรกติซึ่งดูลงตัวกว่า และทําให้ลดโอกาสที่ตัวอ้วน 2 ตัวจะปรากฏติดซ้อนกัน เช่น เมื่อเราพิมพ์คําว่า วัว หรือ อ้อย เป็นต้น.
ในชุดอักษรโรมันถูกออกแบบขึ้นใหม่ให้กลมกลืนไปกับอักษรไทย เพียงแต่ยังคงเส้นทแยงไว้ในบางตัวอักษร. เนื่องจากแบบตัวพิมพ์ไทยชุดนี้ต้องเผื่อพื้นที่บนไว้มากกว่าปรกติเพื่อรองรับสระทรงกลม จึงทําให้ต้องเพิ่ม ascender ของตัวอักษรโรมันให้ยาวขึ้นไปมากๆ ให้กลมกลืนกัน.
ในปี 2551 ผมเคยเห็นหนังสือเก่า ‘เพชรพระอุมา’ วางโชว์อยู่ในตู้กระจก สังเกตดูมีชื่อสํานักพิมพ์ ‘เพลินจิตต์’ สระอิ กลมดิกอยู่บนปก! มันช่างโดนใจจริงๆ. ถ้าใครได้เคยอ่านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวงการสิ่งพิมพ์ไทยจะพบว่า เพลินจิตต์ คือชื่อเครือสํานักพิมพ์ที่มีที่เกิดที่มาสนุกขนาดนํามาสร้างหนังย้อนยุควงการพิมพ์ได้สบายๆ. เรื่องหนังจะมีใครสืบค้นมาสร้างเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ตัวหนังสือที่เขียนคําว่า ‘เพลินจิตต์’ ได้สะกดสั่งผมให้ทําการอนุรักษ์ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วเป็นฟอนต์ชื่อ DB PloenJit. ชื่อฟอนต์ถ้าเขียนภาษาไทยเป็น ‘เพลินจิตต์’ จะทําให้นึกย้อนไปถึงยุคที่ตัวอักษรประดิษฐ์ต้นแบบของมันกําลังเฟื่องฟู. ถ้าเขียนสั้นลงเป็น ‘เพลินจิต' จะนึกถึงถนน พอเป็นชื่อถนนคนจะนึกถึง ฟอนต์ตระกูลดีบี.
ผมอยากให้แบบตัวพิมพ์นี้เป็นถนนไปสู่ความเพลิดเพลินในปัจจุบันและอนาคต จึงเลือกสะกดเป็น 'เพลินจิต"ครับ.