DB Bradley

ในหนังสือ ‘ลายสือไทย ๗๐๐ ปี’ โดยศาสตราจารย์ กําธร สถิรกุล ปรากฏบันทึกการประชุมอนุกรรมการพัฒนาตัวพิมพ์ไทยครั้งที่ ๒/๒๕๑๗ ตอนหนึ่งได้มีการเสนอหลักการจําแนกตัวพิมพ์ออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ ตัวเหลี่ยม, ตัวกลม และตัวอื่นๆ เมื่อพิจารณาแบบตัวพิมพ์จากสิ่งพิมพ์ก่อน พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยดูที่ลักษณะเส้นแนวนอนส่วนบนของตัวอักษร เราจะเห็นอยู่ ๒ แบบใหญ่ๆ คือ แบบหักเหลี่ยมเป็นหลังคาจั่วและแบบโค้งกลม.

ตัวเนื้อแบบตัวเหลี่ยมขนาดเท่าจริง ในหนังสือบทละครเรื่อง น้ําใจเด็ดเดี่ยว และปลอมกาย (พิมพ์ใน พ.ศ. 2493) ใช้เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ฟอนต์ Unicode ชื่อ Bradley Angular

ถ้าลองย้อนกลับไปดูสิ่งพิมพ์ยุคแรกๆ ของหมอบรัดเลย์ที่พิมพ์ในสมัยรัชการที่ ๔ ดู จะพบว่าแบบตัวพิมพ์ไทยตัวตั้งตรงที่มีเส้นนอนส่วนบนเป็นเหลี่ยมและโค้งเกิดขึ้นแล้ว. ตัวเหลี่ยมของหมอบรัดเลย์ได้รับอิทธิพลมาจากตัวเขียนใบลานซึ่งมีเส้นใบขนานตามนอน ทําให้ต้องเขียนเป็นเหลี่ยมรูปจั่ว (ถ้าเขียนโค้งจะตกร่องเอาได้) ส่วนตัวโค้งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากแบบตัวพิมพ์เล็กของอักษรโรมัน. ชุดตัวเหลี่ยมแม้จะเกิดขึ้นก่อนก็ตาม ลักษณะที่เหลี่ยมจัดคงถูกมองว่าเป็นของล้าหลังจึงพัฒนาไปไม่มากนักจากชุดแรกของหมอบรัดเลย์จนชุดสุดท้ายก่อนสิ้นยุคของมัน. ส่วนชุดตัวโค้งเมื่อสลัดเหลี่ยมออกไปก็ดูทันสมัยขึ้นมาทันตาจึงพัฒนาไปไกลกว่า เกิดเป็นตัวพิมพ์หลายแบบตลอดยุคตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วของไทย ภายใต้ชื่อเรียกซ้ำๆ กันว่า ‘ตัวธรรมดา’.

ถึงแม้ว่าตัวพิมพ์ตะกั่วโบราณของหมอบรัดเลย์ทั้ง ๒ แบบจะมีผู้อนุรักษ์เป็นฟอนต์ PostScript มาก่อนหน้านี้แล้วภายใต้ชื่อ Sathorn และ PSL Antique ก็ตาม มันก็ยังไม่ตอบโจทย์ได้ครบถ้วนเสียทีเดียว, Sathorn (อย่าสับสนกับ DB Sathorn ฟอนต์คู่แฝดของ Franklin Gothic) นั้น น่าจะเป็นการนําสําเนาตัวบรัดเลย์เหลี่ยมจากต้นฉบับจริงของงานพิมพ์ยุคแรกๆ มาสแกนทําฟอนต์โดยตรง เส้นจึงดูขรุขระและถูกนําไปใช้แทนความน่าสะพรึงกลัวเสียเป็นส่วนใหญ่ (ดูทั้งโบราณและหยาบโหด). ส่วน PSL Antique นั้น น่าจะได้แบบมาจากตัวบรัดเลย์โค้งในยุคที่ ๒ (ที่ผมเคยพบในหนังสือ มูลบทบรรพกิจ) ซึ่งเริ่มต่างจากตัวต้นแบบของหมอบรัดเลย์ไปบ้างแล้ว. แม้ว่า PSL Antique จะถูกบรรจงสร้างให้เรียบร้อยเหนือตัวต้นแบบ แต่สระวรรณยุกต์ของมันกลับชิดติดตัวพยัญชนะจนเกินเหตุ ขณะที่ตัวโบราณของเดิมจะดูโปร่ง (ตามข้อจํากัดของตัวเรียงตะกั่ว) และอ่านสบายตากว่า.

เมื่อกําหนดเป้าหมายได้แล้วว่าจะอนุรักษ์แบบตัวพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ไว้เพื่อการศึกษาและการใช้งานเชิงพาณิชย์ ผมต้องใช้เวลาอยู่กับสิ่งพิมพ์เก่าๆ พักใหญ่. หนังสือเล่มที่ทําให้ผมคลําเป้าหมายเจอ คือ แบบตัวอย่างตัวพิมพ์ของ โรงหล่อตัวพิมพ์อักษรกิจ (พิมพ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๖) ‘ตัวเหลี่ยม ๑๙ ปอยท์ครึ่ง’ และ ‘ตัวธรรมดาเก่า ๑๕ ปอยท์ครึ่ง’ ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ถือว่าใกล้เคียงต้นแบบของหมอบรัดเลย์มากที่สุด. แม้ว่าจะดูเรียบร้อยกว่าของหมอบรัดเลย์เล็กน้อยแต่ก็ได้อารมณ์ขลังไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพื่อให้ได้แบบตัวพิมพ์แต่ละชุดครบ ผมต้องย้อนกลับไปเปิดหาหนังสือเล่มอื่นๆ ที่มีตัวเนื้อเหมือน ‘ตัวเหลี่ยม ๑๙ ปอยท์ครึ่ง’ และ ‘ตัวธรรมดาเก่า ๑๕ ปอยท์ครึ่ง’.

ตัวพิมพ์ขนาดเท่าจริง ของโรงหล่อตัวพิมพ์อักษรกิจ (พิมพ์ใน พ.ศ. 2516)
แบบตัวเหลี่ยมชุดแรกของหมอบรัดเลย์ จากหนังสือ จินดามณี ฉบับหมอบรัดเลย์ ของสํานักพิมพ์โฆษิต (พิมพ์จากสําเนาต้นแบบ)

หลักการอนุรักษ์นั้น รูปอักษรโดยรวมจะคงไว้แม้แต่ปลายเส้นอักษรก็ถูกจงใจทําให้มน (ต่างจาก PSL Antique ที่ตัดเป็นฉากคม) เพื่อให้ได้ผลรับออกมาเหมือนเทคโนโลยีการพิมพ์ในยุคก่อนบนกระดาษไม่เคลือบผิวซึ่งปลายเส้นที่ได้ดูมนมากกว่าที่จะเห็นเป็น ปลายตัด. เนื่องจากตัวเนื้อยุคตะกั่วไม่นิยมใช้ขนาดเล็กมากเหมือนปัจจุบัน จึงสามารถออกแบบตัวพิมพ์ด้วยเส้นบางๆ ได้. ตัวเส้นบางดูจะมีข้อดีกว่าคือถึงจะปล่อยหมึกหนักตัวบวมไปหน่อยก็ยังดูไม่หนักตาและไม่เข้มจนดูเห็นได้จากด้านหลังกระดาษ. ต้นแบบตัวเหลี่ยมและตัวโค้ง ที่ผมเลือกมาอนุรักษ์เป็น DB Bradley Angular และ DB Bradley Curved ก็อยู่ในข่ายนี้ เส้นจะบางและหัวเล็กเหมือนต้นแบบได้ เพราะตั้งใจให้ใช้งานในขนาดโตพอสมควรนั่นเอง"

พูดถึงหัวตัวอักษรแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าชุดบรัดเลย์เหลี่ยมนั้นหัวอักษรด้านบนที่หันออกจากลําตัวไปทางซ้ายทุกตัวจะถูกโยกเข้าในเล็กน้อย ต่างจากในชุดบรัดเลย์โค้งที่หัวจะหันออกทั้งหัวเหมือนกับตัวเนื้อส่วนใหญ่ในปัจจุบัน. การโยกหัวนั้นน่าจะได้จากเทคนิคการเขียนแบบโบราณ (ตัวเขียนแบบอาลักษณ์หัวรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนในปัจจุบันก็ยังคงลักษณะนี้อยู่). ข้อดีของหัวแบบเยื้องหลบในคือทําให้ตัวเหลี่ยมของหมอบรัดเลย์ (ที่ยืนตรง) ดูไม่หัวคะมำไปข้างหน้า แถมยังประหยัดที่ได้ดีกว่าด้วย. อย่างไรก็ตาม หัวบนที่หันออกเต็มหัวของอักษรชุดบรัดเลย์โค้งนั้นดูเรียบง่ายทันสมัยกว่าจึงได้รับความนิยมแตกลูกหลานออกไปมากมายในปัจจุบัน.

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของตัวพิมพ์หมอบรัดเลย์ทั้ง ๒ ชุดที่เห็นได้ชัดคือ หาง ส, ศ จะเป็นขีดขึ้นค่อนข้างสูง ทําให้ต้องการความห่างระหว่างรูปสระวรรณยุกต์กับตัว ส, ศ มาก (ไม่ให้ชิดติดกันจนอ่าน สับสนเป็น ล, ค เอาได้) ใน DB Bradley Angular และ DB Bradley Curved ก็ได้อนุรักษ์ความโปร่งเช่นนี้ไว้ เพียงแต่ลดระดับหาง ส,ศ ลงเล็กน้อย.

แบบตัวอักษรโรมันในชุด DB Bradley ผมเลือกเอา ตัวอักษรโรมันที่มี serif มน อายุรุ่นราวคราวเดียวกันมาปรับปรุงผสมให้เข้ากัน. ของชุด DB Bradley Angular ดูโบราณกว่าเล็กน้อยตรงปลายหางบน (ascender) และล่าง (descender) จะเป็นแบบเฉียง ขณะที่ serif ในชุด DB Bradley Curved อยู่ในแนวระดับทั้งหมด. ส่วนเส้นแนวนอนของตัวพิมพ์เล็กในชุด Curved จะดูโค้งมากกว่าในชุด Angular เล็กน้อย.

แม้ว่าตัวปรกติและตัวหนาของ DB Bradley ทั้งชุด Angular และ Curved จะมีความหนาเท่ากัน (ที่ความสูง บ เท่ากัน) ก็ตาม. ตัวชุด Curved จะทําช่องไฟไว้ชิดกว่าเล็กน้อย เกิดเป็นชุดฟอนต์ที่มีความเข้ม (ที่ภาษา Typography เรียกว่า color) ถึง 4 แบบ ให้เลือกใช้.

เมื่อใช้ DB Bradley จะตัวเหลี่ยมหรือตัวโค้งก็ตาม พิมพ์บนกระดาษแบบไม่เคลือบผิวสีขาวนวล จะสามารถเรียกบรรยากาศเก่าๆ ของบ้านเมืองกลับมาได้.

เหมือนได้กลิ่นเก่าโชยจากกระดาษที่เหลืองกรอบด้วยกาลเวลา.

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ April 2010