นักออกแบบไทยในยุค Digital ที่ไม่เคยศึกษาประวัติตัวพิมพ์ของยุโรปมาก่อน ถ้าได้ปะทะสายตาจังๆ เข้ากับตัวอักษรในคัมภีร์ไบเบิลของ Johann Gutenberg คงคิดว่าเป็นการเขียนด้วยมือ. แท้จริงแล้วเป็นหนังสือที่พิมพ์ด้วยระบบ Letter Press ครั้งแรกของโลกในปี ค.ศ.1455 โดยใช้ตัวเรียงพิมพ์ที่ลอกมาจากสไตล์การเขียนแบบ Blackletter ตระกูล Textura (จัดเป็น Blackletter ยุคแรกๆ) หน้าตาจึงโบราณขนาดหนัก. อย่าตกใจถ้ารู้ความจริงว่าเป็นชุดตัวพิมพ์ที่มีถึงกว่า 300 รูปอักษร นั่นเพราะมันรวมเอาตัวพิเศษที่มี ligature (พวกรวบหัวรวบหางเข้าด้วยกัน ฯลฯ) และพวก diacritic (สัญลักษณ์ที่ใช้กํากับการออกเสียงเฉพาะบางตัวอักษร) ถือได้ว่าเป็นอุตสาหศิลป์ที่สูงส่งถึงขั้นส่ง Gutenberg ขึ้นสวรรค์ได้เลยทีเดียว!
ตัวพิมพ์ Blackletter นอกจากจะเป็นอัตลักษณ์ของชาติเยอรมันแล้วยังส่งอิทธิพลไปสู่ตัวพิมพ์หลายประเทศในยุโรป. Old English น่าจะเป็น Blackletter ที่คนไทยคุ้นเคยที่สุดเพราะถูกใช้เป็นหัวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post. อย่างไรก็ตามตัวพิมพ์ Blackletter ไม่นิยมใช้เป็น text เท่าใดนัก ด้วยความที่มันอ่านยาก (โดยเฉพาะตัวอักษรใหญ่) จึงถูกแทนที่ด้วย Jenson (ของ Nicholas Jenson ชาวฝรั่งเศสที่ตั้งโรงพิมพ์อยู่ในกรุงเวนิส ในช่วง 1470s) ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ที่เกิดจากลายมือเขียนเช่นกัน.
ลักษณะเด่นของ Blackletter แบบ Textura ที่เห็นได้ชัด คือตัวพิมพ์เล็กมีทรงผอมเน้นเส้นแนวตั้ง (แม้แต่ตัว v และ w ที่เราคุ้นเคยเห็นเป็นเส้นแนวทแยง ก็กลับเขียนอยู่ในแนวตั้ง), พื้นที่ว่างด้านในตัวอักษรมีความกว้างใกล้เคียงกับความหนาของเส้นแนวตั้ง. จุดน่าสังเกตที่สุดคือตัวพิมพ์เล็กหลายตัวจะจบปลายเส้นด้วยรูปขนมเปียกปูน แทนที่จะเป็น Serif ซึ่งลักษณะเด่นนี้เคยถูกนํามาเขียนดัดแปลงเป็นอักขระไทยเพื่อแสดงความเป็น ‘ประเทศอารยะ’ เยี่ยงชาติตะวันตกมาช้านานแล้ว.
ในโลกปัจจุบัน นอกจากเราจะพบเห็นอักษรเขียนแบบ Blackletter ในป้ายชื่ออาคารโบราณ เช่น อาคารรัฐสภา ในกรุงเบอร์ลิน หรือศาสนสถานในเยอรมันนี, สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ แล้วยังสามารถพบการใช้งานกับเรื่องประเภทย้อนยุค ไม่ว่าจะเป็นปกพ็อกเก็ตบุ๊คหรือบนกล่อง DVD หนังฝรั่ง แม้กระทั่ง CD เพลงหนักโหด, แบบรอยสัก ฯลฯ แสดงให้เห็นว่า Blackletter ไม่เคยตายไปจากโลกของงานออกแบบ.
เมื่อผมตั้งเป้าไว้ว่าจะออกแบบตัว Blackletter แบบไทย ก็พบว่ามีคนทําเป็นฟอนต์ออกมาแล้ว และถูกจํากัดการใช้งานด้วยลักษณะที่โบราณตามต้นแบบของฝรั่ง, ดังนั้นคงจะเป็นการดีไม่น้อยถ้าเราปรับปรุงตัว Blackletter ให้มันร่วมสมัยเสียก่อนแล้วค่อยแปลงเป็นไทย. การทําให้มันดูเรียบง่ายขึ้นนั้น เรื่องแรกคือจับชุดตัวพิมพ์ใหญ่ของมันโยนทิ้งไปก่อน เพราะมันอ่านแทบไม่รู้เรื่องเลย! (นับว่างานผมเสร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว) จากนั้นค่อยมาพิจารณาดูตัวพิมพ์เล็ก.
จะเห็นได้ว่าในตัวพิมพ์เล็กของมันทั้งเส้นบนและเส้นล่างจะหักเป็นมุมเหลี่ยม (คล้ายตัวพิมพ์บรัดเลย์เหลี่ยมของไทย) เพียงแต่เส้นมันหนาและมีการใส่คลื่นโค้งเล็กน้อยทุกครั้งที่กดปากกาหรือพู่กันปากแบนในแนวเส้นทแยง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเปลี่ยนทิศทางของการเดินเส้นหรือเพื่อการจบปลายเส้นคล้าย serif ก็ตาม. ดังนั้น ลองจินตนาการดูว่าถ้าไม่มีเส้นหนักเบาและไม่หลงเหลือเส้นโค้งใน Blackletter เลยแล้วรูปร่างหน้าตาของฟอนต์โฉมใหม่ที่น่าจะกลับมาแจ้งเกิดได้อีก (ทั้งในภาคอักษรโรมันและอักษรไทย) ควรจะเป็นอย่างไร.
จุดสําคัญคือ stroke ที่ปิดปลายเส้นแนวดิ่งถูกปรับให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแบบด้านเท่า โดยให้มันวางทับกึ่งกลางเส้นแบบซื่อๆ ไปเลย. เส้นบนเส้นล่างที่เคยทิ้งปลายแหลมเชื่อมติดกันถูกเปลี่ยนเป็นเส้นน้ําหนักเดียวให้ดูเด็ดขาดขึ้น. เส้นเฉียงของตัว e ซึ่งมีน้ําหนักบางถูกเติมให้หนาให้ใกล้เคียงกับเส้นแนวตั้ง ตัว a, s, v, w แบบ Textura ดั้งเดิมนั้นอ่านยาก ถูกปรับเปลี่ยนให้มีเส้นแนวทแยงแบบตัวโรมันยุคปัจจุบัน รวมทั้งการควบคุมเส้นให้ดูเสมือนเท่ากันตลอดในแต่ละตัวอักษร.
เนื่องจากตัวอักษรไทยแบบเสมือนโรมันโดยมากทําจากตัวพิมพ์เล็ก. งานตัวภาษาไทยจึงไม่ยากนัก. เพียงแต่หัวอักษรบางตัว เช่น ค, จ เลือกที่จะใช้รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนวางเข้าหาเส้นตั้งเล็กน้อย ละวางคอเพื่อควบคุมไม่ให้อักษรกว้างเกินไปตามแบบฉบับของ Textura ขนานแท้.
ในการออกแบบตัวพิมพ์ใหญ่มีความแตกต่างไปจากตัวพิมพ์เล็กที่เห็นได้ชัด คือการตัดปลายเส้นแนวนอนทั้งบนล่างเป็นแนวทแยง เช่นตัว B, D, E ซึ่งเมื่อยาวเกินเส้นแนวตั้งออกมาแล้วจะดูคล้าย serif กลายๆ ปลายสระและวรรณยุกต์ในชุดภาษาไทยก็ตัดทแยงเช่นเดียวกัน.
โดยส่วนตัวแล้วผมชอบตัวโรมันชุดนี้ไม่ว่าจะใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ล้วนๆ หรือใช้ผสมกับตัวพิมพ์เล็กก็ตาม. ทําให้คิดว่า Blackletter น่าจะกลับมานิยมมากขึ้นอีกในเมืองไทย จึงให้ ชื่อว่า DB Black is Back เสียอย่างงั้น! ส่วนตัวอักษรไทยของมันจะได้รับความนิยมหรือเปล่าขึ้นอยู่กับทัศนะของนักออกแบบไทยจะมองบุคลิกของมันว่าเป็นแค่ฝรั่งหัวโบราณที่พยายามทําตัวให้ทันสมัย หรือฝรั่งหัวใหม่ที่ไม่ทิ้งลายวัฒนธรรมดั้งเดิม.