DB Object

ภาพผลิตภัณฑ์เครื่องใช้พื้นๆ ในชีวิตประจําวันที่ถูกออกแบบรูปลักษณ์ให้ตื่นตาชวนเหยื่อควักกระเป๋าซื้อนั้นมีให้เห็นกันมานานแล้ว. แน่นอน มันมีอิทธิพลส่งต่อระหว่างนักออกแบบด้วยกัน, แม้จะต่างสาขากันไปเช่นนักออกแบบตัวพิมพ์อย่างผมก็ตาม.

ผมตั้งคําถามกับตัวเองว่า เราจะสนุกกับการออกแบบฟอนต์ ให้ดูตื่นตาเหมือนกาต้มน้ํารูปทรงกรวยมีที่จับโค้งกลมของ บริษัท Alessi, หรือเหมือนชั้นวาง Carlton Cabinet ฝีมือ Ettore Softsass ที่ผสมรูปทรงจัตุรัสกับสามเหลี่ยมบ้างได้มั้ย?

คิดแล้วก็ลงมือร่างจากอักษรโรมันและตัวเลขอารบิคก่อน เพราะว่ามันง่ายกว่า. พบว่าคงทําได้เป็นบางตัวเช่นตัวพิมพ์ใหญ่ A, B, K, X และตัวเลข 3, 8 เป็นต้น ที่พอจะผสมผสานเส้นสายเรขาคณิตหลายแบบให้ดูแปลกตาไปจากตัวมาตรฐานเดิมได้ง่ายหน่อย. ตัวพิมพ์เล็กบางตัวได้จากการล้อเลียนตัวใหญ่ เช่น k, x จาก K, X และโดยเฉพาะ g ซึ่งแปลกตา เป็นตัวโชว์พิเศษได้จาก G, Q. ส่วนตัวพิมพ์เล็กที่ดูแล้วไม่น่าจะเล่นอะไรมากนัก ผมใช้วิธีให้มันต่างกันชัดเจนทั้งค้านขนาดของความกว้างและรูปทรง. ตัว r และ s จงใจให้แคบเป็นพิเศษเพื่อโคคออกไปจากตัวอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่กว้างทรงจัตุรัส. ในบรรดาอักษรส่วนใหญ่ที่กว้างเท่าๆ กันนั้นผมทําให้มันแตกต่างออกไปคือ พวกหนึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัดๆ ไปเลย กับอีกพวกหนึ่งเป็นรูปทรงกลม. ระหว่างร่างดูแต่ละตัวทั้งเหลี่ยมทั้งกลมยังไม่ทันถึงไหน เกิดคําถามสําคัญขึ้นในใจว่า เพื่อให้การใช้งานฟอนต์ดูตื่นตา ทําอย่างไรให้แต่ละคําที่พิมพ์มีรูปทรงทั้งเหลี่ยม, กลม ฯลฯ คละกันไปให้ได้มากที่สุด? ผมอยากขอให้คุณลองนึกดูก่อนที่จะอ่านคําเฉลยของผมในย่อหน้าต่อไป.

เพราะว่าทุกๆ คําที่พิมพ์ในภาษาอังกฤษต้องมีรูปสระกํากับอยู่เสมอ ดังนั้นเคล็ดลับง่ายๆ ที่ผมใช้คือ ทําตัวอักษรที่ใช้เป็นรูปสระทั้ง a, e, o, u และ y ให้มีรูปทรงต่างไปจากตัวอื่นๆ (ตัว i ตัดทิ้งไปเพราะเน้นรูปทรงยาก). คําถามต่อไปจึงอยู่ที่ว่า จะเลือกให้พวกรูปสระมีทรงเหลี่ยมหรือกลมดี? พิจารณาดูจากตัว e และ ๐ ร่างดูแล้วมันฝืนเกินไปที่จะเป็นเหลี่ยม ผมจึงตัดสินใจเลือกให้รูปสระเป็นทรงกลม. ตัว c เองก็เช่นกัน ถ้าเป็นเหลี่ยมตัวจะดูกว้างเกินและก็อ่านยาก (เวลาชิด l จะคล้ายตัว d) จึงให้เป็นกลม. ตัว h ปล่อยให้เส้นแนวระดับเป็นโค้งกลม (เหมือนตัว y กลับด้าน) แถมเข้าไปอีกตัว เพราะเห็นว่าอักษรส่วนใหญ่ที่เหลือยังประกอบขึ้นด้วยเส้นตรงเป็นหลักอยู่ เมื่อทดสอบพิมพ์ดู ได้ผลลัพธ์เป็นที่พอใจ คือ สนุกสนานกับรูปทรงเส้นสายเรขาคณิตที่คละกันไปแทบทุกคํา และแปลกตาไปกับอักษรหลายตัว เช่น b, d, m, n, p. q ที่มีเส้นแนวระดับเป็นเส้นตรงแทนที่จะโค้งแบบที่เราคุ้นเคย. ผมจึงนําเคล็ดวิชาที่ผ่านการทดสอบแล้วกับตัวพิมพ์โรมันมาใช้กับตัวพิมพ์ไทยต่อ.

แต่การจะเอารูปสระมาทํากลมๆ เลียนวิธีจากอักษรโรมันเห็นทีจะยาก เพราะรูปสระไทยที่ยืนบนเส้นฐานนั้นมีเพียงสระอาตัวเดียวที่พอทําเส้นบนเป็นครึ่งวงกลมได้ชัดๆ (ซึ่งยิ่งทําชัดสัดส่วน ตัว า ก็ยิ่งจะกว้างเกินไป) นอกนั้นจะมีแค่ส่วนบนของ โ, ใ, ไ ที่พอจะเล่นรูปทรงได้ (แต่ก็แค่ในขนาดเล็กๆ). ผมจึงเลือกตัวอักษรที่ใช้เป็นตัวสะกดหลักพวกหนึ่ง และที่ใช้เป็นรูปสระอีกพวกหนึ่งมาใส่เส้นโค้งของวงกลมแทน. พวกแรกได้แก่ตัวสะกดที่ใช้งานมาก คือ ก, ด, น, บ และ ม (แม่กก, กด, กน, กบ, กม) อีกพวกได้แก่ ว, ย และ อ (เช่น อัวะ-อัว, เอียะ-เอีย, เออ, ออ) รวมเป็น 8 ตัว. เมื่อยึดหลักความถี่ของการใช้งานเช่นนี้แล้ว จึงมีความน่าจะเป็นสูงที่รูปทรงกลม (จะกลมทั้งตัวหรือเฉพาะเส้นบนเส้นล่างก็ตาม) จะกระจายคละกับตัวอื่นๆ (ที่ปล่อยให้เหลี่ยม) ได้ทั่วถึง. ถามว่า 8 ตัวพอมั้ย? คงไม่พอ ผมจึงอนุโลมให้พวกอักษรคล้ายของมัน คือ ฆ, ฌ, ฒ (คล้าย ม), ญ, ป, ษ (คล้าย บ), ฉ, ณ (คล้าย น) และ ฮ (คล้าย อ) มีเส้นโค้งประกอบตามไปด้วย.

แต่ กฏ ก็เป็นแค่กฏ ไม่ใช่ กด จึงไม่สามารถกดอิสรภาพของนักออกแบบได้! ตัว ง แม้จะเป็นตัวสะกดแม่กงที่ใช้งานมาก ก็จงใจเลือกให้อยู่ในทรงสามเหลี่ยมแทนแก้เลี่ยน (อักษรทั้งชุด นอกจากตัว ท, ฑ, ธ แล้ว ไม่มีเส้นทะแยงยาวๆ ให้เห็นเลย) ตัว จ, ร ซึ่งแม้จะไม่เข้ากฏตัวสะกดหรือรูปสระที่ใช้กับคําไทยพื้นๆ แต่เป็นพยัญชนะที่ใช้งานมาก ทั้งที่เป็นพยัญชนะต้น (เช่น จง, รัก) และตัวสะกด (เช่น มัจฉา, กุมาร) รวมทั้งตัว ร แทนเสียงรูปสระ ได้ด้วย (เช่น ศร, สวรรค์, ธรรม) จึงอนุโลมให้ จ, ร เป็นเส้นโค้งกลมเพิ่มเข้าไป.

เช่นเดียวกับตัว g ของโรมัน ในอักษรไทยก็มีตัวที่โดดเด่นไว้อวดเหมือนกัน เช่นตัว ช ที่มีส่วนหัวเป็นทรงสี่เหลี่ยม, ตัวเป็นทรงกลม และหางเป็นเส้นเฉียงครบทุกกระบวนท่า! เพื่อให้ดูสนุกขึ้นไปอีกจึงจัดทําชุดตัวเลขอารบิคแบบ Old Style เพิ่มเข้าไปให้เลือกใช้กับภาษาไทยได้ด้วย. โดยปรกติแล้ว ชุดเลข Old Style จะมีตัวสูงประมาณ x-height อยู่ 3 ตัว คือ 0, 1 และ 2. และมีตัวที่สูงเกิน x-height อยู่แค่ 2 ตัว คือ 6 และ 8 เท่านั้น นอกนั้นอีก 5 ตัว คือ 3, 4, 5, 7 และ 9 สูงเท่า x-height แต่มีส่วนห้อยต่ำเส้นฐานลงมา. เพื่อให้ชุดเลข Old Style ชุดนี้เพิ่มโอกาสกระโดกกระเดกครื้นเครงเป็น New Style จึงจงใจให้เลข 4 เปลี่ยนจากห้อยต่ำเส้นฐานเป็นยืนบนเส้นฐานโดยมีเส้นหน้าสูงเกิน x-height ขึ้นไป. วิธีนี้ช่วยทําให้สัดส่วนระหว่างกลุ่มตัวเลขที่ขึ้นสูงต่อที่ลงต่ำ เปลี่ยนจากเดิม 2 : 5 เป็น 3 : 4 ใกล้เคียงกันมากขึ้น. ภาพโดยรวมของตัวพิมพ์ชุดนี้จึงเหมือน design object สนุกๆ ของยุคทศวรรษ 1980. ผมเลยให้ชื่อมั่นว่า DB Object. ความจริง มันก็เป็นแค่ฟอนต์ขี้เล่นอย่างเป็นระบบตระกูลหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่ผลพลอยได้ที่อาจสําคัญกว่าตัวฟอนต์คือการได้ทดลองพิสูจน์ดูว่า งานออกแบบตัวพิมพ์บางกรณี นอกจากความรู้ (ลึก) ทางศิลปะแล้ว อาจต้องผสมหลักความน่าจะเป็นทางคณิตศาสตร์รวมกับหลักการประสมคําทางภาษาศาสตร์บูรณาการไปพร้อมๆ กันจึงจะตอบโจทย์ได้.

ยังมีเรื่องยากสลับซับซ้อนกว่าการทําฟอนท์อีกมากมายในโลก ที่ต้องพึ่งสหวิชา เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศของเราเป็นต้น เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องตื่นรู้ (ไม่ใช่ตื่นเชื่อ!) ช่วยกันคิดช่วยกันทําตามความถนัด ไม่ใช่หน้าที่ของนักการเมืองแต่ฝ่ายเดียว. และถ้าเกิดมีผู้นําทางการเมืองคนไหน (ไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม) อุตริอวดอ้างสรรพคุณตัวเองยกใหญ่แบบข้าฯ เก่งคนเดียว หรือข้าฯ ถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว คงต้องไล่ไปอ่านประโยคทองของ Albert Einstein ที่กล่าวไว้ว่า "The difference between what the most and the least learned people know is inexpressibly trivial relation to that which is unknown." ถอดใจความง่ายๆ คือ "คนที่ว่ารอบรู้มากนั้น ที่แท้ก็แค่จิ๊บๆ เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขายังไม่รู้"

ตอนผมเริ่มเข้าสู่อาชีพนักออกแบบสิ่งพิมพ์นั้น ครูคนแรก ที่ผมเข้าไปถามหาความรู้คือ ช่างเลย์ฟิล์มในร้านเพลท ครับ.

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ November 2010