DB Kakabaht

ถ้าใครอยากหางานออกแบบปกสิ่งพิมพ์สวยๆ ของไทยดูให้จุใจผมขอแนะนําให้ไปดู pocket book ตามร้านขายหนังสือใหญ่ๆ. ทําไมไม่เป็นปก magazine? หรือทําไมไม่ไปห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์ดูปก annual report? คงเป็นเพราะปก pocket book ต้องทําหน้าที่หนักกว่าปก magazine เพื่อให้มันขายได้ หรือหนักกว่าปก annual report ที่ต้องส่งให้ผู้ถือหุ้นอยู่แล้วไม่ได้มีไว้ขาย อีกทั้งงานออกแบบปก pocket book นักออกแบบมีอิสรภาพที่จะสร้างสรรค์ได้มากกว่า.

ปก pocket book ต้องรับภาระหนักกว่า magazine ในการขายตัวมันเองเมื่อคนเขียนยังไม่เป็นที่รู้จักพอ หรือเป็นงานเชิงทดลองแม้จะเป็นนักเขียนที่ช่ำชองแล้วก็ตาม. ส่วน magazine นั้นมีสมาชิกหรือขาประจําที่ชอบหาซื้อเองอยู่, ถ้าปกออกแบบไม่แย่ขนาดจําสไตล์ปกไม่ได้ ยังไงก็ขวนขวายหาซื้อมาอ่านจนได้. อีกประการหนึ่งปก magazine ส่วนใหญ่ ยังมีลักษณะเฉพาะตามประเภทของมันไม่ต้องมีเรื่องให้คิคมาก แค่ทําให้สวยเป็นพอ. เช่น หนังสืออาหารก็ต้องถ่ายจานอาหารให้น่ากิน หนังสือแฟชั่นก็ต้องถ่ายนางแบบให้ออกมาดูเซ็กซี่ เป็นต้น ขืนคิดมากถ่ายรูปอาหารดูเซ็กซี่ลงปกนิตยสารแฟชั่นแล้วถ่ายรูปนางแบบน่ากินลงปกนิตยสารอาหาร มันอาจถูกจัดวางรวมไปกับ หนังสือ Nude จนคนซื้อเวียนหัวหาหนังสือไม่เจอ! สําหรับปก annual report ในเมืองไทยตอนนี้ต้องทําหน้าที่หนักเบาแค่ไหน? คนในวงการออกแบบสิ่งพิมพ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กร ต่างยอมรับว่ายุคนี้ลูกค้าให้ความสําคัญกับงานสิ่งพิมพ์น้อยลง รวมทั้งงาน annual report เมื่อเทียบกับก่อนยุควิกฤตต้มยํากุ้ง. บางองค์กรมอง annual report เป็นแค่ของแจก (แจงข้อมูลที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ บังคับ) เรื่องขายไอเดียทางธุรกิจให้ผู้ถือหุ้นเชื่อมั่น เขามี website ที่ทําหน้าที่แทนอยู่แล้ว.

DB Kakabaht บนปก ขอบฟ้าทะเลกว้าง (ขนาด 11.5 x 18.5 cm.) ตัวอักษรเหลี่ยมแหลมบนพื้นสีส้ม
เป็นจุดเด่นโดดออกมาจากพื้นหลังฟ้าและทะเลที่เป็นเส้นโค้งสีฟ้า.
ออกแบบปกโคย แคนชัย วรรณศิริมงคล

มองในแง่อิสรภาพของนักออกแบบ ถ้าสังเกตให้ดี ปก magazine บางฉบับก็ต้องออกแบบไปตามอําเภอใจลูกค้าที่ซื้อโฆษณาหน้าแรก! บางครั้งที่ปก annual report ได้รับ โจทย์ จากลูกค้าอย่างชัดเจนจนเกือบจะกลายเป็น คําตอบ ที่แทบจะ กระดิกกระเดี้ยไปจากนั้นไม่ได้ (กรณีนี้เขาจ้างมาให้ทํางาน ไม่ได้จ้างมาให้สร้างสรรค์!) แต่สําหรับปก pocket book สมัยนี้แล้ว ด้วยขนาดที่เล็กซ้ำยังถูกวางปะปนกันบนแผงจํานวนมาก ถ้างานไม่เด็ดก็ดับ. มันกลายเป็นปกสิ่งพิมพ์พวกที่มีสีสันในงานออกแบบมากที่สุด รวมไปถึงภาพประกอบและการจัดวางในเล่มด้วย... ทั้งๆ ที่โดยทั่วไปได้ค่าตอบแทนต่ำกว่าด้วยซ้ำ.

ถ้าใครเคยลองตรวจสอบดูปก pocket book เก่าๆ เทียบกับ ปกหนังสืออื่นๆ ที่ร่วมยุคสมัยกันก็จะพบความแตกต่างระหว่างกันคล้ายๆ สมัยนี้. ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีตัวอักษรลอกของสยามวาลา (ชุด มานพ, สําคัญ ฯลฯ) มีการเขียนประดิษฐ์อักษรพาดหัวชื่อเรื่องแบบไม่น้อยหน้าโปสเตอร์หนังไทย 16 มม. เลยทีเดียว. ผมเคยเหลือบไปเห็นสันหนังสือ pocket book โบราณเล่มหนึ่ง ชื่ออะไรไม่รู้ เพราะจําได้แค่ตัวอักษร ช ช้าง ที่เขียนด้วยเส้นตรงต่อเนื่องไขว้กันเป็นรูปกากบาท มันช่างดูเจ็บเหลือหลายจนทําให้ผมไม่ได้สนใจตัวอักษรอื่นที่ประกอบกันขึ้นรวมเป็นคํา! ความเจ็บของมันอยู่ตรงที่ว่าเส้นกากบาทถูกจัดระเบียบให้อยู่ในแนวเส้นทะแยงมุมของสี่เหลี่ยมผืนผ้าพอดีเหมือนงานออกแบบ brandmark ชั้นเลิศ! ผมไม่ได้พูดเกินเลยความเป็นจริง เพราะไม่ใช่ง่ายที่ความเป็น ช ช้าง จะถูกแสดงออกอย่างตัดทอนได้ลงตัวเกลี้ยงเกลาเยี่ยงนี้ มีแต่ขั้นเทพเท่านั้นที่ทําได้. คําถามที่น่าสนใจคือเขาคิดได้ไง?

ผมลองวิเคราะห์คูโดยเทียบตัวอักษร ช รูปกากบาทกับลายมือหวัดคนยุคเก่าจะพบว่ามีส่วนคล้ายกันซึ่งไม่น่าจะโดยความบังเอิญ. การเขียนอักษร ข และ ช ด้วยเส้นโค้งไขว้กันนั้นเกิดขึ้นก่อน และสันนิษฐานได้ว่าผู้ออกแบบ ช กากบาทคงได้เค้าโครงจากลายมือเขียนมาทําเสียใหม่. ความแตกต่างที่เหนือกว่าของ ช กากบาท คือ ดูยังไงก็ ช ชัวร์ แต่ตัว ข และ ช ต้นแบบ ลายมือเขียนนั้น ช หางต้องยาวพอ. ถ้าหาง ช ยาวสูงเท่าหัว จะดูเป็นตัว ข และถ้ายาวเลยหัวแค่เล็กน้อยจะดูสับสนได้ระหว่าง ไข่ กับ ช้าง!

สําหรับคนทํางานสร้างสรรค์แล้ว ไม่อาจเก็บสิ่งบันดาลใจไว้ในสมองได้นาน. ผมลองนําตัว ช ชัวร์ มาปรับปรุงเป็นฟอนท์ไทยดู. ด้วยโครงรูปกากบาทของมันช่างสอดคล้องกับ DNA ของอักษรไทย ที่เต็มไปด้วยเส้นแนวเฉียงอยู่แล้ว งานเลยจบง่ายอย่างเหลือเชื่อ (ถ้าเอามาทําฟอนท์พม่าคงบ้าตายเพราะอักษรพม่าดูกลมๆ ไปหมด!)

ตัว ช ต้นแบบ (ในสมอง) ถูกบรรจงร่างใหม่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งพร้อมเส้นทะแยงมุม เป็นโครงร่างสําคัญที่ใช้สําหรับออกแบบตัวอื่นที่เหลือทั้งหมด.

ตัว ท, ห จัดเป็นประเภทที่มีเส้นเฉียงยาวจึงสามารถอยู่ในโครงนี้ได้อย่างซื่อๆ. เริ่มจากตัว ท ก่อน และจาก ท ค่อยคลี่คลายเป็น ห.

ตัวที่มีขมวดม้วนเช่น น, ม และตัวที่เส้นบนมีรอยหยัก เช่น ต สามารถจัดให้มันพุ่งเข้ากลางได้หมดเช่นกัน. ตัว ผ ก็ทําแบบนี้ได้ เช่นเดียวกับตัว ล.

ตัว ก ที่มีอิทธิพลต่อการกําหนดลักษณะของชุดอักษร (เพราะมีตัวคล้ายมากที่สุด) ผมต้องยอมฝืนให้ปากมันกว้าง โดยการหยักเข้าจุดศูนย์กลางตัวของมัน. ตัว ย เป็นผลพลอยได้ จากการแปลงร่างตัว ก.

ตัวง่ายๆ เหมือนได้ฟรีจาก ช ก็คือตัว ธ ผมจงใจให้ปลายบนหักเข้าหาศูนย์กลางเล็กน้อยเพื่อใช้แก้พื้นที่ว่างด้านหลัง. ผมเกิดติดใจจริตการจบเส้นบนแบบนี้เลยเอามาใช้กับตัว ว, จ และ ล เพราะมันแก้ความว่างด้านหน้าได้ดีเช่นกัน. ส่วนตัว อ ใช้จริตนี้จุดเดียวสามารถเอาอยู่.

ตัว ร ผมจงใจให้มันแคบจะได้แยกแยะจากตัว ธ ได้ง่าย เลยต้องขี้โกงโยกเส้นเฉียงออกจากจุดศูนย์กลางเสียอย่างนั้น (ใช้สายตากะๆ เอาบ้าง). ส่วนตัว พ ถูกหลอกให้ดูกว้างกว่า ผ และเส้นเฉียงก็ไม่ได้อยู่ในแนวเส้นทะแยงมุมของสี่เหลี่ยมรูปใหม่ที่กว้างกว่าโครงมาตรฐาน. พวก ข และ ะ ก็เช่นกัน เอาแค่ให้มันอวดมุมชัดๆ เป็นเข้ากับตัวอื่นๆ ได้.

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องไล่เก็บคือ ปลายหัวตัว ค, ด จะเอายังไงดี จะเป็นเส้นขีดแนวนอนสั้นแบบตัว จ หรือจะหักเข้าแนวเส้นทะแยงมุมอีก? ที่สุดผมให้หัว ค, ฅ หักเฉียงลงและ ด หักกลับขึ้นบน. ส่วนตัว ต ไม่ต้องหักให้เห็น มันซ่อนรูปอยู่ที่รอยหยักลงของเส้นบนอยู่แล้ว.

เส้นหางแบบเฉียงทุกตัว ไม่ว่าจะเป็น ศ, ส, ฮ ถึงจะลากยาวออกนอกกรอบ ก็ควรจัดให้อยู่ในแนวเส้นทะแยงมุมด้วย. ส่วนหาง ษ นั้นมีวิธีการเขียนหางแบบหักเข้าตัวแล้วลากออกในแนวนอนอยู่แล้ว จึงเพียงแต่ขยับเส้นเฉียงให้เข้าศูนย์กลางตัวเท่านั้น.

DB Kakabaht บนปก ปานรุ้ง, นวนิยาย และ เพชรน้ําเอก, หนังสือชุดศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (ขนาด 14.5 x 21 cm.) ออกแบบปกโดย พีระพงศ์ โพสินธุ์

พอเก็บพวกรายละเอียดจนหมด มาถึงตัว บ ผมเริ่มเบื่อ ถึงตัว ป ผมเริ่มปล่อย ยอมปล่อยวาง 2 ตัวนี้เรียบๆ ไว้ดูเล่น เพื่อไม่ให้มัน 'ดูเล่น' จนเกินไป. สําหรับคนที่อยากประดิษฐ์ชุดอักษรไว้ใช้เอง หรือจะทําเป็นฟอนต์เลยก็ตาม ผมมีข้อแนะนําว่า อย่าพยายามใส่ลักษณะเด่นหรือจริตลงบนทุกตัวอักษร เพื่อไม่ให้ ก ถึง ฮ ออกมาแข่งกันเองจนเกินงามและเกินอ่าน. ความจัดของจริตในแบบตัวพิมพ์มักส่งอิทธิพลต่อความยากง่ายในการอ่านเสมอ.

เมื่อเสร็จงานออกมามันดูไทยชัดๆ และเมื่อชุดอักษรโรมันจบ เทียบกันแล้ว ตัวไทยลงตัวดีกว่าโรมันเสียอีก. เป็นเพราะโครงกากบาทมันเหมาะที่จะทําเป็นฟอนต์ไทยมากกว่าฟอนต์ฝรั่งนั่นเอง. ชื่อฟอนต์นั้นเป็นอื่นไปไม่ได้ต้อง DB Kakabaht (ไม่เกี่ยวอะไรกับนักฟุตบอลบราซิเลียนและเงินบาท!) ข้อสังเกตของผม ประการหนึ่งคือ ถึงแม้ว่า DB Kakabaht จะเกิดมาเป็นฟอนต์ดิสเพลย์แบบเส้นเรขาคณิต แต่กลับอ่านง่ายอย่างเหลือเชื่อแม้ใช้ในขนาดพอยท์เล็กๆ.

เนื่องจากเรามีตัวพิมพ์ดิจิตอลให้เลือกใช้งานกันอย่างมากมายในยุคนี้ ทําให้นักออกแบบมีทางเลือกมากในการทํางาน เราจึงเห็น งานออกแบบ pocket book ที่พิถีพิถันกับการเลือกใช้แบบตัวอักษรมาจัดวางให้เป็นจุดเด่นมากยิ่งขึ้น และบ่อยครั้งที่ใช้เพียงตัวอักษรล้วนๆ โดยไม่มีภาพ หรือมีเพียงลายพื้นเรียบๆ ที่ช่วยขับเสริมตัวอักษรเท่านั้น. เช่น ปกหนังสือชุดศิลปินแห่งชาติ 3 เล่ม ของแพรวสํานักพิมพ์ มีพื้นหลังเป็นลายไทยคอยขับเสริมตัวอักษร กากบาทไทยแท้ที่ปรับแต่งช่องไฟหัวเรื่องให้ห่างเป็นพิเศษ เป็นงานปกที่อ่อนน้อม เรียบง่าย สามารถแทนความเคารพนบนอบต่อเหล่าศิลปินเอกของชาติได้เป็นอย่างดี.

ต้องขอคารวะนักประดิษฐ์ตัวอักษรรุ่นเก่าที่ฝากฝีมือตัว ช ที่เท่ห์ข้ามกาลเวลามาเข้าตาผม. บันดาลใจให้ผมต่อยอดแตกกิ่ง ส่งต่อให้นักออกแบบรุ่นใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว. หวังว่าคงจะช่วยกันใช้ให้เกิดดอกผลกันต่อไป.

ช. ช้างเป็นเหตุ, Kakabaht เป็นผลครับ