DB Metta

บรรดาฟอนท์ไทยเสมือนโรมันตระกูล DB นั้น DB Moment อาจถือได้ว่าเป็นฟอนท์ที่ดูทั้งเรียบทั้งหรูอยู่ในร่างเดียว. ต้องยกความดีให้ genes ที่ได้รับมาโดยตรงจากฟอนต์ Meta ของ Erik Spiekermann โดยเฉพาะ ตัว Light-Regular-Medium แม้ใช้ในขนาดเล็กๆ ก็ยังอ่านสบายด้วยช่องไฟที่ค่อนข้างโปร่งเป็นพิเศษของมันนั่นเอง.

อย่างไรก็ตาม มีคนไทยจํานวนไม่น้อยที่ปฏิเสธการอ่านฟอนต์ไทยแบบไร้หัวกลมๆ ถ้ามันใช้ในขนาดเล็ก. ผมจึงเกิดความคิดที่ว่าทําไมไม่เอา DB Moment มา Mo(dify) ใหม่ให้เป็นไทยๆ เสียเลย?

ประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยอ่านหนังสือฝรั่งที่ใช้ Meta เป็น text ตัวเล็กๆ ผมคิดว่าตัว Regular ของมันดูทึบไปหน่อย ทําให้อ่านไม่ราบรื่นเท่าที่ควร. ความทึบน่าจะเกิดจากสาเหตุที่ Meta เป็นฟอนท์ซึ่งค่อนข้างผอม. เมื่อจะเอาตัวดีสเพลย์ไทยสไตล์ฝรั่งของ DB Moment มาเติมหัว ปรับแต่งรูปให้เป็นไทยๆ ตัวมันจะกว้างขึ้น ผมจึงปรับให้ตัวอักษรโรมันของมัน (ซึ่งใกล้เคียง Meta) ให้กว้างขึ้นเล็กน้อย อีกทั้งลดความหนาของเส้นลงจากเดิม จะได้อ่านสบายสมเป็น text มากขึ้น.

การทํา DB Moment ให้เป็นไทยนั้น สิ่งที่ทําง่ายที่สุดก็คือชื่อใหม่ของมัน. เพราะ DB Moment มีแม่เป็นแหม่ม ชื่อ Meta ออกเสียงว่า ‘เมต้า’ แค่เติม t เพิ่มเข้าไปอีกตัว ก็ได้หลาน Metta อ่านว่า ‘เมตตา’ เป็นไทยดีจริงๆ.

การสร้าง DB Metta ไม่สู้มีปัญหามากนัก โดยภาพรวมเราปรับจาก DB Moment ได้ค่อนข้างราบรื่น. มีเพียงบางตัวเท่านั้นที่แค่เติมหัวกลมไม่พอ ต้องแปลงเส้นให้ใกล้ตัวเนื้อของไทยมากขึ้น.

  • ตัว ด, ต ต้องเพิ่มคอ เพราะขืนเอาตัว ด ของ - Moment เดิมมาเติมหัวจะดูเป็น ถ มากกว่า ด สับสนตาย.
  • ตัว ท ปรับเส้นโค้งกลาง ทําร่องมุมกับเส้นหน้าให้เห็นชัดขึ้น.
  • ตัว พ เปลี่ยนจากแบบเส้นกลางตั้งฉากเป็นหยักฟันปลาแบบตัวเนื้อที่คุ้นเคย.
  • ตัว ร กลับมาใช้เส้นตั้งตรงแบบไทย (ฝากตัว S ไว้กับ DB Moment!)
  • พวกขมวดม้วน น, ม ใส่ให้ชัดๆ ลืมตัว น, ม ของ DB Moment ไปได้เลย.

ที่ช่วยให้แปลกตามากโข คือ ชุด สระอิ อี อึ อื เลือกแบบเส้นนอนเป็นเส้นเดี่ยว เพราะคิดว่าคนไทยคงคุ้นเคยแล้วกับฟอนต์ ‘ลูกครึ่ง’ Tahoma อักษรไทย สังเกตให้ดีเส้นนอนของรูปสระจะโค้งโย้ไปทางขวามือ เลียนแบบเส้นโค้งบนของตัวอักษร DB Metta ทั้งชุด (ไม่โค้งเป็นวงเล็บคว่ำแบบ Tahoma)

ภาพรวมที่ได้ออกมา แทนที่ DB Metta จะใช้เป็น ตัวเนื้อร่วมกับตัวพาดหัว DB Moment เท่านั้น กลับกลาย เป็นว่าเอามาพาดหัวจะดูน่าสนใจไปอีกแบบ.

ถ้าขยายใหญ่ขึ้นมาจะสังเกตเห็นหัวขมวดม้วนหยักพวก ซ ฆ ฑ แปลกตาออกไปเพราะมันม้วนกลับคล้าย ไม้หันอากาศ! (เคยลักไก่ทดลองใช้มาแล้วใน DB EuroThai) ในแง่ตัวพิมพ์แล้วไม่ผิดอะไรที่จะเป็นแบบนี้ ตราบใดที่มันยังอ่านได้ไม่สับสนกับตัวอื่นๆ. แต่ในแง่ตัวเขียนมาตรฐานราชบัณฑิตยสถาน คงผิดขั้นประหารเจ็ดชั่วโคตร! ความจริงการลดรูปหรือเปลี่ยนรูปในตัวพิมพ์ไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ตัวตะกั่ว ฝ.ศ. ยุคโบราณแล้วครับ ฐานตัว ฐ เป็นแบบ ฎ ชฎา ไม่ใช่แบบ ฏ ปฏัก ซึ่งก็ผิดเหมือนกันแต่ก็ยังนิยมใช้มาถึงทุกวันนี้. ดังนั้นผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ในกระทรวงศึกษา ยันกระทรวงวัฒนธรรม โปรดได้เมตตาอย่าตําหนิผมเลย.

อย่าลืมว่าฟอนต์นี้ชื่อ ดีบี เมตตา นะขอรับ!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ January 2011