DB Manopolive

Antique Olive เดิมเป็นผลงานออกแบบของ Roger Excoffon ในปี ค.ศ.1966 จัดเป็นฟอนต์กลุ่ม Neo-Grotesque ซึ่งต่างจากกลุ่ม Grotesque ที่เกิดมาก่อนหน้า คือ ดูอิงกับเครื่องมือมากกว่าเขียนมือ, x-height สูงขึ้น (สังเกตได้ชัดเมื่อเทียบกับปลาย ascender ของตัว b, d ฯลฯ) และน้ําหนักเส้นตัวอักษรค่อนข้างสม่ำเสมอกัน ซึ่งทําให้ฟอนต์กลุ่มนี้สามารถมีสมาชิกครอบครัวตัวพิมพ์ได้กว้างกว่า.

เมื่อเทียบเคียงความสูงระหว่างตัวพิมพ์เล็ก (x-height) กับความสูงของปลาย ascender จากเส้นฐานระหว่างฟอนต์ Antique Olive กับฟอนต์ในกลุ่ม Neo-Grotesque ด้วยกัน (เช่น Helvetica, Univers ฯลฯ) จะพบความแตกต่างอย่างชัดเจน กล่าวคือ x-height ของ Antique Olive จะสูงเป็นพิเศษ. นั่นหมายถึงหาง ascender จะดูสั้นกว่าเพื่อนในกลุ่ม Neo-Grotesque ด้วยกัน. ลักษณะดังกล่าวทําให้ Antique Olive เหมาะที่จะใช้เป็นตัวพาดหัวมากกว่าตัวเนื้อ.

เปรียบเทียบที่ขนาดความสูง ascender เท่าๆกัน X ของ Antique Olive จะสูงที่สุด

การกระชับพื้นที่แนวตั้งเพื่อให้ได้ความแน่นของมวล ตัวพิมพ์ที่ Roger Excoffon ออกแบบไว้ ทําให้ Antique Olive ถูกใช้เป็นดิสเพลย์โฆษณาอย่างกว้างขวางในยุคสมัยของมัน. นอกจากจะเป็นฟอนท์ที่ประหยัดที่ใช้พื้นที่แนวตั้งได้เต็มตาแล้ว มันยังดูหนักแน่นเด็ดขาดมากเมื่อเลือกใช้ที่น้ําหนักเส้นเข้มๆ. นี่อาจเป็นเหตุผลที่ อ.มานพ เริ่มต้นแปลง Antique Olive เป็นไทยจากตัวที่มีมวลแน่นสุด คือ Antique Olive Compact!

Olive ในสไตล์ของ อ.มานพ นั้น นอกจากจะออกมาดูหนักแน่นเด็ดขาดไม่แพ้ต้นแบบฝรั่งแล้ว สิ่งสําคัญที่ อ.มานพ ‘สลัก’ ไว้ คือความเป็นไทย ในขณะที่นักออกแบบตัวดิสเพลย์ไทยยุคหลังพยายามทําตัวไทยให้เป็นฝรั่งจนเกินความพอดี (บางฟอนต์ DB ที่ผมออกแบบก็เข้าข่ายที่ว่านี้ ขอตําหนิ ตัวเองเล็กน้อย!) เพื่อเป็นการยืนยันสิ่งที่ผมพูดให้สังเกตดูได้ ดังนี้

  • ก และอักษรคล้าย ก ทุกตัว จะมีรอยหยักของปากชัดเจน
  • ค, ด มีหัวและคอ ชัดเจนแบบไทย (ลําตัวจึงต้องผายออกกว้างกว่าตัวปรกติ)
  • ผ, พ มีหัวชัดเจน เพื่อให้แยกแยะออกจากกันได้ง่าย
  • น และอักษรที่มีขมวดคล้ายกัน จะสังเกตเส้นโค้งล่างที่ลากเกินล้ำเส้นหลังออกไป ทําให้สังเกตขมวดม้วนได้ง่ายและดูต่างจากตัว บ ชัดเจนขึ้น อีกทั้งมีส่วนหัวที่โค้งออกจากลําตัวเล็กน้อย ทําให้ไม่สับสนกับตัวพิมพ์เล็ก u เหมือนกับ ฟอนต์ไทยเสมือนโรมันทั่วๆ ไป.
  • ท ดูไม่สับสนเป็นตัวพิมพ์เล็ก n เพราะมีหัวลดรูป ที่พอสังเกตได้เหมือนตัว น.
  • ไ มีหยักชัดเจนต่างจาก ใ มาก

ส่วนตัวอักษรอื่นๆ อ.มานพ ทําไปตามมาตรฐาน เช่น ว คล้ายๆ ตัวพิมพ์เล็ก c และ ร มาจากตัวพิมพ์เล็ก s เป็นต้น. ความจริงแล้ว อ.มานพ เคยเล่าให้ผมฟังว่า เดิมเคยออกแบบตัว ร ที่ไม่เหมือนตัว s ฝรั่งให้คนเลือกใช้ในตัวอักษรลอก Manoptica แล้ว แต่คนไม่นิยม ทําให้ ร ของตัวเสมือน Antique Olive นี้ยังเลือกใช้แบบที่เหมือนตัว s อยู่ แต่เมื่อลองพิมพ์ตัวย่อของคํา ‘พระราชบัญญัติ’ หรือ พรบ ด้วยฟอนต์นี้ดูจะพบว่าอ่านง่ายกว่าฟอนต์ดิสเพลย์ไทยเสมือนโรมันอีกหลายๆ ตัว (ซึ่งดูเหมือน ดับเบิ้ลยู เอส ยู ไปโน่น!) เป็นเพราะหัวตัว พ และ บ มันช่วยไว้นั่นเอง.

อ.มานพ ทําฟอนต์ไทยแบบ Antique Olive ไว้เพียงตัวหนาและตัวที่ยึดความหนาของเส้นตั้งเป็น PostScript Font และมอบสิทธิ์ให้ผมนําไปพัฒนาต่อเป็น OpenType พร้อมกับฟอนต์แบบอื่นๆ อีก 6 แบบ รวมเป็น 7 แบบ. ในจํานวนทั้งหมดนี้ ผมเห็นว่า Manopolive Bold เป็นสมบัติล้ำค่าที่อาจารย์ฝากฝีมือทิ้งทวนก่อนเกษียณไว้ให้วงการออกแบบเลยทีเดียว เพราะมันเด็ดขาดโดนใจกว่าตัวอื่นๆ และดีเกินกว่าที่จะมีเพียง 2 น้ําหนัก. ภาระของ DB คือการเติม 3 น้ําหนัก คือ Medium, Regular และ Light โดยค่อยๆ ลดน้ําหนักเส้นลงไปจากต้นแบบที่ อ.มานพ ทําไว้. มันยากเพียงไรคนที่เคยทําฟอนต์ย่อมรู้ดี เพราะโดยปรกติจะทําจากตัว Regular หรือ Medium แล้ว ขยายขึ้นลงจนครอบคลุมน้ําหนักที่ต้องการได้ครบ.

เพราะเห็นว่าทาง DB มีผลงานฟอนต์ไทยเป็นมาตรฐานในตลาดมากพอ อ.มานพเลยวางใจให้ผมแก้ไขได้ทุกรายละเอียดอย่างเต็มที่ ซึ่งผมถือว่าเป็นการได้รับเกียรติอย่างสูงยิ่ง. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมแก้ไขอย่างมากกลับไม่ใช่รูปอักษร แต่เป็นชื่อฟอนต์ที่ผมได้รับมาทั้งหมด! อย่างตัว ที่คล้าย Antique Olive ผมให้ชื่อใหม่ว่า DB Manopolive เลียนแบบ Manoptica แผ่นอักษรลอกชุดแรกของไทยที่ฝรั่งเป็นคนตั้งชื่อให้ (ฟอนต์แบบอื่นที่เหลือก็ขึ้นต้นด้วย DB Manop แทบทั้งหมด). ส่วนรูปอักษรของ Manoptica Bold และ Extra Bold ที่อาจารย์ทําไว้ ผมแทบไม่ได้แตะต้องอะไรนอกจากลดระดับหยักของ ผ, ฝ ให้ต่ำกว่าหัวเล็กน้อยเพื่อให้ดูต่างจาก พ, ฟ ได้ง่ายในขนาดพอยท์เล็กๆ (หรือพอยท์ใหญ่ๆ ก็ตามที่ต้องอ่านจากระยะไกลๆ) และลดความกว้างของสระ า ลงเพียงเล็กน้อยเพื่อลดความว่างให้ดูหนักแน่นขึ้น ส่วนตัวเลขไทย ผมช่วยออกแบบให้ใหม่ทั้งหมด. จุดเด่นของเลขไทยชุดนี้อยู่ที่การทดลองลดรูปหางของเลข ๒ ลงให้เหลือประมาณเลข ๑ เพื่อให้มันไม่ดูกว้างเกินหน้าตัวเลขอื่นๆ. เลข ๒ แบบนี้ผมได้อิทธิพลมาจากเลข ๒ ของ DB ChokeChai ที่แกะแบบมาจากฝีแปรงของ ‘คณะช่าง’ ที่เขียนกวาดหางลงแทนการงอขึ้นบนเหมือนเลข ๒ ทั่วๆ ไป.

อักษรโรมันของ DB Manopolive เตี้ยกว่า Antique Olive เมื่อเทียบในขนาดพอยท์เดียวกัน

เนื่องจาก Antique Olive เป็นฟอนต์ที่น้ําหนัก Compact ของมันมีตัวพิมพ์เล็กแตกต่างไปจากน้ําหนัก Regular พอสมควร (เช่น a, u เป็นต้น) ดังนั้น การนําฟอนต์อักษรไทยพร้อมโรมันใน DB Manopolive Bold ซึ่งทํามาจาก Antique Olive Compact มาลด น้ําหนักลงพร้อมๆ กันไปทั้งชุด จึงมีผลให้ตัวพิมพ์เล็กใน DB Manopolive Light, Regular ใหม่ที่ได้ดูแตกต่าง ไปจาก Antique Olive Regular ของเดิมๆ ไปด้วยพอสมควร. นักออกแบบที่ต้องการอักษรโรมันแบบ Antique Olive ทั้งชุดแท้ๆ จึงควรหาซื้อใหม่ ไม่สามารถนําอักษรโรมันของ DB Manopolive ทั้ง family ไปใช้ได้ อย่าลืมว่า ถ้าคุณนําอักษรโรมันจากฟอนต์ DB ไปใช้ร่วมกับ ฟอนต์โรมันทั่วๆ ไปในขนาดพอยท์เดียวกัน คุณจะได้ตัวพิมพ์ขนาดเล็กกว่า นั่นเพราะมันถูกลดสเกลลงไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง.

หากเหลียวหลังย้อนกลับไปอ่านปี ค.ศ. ที่ Antique Olive ถือกําเนิด ประกอบกันกับชื่อที่มี Antique กํากับความเก่าเข้าด้วยแล้ว บางคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า DB Manopolive จะได้รับความนิยมมากน้อยเพียงไร. ผมเองที่เคยให้นิยามตัวพิมพ์ว่าเป็น “เสียงชนิดเงียบ” ยังเชื่อในความเด็ดขาดของ DB Manopolive Bold ของ อ.มานพ ว่าสามารถใช้สะกดกลุ่มเป้าหมายให้อ่านพาดหัวโฆษณาได้อย่างชะงัด

นิยามของ DB Manopolive ที่โดนที่สุด คือ ‘คําสั่งชนิดเงียบ’ ครับ

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ March 2011