DB KingKaan

อ.มานพ ศรีสมพร มีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะผู้บุกเบิกตัวพาดหัวไทยเชิงอุตสาหกรรม แต่หลายคนคงไม่รู้ว่าท่านมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ตัวเนื้อยุคตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วหลายตัวให้กลับมาเป็นตัวคอมพิว (เรียกตามเครื่องออกเอาท์พุทที่ชื่อ Compugraphic) ให้คนไทยได้ใช้ รวมถึงตัวคอมพิว ‘อู่ทอง’ ซึ่งเป็นผลงานออกแบบชิ้นใหม่ของอาจารย์เอง.

ไม่เพียงแค่นั้น ในช่วงที่เทคโนโลยี prepress เปลี่ยนจากฟอนต์แบบ photo-typesetting หรือ ตัวคอมพิวที่เรียงพิมพ์ด้วยแสง มาเป็นฟอนต์แบบ PostScript ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ อ.มานพ ก็ยังเป็นกระบี่มือหนึ่งที่อนุรักษ์ตัวพิมพ์ในเทคโนโลยีเก่าให้ฟื้นชีพกลับมาใช้งานต่อได้อีก (ฟอนต์ตระกูล EAC เช่น EAC TomLight). จากประสบการณ์ที่อยู่เบื้องหลังตัวเนื้อมากมายในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ อ.มานพ จะกลับมา ทําตัวเนื้อไทยได้ดีอย่าง ‘กิ่งกาญจน์ ที่ผมกําลังจะ กล่าวถึงต่อไป.

DB KingKaan เดิมเป็น 1 ใน 7 แบบตัวพิมพ์ที่ อ.มานพ ออกแบบทิ้งทวนไว้เป็น PostScript และเป็นตัวเนื้อเพียงแบบเดียว นอกนั้นเป็นตัวดิสเพลย์. ครั้งแรกที่เห็นฟอนต์นี้ในขนาดตัวพิมพ์โตๆ เท่ากับฟอนต์ดิสเพลย์อื่นอีก 6 แบบนั้น ผมรู้สึกเฉยๆ มองไม่ออกว่าฟอนต์ไทย ที่เต็มไปด้วยเส้นกิ่งงอกที่ฐาน แถมปลายเส้นตั้งยังบิดโค้งงอเยี่ยงนี้จะเป็นตัวเนื้อที่ดีได้ยังไง แต่พอลองพิมพ์ที่ตัวขนาด 14 พอยท์ เป็นเนื้อความดู ผมต้องเปลี่ยนความคิด! ยิ่งพอลองได้อ่านไปซักพัก ผมรู้สึกได้เลยว่านี่คือตัวเนื้อที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย. เหตุผลที่ฟันธงเช่นนั้น เพราะผมแทบไม่รู้สึกถึงจริตที่ อ.มานพ ใส่ไว้. ที่ขนาดพอยท์เล็กๆ มันยังดูเป็นกลางมาก. เมื่ออ่านไปนานๆ เราแทบไม่รู้สึกเลยว่ากําลังอ่านบทความที่พิมพ์ด้วยฟอนต์อะไร หน้าตาเป็นอย่างไร ใจมันจดจ่ออยู่แต่เนื้อหาเท่านั้น นี่คือคุณสมบัติสําคัญของตัวเนื้อที่ดีนั่นเอง.

ลักษณะทั่วๆ ไปของ DB KingKaan คือเป็นฟอนต์ตัวเนื้อหัวกลมที่มีเส้นแบบสม่ำเสมอ ต้นแบบถูกทําเป็น PostScript ไว้ถึง 3 น้ําหนัก คือ ตัวบาง (ที่ผมใช้ทดสอบอ่านเป็นตัวเนื้อความ) ตัวกลาง และตัวหนา พร้อมชุดอักษรโรมันแบบ slab serif ที่อาจารย์ทําขึ้นมาเอง. เมื่อ DB ได้รับไม้ต่อจากท่านมาทําเป็น OpenType นั้น เกือบไม่เหลืออะไรให้ต้องทําแล้ว นอกจากการขยายพื้นที่ว่างภายในให้รูปอักษรบางตัวดูโปร่งขึ้นเท่านั้น ลักษณะพิเศษที่บ่งบอกความเป็น ‘กิ่งกาญจน์’ พอสรุปได้ 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก กิ่งกาญจน์มีเส้นกิ่งที่ฐานอักษร ทั้งพวกฐานแคบ เช่น ข, ช และพวกฐานกว้าง เช่น บ, ป, ธ รวมถึงพวก น, ฉ, ณ ซึ่งปรกติในตัวพิมพ์มาตรฐานอื่นๆ ไม่มีกิ่ง ก็ยังมีกิ่งในฟอนต์นี้ และแม้แต่ พ (ฟ, ฬ) และ ห ซึ่งฝืนเกินไปที่จะใส่เส้นกิ่ง ก็ยังทิ้งโค้งเลยแนวเส้นหน้าเล็กน้อยล้อกับปลายเส้นกิ่งของอักษรตัวอื่นๆ ที่ยื่นออกไปเหมือนปลายเท้าที่เลยลําตัวออกไป.

ประการที่สอง เส้นหลังของตัวอักษรทุกตัวที่เขียนจากเส้นฐานตั้งฉากขึ้นไปจะมีการบิดปลายโค้งไปด้านหลังเล็กน้อย เช่นตัวที่ใช้งานบ่อยๆ คือ น, บ, ม, ย รวมทั้งสระ เอ, แอ ด้วย.

ประการสุดท้าย เส้นโค้งบนทุกเส้น เช่นตัว จ, ร, ว, อ จะถูกตัดปลายเส้นในแนวเฉียงเช่นเดียวกับปลายหางที่เส้นตั้งของกลุ่ม ข, บ, ย ฯลฯ ทําให้ดูอ่อนหวานแบบไทยๆ.

ส่วนเคล็ดลับที่ทําให้ ‘กิ่งกาญจน์’ อ่านสบาย ประการที่หนึ่งคือ อ.มานพ ซ่อนจริตไว้แต่พองาม เวลาใช้จึงดูไม่จัดจ้านเกินไปอย่างฟอนต์ตัวเนื้อไทยส่วนใหญ่ที่ได้จากการประกวด. ประการที่ 2 คือช่องไฟที่อาจารย์ทําไว้โปร่งสบายทั้งแนวนอน (ระหว่างตัวพยัญชนะที่ตั้งบน เส้นฐาน) และแนวตั้ง (ระหว่างสระบน, วรรณยุกต์กับตัวพยัญชนะ).

ถ้าสังเกตรายละเอียดของเส้นกิ่งที่ อ.มานพ ทําไว้ในชุดอักษรไทยของกิ่งกาญจน์ จะมีส่วนโค้งเชื่อมกับเส้นหน้า ไม่ได้ชนฉากกันที่อๆ แบบตัว slab serif ในชุดอักษรโรมัน จึงแฝงความอ่อนช้อยอย่างไทยไว้. ถ้าลองพิจารณาตัว ข (ช) และ ล (ส) ที่ได้อิทธิพลมาจากชุดอักษรลอก ‘กริน 2’ ของสยามวาลาในอดีต ก็ดูเป็นไทยมากๆ เพียงแต่ ข, ล ของกิ่งกาญจน์ได้ลบจริตแหลมส่วนเส้นหักกลับของหัว ข และส่วนหักของเส้นกลางตัว ล ออกให้ดูโค้งมนเล็กน้อย ขณะฟอนต์ DB Surawong ยังคงจริตแหลมที่ ข, ล ตามต้นแบบกริน 2 อยู่.

แบบอักษรลอก ‘กริน 2’ จาก ‘แบบอักษรไทย McCanorma’

สําหรับผมแล้ว คิดไม่ถึงเลยว่า slab Serif แบบฝรั่ง กับจริตพริ้วไหวแบบไทยๆ จะมารวมกันในฟอนต์ตัวเนื้อไทยได้ แต่สําหรับ ‘มานพ ศรีสมพร’ แล้ว ไม่เพียงแค่จินตนาการไปได้ถึง แต่ลงมือทําให้พวกเราได้เห็นแล้วว่ามันเข้ากันได้กับอักษรโรมันแบบ slab serif อย่างเนียนทีเดียว.

DB KingKaan เป็นเพียงชื่อเดียวในบรรดาฟอนต์ลิขสิทธิ์ร่วม อ.มานพ-DB ที่ผมไม่ได้ตั้งชื่อขึ้นต้นว่า DB Manop.... เพราะคําว่า ‘มานพ’ แปลว่า ‘ชายหนุ่ม’ ซึ่งไม่เหมาะกับความหวานที่ซ่อนอยู่. จะชื่อ ‘กิ่งทอง’ ก็ฟังดูแข็งไป จึงมาลงเอยที่ ‘กิ่งกาญจน์’ หวานกว่า. กิ่ง หมายถึงแบบตัวพิมพ์ที่มีเส้นกิ่งมากที่สุดเป็นลักษณะเด่น และกาญจน์แปลว่าทอง หมายถึงมีคุณค่าประดุจทองซึ่งคงไม่เป็นการเกินเลยไปสําหรับผลงานระดับอาจารย์ที่ค่อนชีวิตอยู่กับงานประดิษฐ์ตัวอักษร.

ถ้าเปรียบ อ.มานพ เป็นต้นไม้ใหญ่ กิ่งกาญจน์ คืออีกหนึ่งกิ่งก้านที่เติมเต็มต้นมานพให้สมบูรณ์.

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ April 2011