ในบรรดาฟอนต์ตระกูล DB ยุคแรกๆ ที่เป็น PostScript มีเพียงไม่กี่ตัวที่ผมไม่ได้ออกแบบและไม่ได้ควบคุมการผลิตด้วยตัวเอง หนึ่งในจํานวนนั้นคือ ฟอนต์ไทยแบบมี serif ชื่อ DB Lumpini คุณสุรพล เวสารัชเวศย์ ตั้งชื่อให้ดูคล้ายๆ Bodoni ฟอนท์ต้นแบบ. เพราะความประณีตของ DB Lumpini ยังห่างไกล Bodoni มาก ผมจึงไม่นํากลับมาผลิตจําหน่ายเป็น Opentype. JS PumPuang ฟอนต์ PostScript ที่เกิดยุคเดียวกับ DB Lumpini มีส่วนคล้ายคลึงกันมาก ไม่รู้ฟอนต์ไหนเกิดก่อน และไม่รู้จะถามใครเพราะทั้งคุณสุรพล เพื่อนผม และคุณแสวง ตันติราพันธ์ (ผู้ออกแบบ US PumPaung) ที่ผมเคยรู้จัก ล้วนเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควรอย่างน่าเสียดาย... เหมือนกับราชินีเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง แต่ฟอนต์ชื่อ ‘พุ่มพวง’ ก็ยังเห็นใช้กันอยู่!
ยังมีฟอนต์ serif ของฝรั่งที่มีส่วนคล้าย Bodoni อยู่ไม่น้อย นั่นคือ Century. นอกจากมันจะมีเส้นแนวระดับค่อนข้างบาง คล้าย Bodoni แล้ว ปลาย serif ในตัวพิมพ์เล็กของมันยังถูกจัดระเบียบให้อยู่แนวระดับเหมือน Bodoni ด้วย. ความแตกต่างอยู่ตรงที่ Bodoni มีเส้นแนวระดับที่บางจัด ตัดกับเส้นตั้งที่หนาอย่างเห็นได้ชัดกว่า และ Bodoni มีเส้นแนวตั้งหนาชนได้ฉากกับเส้น serif บางๆ ขณะที่ Century ยังคงมีโค้งเชื่อมต่อกับ serif เล็กน้อย (เหมือนฟอนต์ serif ยุคโบราณ). Century จึงมีบุคลิกก้ำกึ่งระหว่างทันสมัย เรียบง่ายแบบ Bodoni และประณีตยึดขนบแบบฟอนท์ serif ยุคต้นๆ.
ถ้าย้อนดูประวัติของ Century จะพบว่าเคยเกาะกลุ่มฟอนต์ยอดนิยมของวงการโฆษณาอเมริกันในปี ค.ศ.1952 ร่วมกับ Bodoni และ Futura. Century ยุคแรกๆ มีชื่อเต็มว่า Century Scoolbook เป็นผลงานของ Morris Fuller Benton ในปี ค.ศ. 1924. ถ้าลองเทียบตัวอักษรของ Century Scoolbook ทั้งชุดดูกับ Bodoni ต้นแบบของ Giambattista Bodoni (1740-1813) จะเห็นว่าใกล้เคียงกันมากเกินกว่าจะเป็นความบังเอิญ ทําให้ผมเชื่อว่า Bodoni น่าจะมีอิทธิพลต่อการออกแบบ Century Scoolbook. ชื่อลงท้าย Scoolbook ฟังดูก็รู้สึกว่ามันเกิดมาเป็น text ทําตําราเรียน! พอเข้าสู่ยุคโฆษณาเฟื่องฟู ชื่อนี้คงขายไม่ได้ มันถูกออกแบบใหม่ ภายใต้ชื่อใหม่ที่ตัดเหลือแค่ Century เฉยๆ, Century ใหม่พิถีพิถันขึ้น โดยเฉพาะชุดตัวเอนของมัน ได้เปลี่ยนส่วนบนของตัวพิมพ์เล็กเป็นเส้นตวัดโค้งเหมือนเส้นปลายที่อยู่บนฐาน. การออกแบบที่เลียนตัวเขียนเส้นต่อเนื่องอย่างปากกาคอแร้งนั้น ทําให้ Century Italic ดูกรุยกรายไฮโซกว่าตัวปรกติขึ้นไปอีก เหมือนมี 2 ร่าง 2 อารมณ์ซ้อนอยู่ในคนคนเดียวกัน.
โดยทั่วไปแล้ว ตัวพิมพ์เล็กของฟอนต์แบบมี serif จะมีชุดตัวเอนหน้าตาแตกต่างไปจากตัวปรกติ (ตัวที่เห็นได้บ่อยคือ a, g เป็นต้น) ขณะที่ฟอนต์ดิสเพลย์ที่ทํามาจากตัว serif ของฝรั่งนั้น โดยมากแล้วตัวเอนของมันทําโดยตรงจากตัวตั้งปรกติด้วยวิธีใช้คําสั่งเอนโดยมีองศากํากับ, นี่ยิ่งทําให้ Century เป็นฟอนต์ที่สมควรถูกแปลงเป็นตัวดิสเพลย์ไทยทั้ง regular และ italic เพื่อเพิ่มความแตกต่างจากฟอนต์ไทย กลุ่ม serif ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า เป็นทางเลือกใหม่สําหรับนักออกแบบไทย.
ในบรรดาตัวอักษรประดิษฐ์ไทยที่เลียนแบบตัว serif เท่าที่เคยมีมา ผมประทับใจ Thai Souvenir ของ Boy Santos มากที่สุด เพราะนอกจากจะสวยแล้วก็ยังอ่านง่าย. คุณบอยออกแบบไว้ตอนแรกเพียงน้ําหนักเคียวคือตัวหนาสุด แต่ทนเสียงรบเร้าผมไม่ไหวจนต้องมาช่วยขยายเป็น 3 น้ําหนัก พร้อมตัวเอน (กลายเป็น DB Suvanni อยู่ใน DB#9). และด้วยความที่คุณบอยจากฟิลิปปินส์มาทํางานอยู่เอเจนซี่โฆษณาในเมืองไทยใหม่ๆ ไม่เชี่ยวชาญภาษาไทย การประดิษฐ์ชุดอักษรไทยจากอักษรโรมันที่เขาคุ้นเคยจึงไม่ใช่ง่าย. ขณะที่นักออกแบบคนไทยแท้ๆ มักจะให้ ก มี serif ทั้งขาหน้าขาหลัง (แบบตัว H) แล้วเลือกใช้วิธีลบ serif ที่ขาหน้าตัว ก ทีละฝั่ง เพื่อให้กลายเป็นตัว ถ และ ภ ตามลําดับนั้น คุณบอยกลับทําสิ่งที่แตกต่าง โดยการเปลี่ยนเส้นหน้าให้โค้งงอเข้าหาลําตัว ให้ดูเป็นหัวตัว ถ และเปลี่ยน serif ขาหน้า จากเส้นนอนเป็นยกปลายเชิดขึ้นจากเส้นฐานไปด้านหน้าเป็นหัวตัว ภ. การออกแบบด้วยความเคารพเจ้าของภาษา กลับช่วยทําให้ ก-ถ-ภ ของคุณบอยแยกแยะจากกันได้ง่าย. คนใฝ่เรียนรู้อย่างคุณบอย ในที่สุดก็สามารถเปลี่ยน ‘ความไม่รู้’ เป็นองค์ความรู้ใหม่จนได้!
ถ้าจะว่าไปอย่างไม่อายแล้ว ปัญหากลุ่มสับสน ก-ถ-ภ ในฟอนต์ของ DB ก็มี คือ DB Lumpini (ที่ไม่ได้นํามาจําหน่าย) และ DB Sharp (อยู่ใน DB#2 ที่เป็นความ รับผิดชอบของผมแต่เพียงผู้เดียว!) หรือแม้แต่ตัวที่นิยมใช้ กันมากอย่าง PSL Siara ก็เหมือนกัน ถ้าเอา 3 ฟอนต์นี้ มาพิมพ์ชื่อบริษัท ‘เสียงไถ่’ คนจะอ่านผิดเป็น ‘เสียงไก่’ เอาได้!
เมื่อลงมือแปลง Century เป็นฟอนต์ไทย ผมไม่รู้จะแปลงชื่อเป็นอะไรดี เลยใช้ DB Satawus อ่านว่า ‘ศตวรรษ’ แปลจาก 'Century' เอาดื้อๆ เพื่อแสดงความเคารพถึงที่มาของมัน. วิธีการจัดการกับ ก-ถ-ภ ใน DB Satawus ผมก็ได้ยึดถือตัว Thai Souvenir อ้วนๆ ของคุณบอยเป็นฟอนต์ครู ซึ่งต้องกล่าวถึงเพื่อแสดงความเคารพด้วยเช่นกัน. รายละเอียดอื่นๆ ของการออกแบบ DB Satawus ที่น่าบันทึกไว้มีดังนี้
- ก ปากของมันยืมจากฟอนต์ตัวเนื้อไทยตระกูล ฝ.ศ. มาปรับใช้
- ข งอหัวให้เห็นเด่นชัดให้ดูต่างจากตัว บ.
- ง เป็นแบบหลังตรง แทนแบบหลังงอโค้ง ซึ่งมีโอกาส สับสนกับ จ.
- ผ-พ แตกต่างกันชัดเจนเหมือน Thai Souvenir ของคุณบอย. ตัว ผ หัวหุ้มเข้า มุมหยักกลางตัวอยู่ในแนวต่ำ ส่วน พ มีหัวลากเฉียงไปข้างหน้าพอสังเกตเป็นหัวได้ และมุม หยักกลางตัวสูงเท่าปลายหาง.
- น-ท เลือก serif แบบ 2 กิ่งที่ขาหลังด้านบนของ น และขาล่างของ ท ตามลําดับ เพื่อให้ดูต่างจาก u และ n ของ Century ที่มีขาหลังแบบปลายเดียว.
- ร-ว เลือกหัวแบบ ‘ทองหยอด’ เหมือน drop terminal ของตัว a,c ฯลฯ ในฟอนต์ Century.
- ห เลือกใช้ขมวดม้วนแบบทองหยอด เพื่อรักษาลักษณะเฉพาะของ drop แบบ Century เอาไว้ให้เพียงพอ
สําหรับตัวเอนไทยของ DB Satawus สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากตัวปรกติอย่างเห็นได้ชัดคือ หัวและหางบางตัวเป็นเส้นโค้ง เลียนแบบตัว Century Italic. ความยากสุดๆ อยู่ที่ ‘ฝืน’ เส้นหลังบางตัวจากเส้นเฉียงแบบแนวตรงๆ เป็นเฉียงแบบบิดโค้งให้อ่อนหวานเหมือนตัวต้นแบบ ความพยายามที่ใส่เข้าไปถือได้ว่าคุ้มค่า เพราะมันเปลี่ยนอารมณ์ไปจากตัวปรกติอย่างเห็นได้ชัด.
ในเวทีประกวด The Star7 เราจะเห็น Fan Club น้อง ‘นด’ ชูป้ายที่ใช้แบบอักษรไทยสไตล์ Helvetica จะอ่านว่า นท ก็ได้ หรือดูเป็นอักษรฝรั่งก็อ่านเป็น "อัน" ได้เช่นกัน. ในทํานองเดียวกันคนชื่อ ‘พร’ ในเมืองไทยมีไม่น้อยทั้งหญิงชาย. จํานวนนี้อาจใช้เป็นชื่อร้านหรือชื่อตราสินค้า ซึ่งต้องใช้ความพิถีพิถันในการเลือกฟอนต์หน่อย. ถ้าใช้ DB Sharp หรือ PSL Narissara คนอาจงงดูเป็นตัวย่อ ดั๊บเบิ้ลยู-เอส แทน! (โดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติที่เพิ่งหัดอ่านภาษาไทย).
แต่ถ้าใช้ DB Satawus รับรองว่าถึงศตวรรษหน้าก็ยัง อ่านเป็น "พอน" ได้อยู่ แม้ว่าจะติดจริตฝรั่งอยู่บ้างก็ตาม.
เอกสารอ้างอิง : • Lewis Blackwell; 20th-Century Type, 2004