DB Suvanni

Souvenir เป็นผลงานของ Ed Benguiat ในปี ค.ศ.1970. ชื่อฟอนต์ซึ่งแปลว่า ‘ของที่ระลึก’ นั้นช่างตั้งได้เหมาะสมยิ่งนัก เพราะ serif หรือขาแบบอักษรโรมันของมันให้ความรู้สึก มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมซึ่งให้มิติของการบ่มเพาะด้วยเวลา ขณะที่ลักษณะปลายมนๆ ช่วยให้มันดูเนียนตาน่าทนุถนอม. ในการสร้างสรรค์ Souvenir ขึ้นมานั้น Benguiat ไม่เพียงแค่เอาอักษรแบบมี serif ที่มีอยู่ดาษๆ มาลบปลายให้มน เพราะนั่นมันง่ายเกินไป. เคล็ดลับของเขาอยู่ที่การใส่ความโค้งเข้าไปในเส้นแนวเฉียงของตัวอักษรนําหลายตัว (เช่น A, K, V) รวมทั้งเส้นตั้งบางตัว (เช่นตัว U). ความโค้งเพียงเล็กน้อยบนเส้น (ที่เคย) ตรงเหล่านี้ เมื่อคลุกเคล้ากับปลายเส้นอักษรแบบมนจนได้ที่ มีส่วนช่วยให้ Souvenir กลมกล่อมขึ้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นฟอนต์นี้ถูกใช้กับสินค้าประเภทอาหาร.

จุดเด่นที่สังเกตได้ชัดของ Souvenir อีกประการหนึ่งคือ เส้นที่กลางตัว B, P, R ของมัน แทนที่จะชนเส้นตั้งเป็นแนวฉาก (เหมือนฟอนต์ปรกติทั่วไป) กลับปล่อยทิ้งเส้นโค้งให้เบนลงไปเล็กน้อย. ลักษณะพิเศษของ B, P, R ที่ว่านี้ถือเป็น ‘ลายเซ็น’ ของ Benguiat ที่เราจะพบได้จากฟอนต์ชื่อ ‘Benguiat’ ที่เขาออกแบบไว้เช่นกัน.

Benguiat ออกแบบ Souvenir ไว้หลายน้ําหนักอยู่ มี Light, Medium, DemiBold และสุดท้ายตัว Bold ซึ่งน้ําหนักหนาราว Futura ExtraBold. ผมเองเคยใช้ Souvenir เพียงครั้งเดียวกับงานออกแบบ literature ให้บริษัทยา (Literature ส่วนใหญ่เขาทําเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดให้คุณหมอทั้งหลายอ่าน) เพราะมันเข้ากันได้ดีกับภาพการ์ตูนที่ใช้ดําเนินเรื่อง. ส่วนตัวภาษาไทยอารมณ์แบบ Souvenir เปี๊ยบที่เป็นตัวอักษรลอกหรือตัวคอมพิวกราฟิคในยุคก่อนฟอนต์ PostScript นั้นยังไม่พบ มีแค่ตัวคอมพิวชื่อ นพรัตน์ ของอาจารย์มานพ ศรีสมพร ที่ดูคล้ายๆกัน (อ.มานพ ไม่ได้ทํานพรัตน์จาก Souvenir).

อย่างไรก็ดี เท่าที่ผมสังเกตแบบตัวอักษรซึ่งแปลกตาไปจากแผ่นอักษรลอก หรือตัวคอมพิวในช่วงนั้น (ทําเป็นนิสัย!) ยังพบตัวอักษรไทยอ้วนหนา น่ารักแบบตัว Souvenir Bold ในงานโฆษณาอยู่บ้าง ผมเพิ่งมารู้ในระยะหลังว่าเป็นแบบอักษรของ Boy Santos ที่ทําไว้ใช้ในเอเยนซี่โฆษณาที่เขาทํางานอยู่ในยุคนั้น. ช่วงที่ผมกําลังเขียนบทความฟอนต์ DB Helvethaica (ในปี พ.ศ.2551) อยู่นั้น มีความจําเป็นต้องเขียนย้อนไปถึงตัว Thai Helvetica ที่คุณบอยออกแบบไว้ ผมจึงมีโอกาสได้ติดต่อพูดคุยกับคุณบอย และพบว่าคุณบอย ออกแบบตัว Thai Souvenir อย่างหนาไว้ครบชุดนานแล้ว. ผมรู้สึกยินดีมาก เพราะสําหรับผมแล้วมันเป็นฟอนต์เสมือนโรมันที่อ้วนหนาน่ารักที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา! ผมจึงชักชวน ให้คุณบอยหาเวลาว่างทําเพิ่มอีก 2 น้ําหนัก พร้อมตัวเอน จะได้เอามาทําฟอนต์ขายกัน.

ตัว Thai Souvenir ต้นแบบที่คุณบอยทําไว้นานแล้วนั้น ยังมีค่าต่อการเรียนรู้ของนักออกแบบไทยจนถึงทุกวันนี้! เนื่องจากคุณบอยออกแบบไว้ตอนที่เพิ่งหัดอ่านเขียนภาษาไทยด้วยตัวเองใหม่ๆ ส่วนหาง ฎ ชฎา กับ ฏ ปฏัก ของ Thai Souvenir ของเขาจึงใสซื่ออ่านง่ายเอาใจคนไทยแบบสุดๆ (อันที่จริงคือป้องกันตัวเองไม่ให้หยิบไปใช้งานผิดตัว!) ต่างจาก ฎ-ฏ ของฟอนทต์สมัยนี้ที่ต่างคนต่างออกแบบละหางกันไปมากบ้างน้อยบ้าง จนคนไทยด้วยกันเองสับสนว่าตกลงมันตัวอะไรกันแน่ (วะ!) เช่นค่ายที่มีฟอนต์มากๆ อย่าง PSL และ DB นั้น ถ้าใครมีครบลองไปไล่ดูตัว ฎ-ฏ ในฟอนต์แบบตัวดิสเพลย์ทั้งหมดดู จะพบว่าหางตัว ฎ ชฎา ของบางฟอนต์ จะไปคล้ายตัว ฏ ปฏัก ฟอนต์อื่น. หรือฟอนต์ Krat ของ ‘คัดสรรดีมาก’ จะมีหางตัว ฏ ปฏัก ไปเหมือนตัว ฎ ชฎา ส่วนใหญ่ของฟอนท์ PSL และ DB เป็นต้น. ปัญหาความสับสนระหว่างอักษร 2 ตัวนี้จะมีราคาแพง เมื่อเกิดกับชื่อเฉพาะเช่นชื่อนามสกุล หรือชื่อบริษัทของผู้ว่าจ้าง. Profile บริษัทที่พิมพ์ออกมาเป็นเล่มแล้วอาจเก็บเงินไม่ได้ เมื่อคนออกแบบฟอนต์ไว้ให้อ่านเป็นตัวหนึ่ง แต่คนจ่ายตังค์กลับอ่านเป็นอีกตัวหนึ่ง! คิดดูแล้วรู้สึกอายคุณบอยเป็นบ้า ผมจึงบอกผู้ช่วยจัดการแก้ ฎ-ฏ ในบางฟอนต์ที่มีปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยใช้หลักการให้หาง ฏ ปฏัก ต้องมีหยักหรือ โค้งขึ้น 2 ครั้งประมาณตัว w (ถือเป็นการละส่วนขมวดม้วนกลม) ส่วนหาง ฎ ชฎา ให้หยักหรือโค้งขึ้นครั้งเดียวหรือแค่ลากเป็นเส้นแนวนอนให้ดูต่างไปจากตัว ฦ ก็พอ.

ในยุคที่แผ่นอักษรลอกอาละวาดในวงการออกแบบสิ่งพิมพ์ไทย เพียงคุณซื้อแผ่นอักษรลอกตัวอักษรฝรั่ง ก็สามารถคัดแปลงตัดต่อเป็นตัวอักษรไทยได้โดยอุปกรณ์ง่ายๆ แค่มีดคัตเตอร์, ที่ขูดอักษรลอก ฯลฯ. ถ้าทํา ก แบบมี serif ขึ้นมาได้ ก็จะได้ ภ และ ถ แบบง่ายๆ ลวกๆ โดยขูค serif ที่ขาหน้าออกเสียข้างหนึ่ง (ขูดในได้ ภ ขูคนอกได้ ถ). ที่ผมใช้คําว่าลวกๆ เพราะผลลัพธ์ที่ได้มันอ่านค่อนข้างยาก สับสนกันเมื่อต้องดูระยะไกลๆ หรือย่อใช้ที่ขนาดเล็กๆ Thai Souvenir ของคุณบอยซึ่งมี serif เช่นกันกลับไม่มีปัญหาดังกล่าว เพราะคุณบอยใช้วิธีเปลี่ยนขาหน้าไปเลย คือ สําหรับ ตัว ภ จะพลิกหัวตัวพิมพ์เล็ก u กลับลงมาใช้ (แนวทางเดียว กับที่ อ.มานพ นิยมใช้) ส่วนตัว ถ จะเปลี่ยนเส้นหน้าให้โค้งดูต่างจาก ก ไปเลย แล้วเน้นหัวเล็กน้อยด้วยปลายยกเฉียง.

ช่วงที่คุณบอยกําลังออกแบบ Thai Souvenir อยู่นั้น ชุดตัวไทยเสมือนโรมันที่ออกแบบโดยคนไทยจะมีอักษร จ อยู่ 2 แบบ คือแบบหลังโค้ง (เหมือนตัว อ ที่ได้รับอิทธิพล มาจากตัว e) และแบบหลังตรง. แต่ ของ Thai Souvenir เป็นแบบที่ 3 คือหลังเฉียง (เหมือนตัว V) และปล่อยให้ อ ของมันหลังโค้งแตกต่างกัน ทําให้อ่านได้ง่ายกว่า. เส้นหน้าโค้งในตัว ถ และเส้นหลังเฉียงในตัว จ ถือเป็น ‘ลายเซ็น’ ของคุณบอยที่พบได้ใน Thai Helvetica ของเขาเช่นกัน.

น้ําหนัก Thai Souvenir ที่เราตกลงจะทําเพิ่มคือ ทําประมาณตัว Souvenir Light และ Medium ของฝรั่ง
ตัว Light ของมันหนาพอจะเป็น Regular ของไทยได้ และตัว Medium เส้นก็เข้มพอจะเป็น Bold ของไทยได้. ส่วนตัว Thai Souvenir อ้วนๆ ต้นแบบ (ที่ทํามาจาก Souvenir Bold) ดูยังไงๆ ก็ไม่น่าจะหนาไปกว่านี้ได้แล้วจึงให้เป็น ExtraBold แทนที่จะเป็น Bold. ผมให้ชื่อฟอนต์ใหม่ชุดนี้ว่า DB Suvanni ด้วยเหตุผลว่ามันออกเสียงคล้ายๆ กัน และสุวรรณีฟังดูเป็นชื่อผู้หญิงซึ่งเหมาะกับบุคลิกของฟอนต์, ชุดอักษรใหม่จึงเป็น DB Suvanni (Regular), DB Suvanni Bold, DB Suvanni ExtraBold.

วิธีการของคุณบอยในการทํา 2 น้ําหนักที่เหลือนั้นไม่ได้ยึดรูปอักษร (glyph) จาก DB Suvanni ExtraBold อย่างตายตัว. ตัวอย่างเช่น มุมที่ขาหน้าตัว ค, ด ของ DB Suvanni จะโค้งมนไม่เห็นแนวเส้นนอนเป็นเส้นตรง (เสมอกับแนวเส้นฐาน) อย่าง ค,ด ใน DB Suvanni Bold และ ExtraBold. หรือขมวดม้วนตัว ห ของน้ําหนักตัวปรกติ ก็จะมีเส้นยื่นโค้งออกไป แทนที่จะเป็นแค่เม็ดกลมๆ แบบ ห ตัวที่หนากว่า นี่เป็นความจงใจขั้นเทพมิใช่ความเผอเรอประสามือสมัครเล่น.

ในเรื่องช่องไฟระหว่างตัวอักษรนั้น DB Suvanni ExtraBold ยังคงจัดช่องไฟให้ชิคๆ อย่างที่คุณบอยเคยใช้ ส่วนอีก 2 น้ําหนักที่ทําขึ้นใหม่ ผมตั้งใจให้มันหลวมขึ้นกว่า Souvenir ต้นตํารับ เพื่อชดเชยให้นักออกแบบไทยจํานวนไม่น้อยที่ชอบใช้ตัวดิสเพลย์ไทยในขนาดเล็กๆ (จะได้ไม่ติดกัน เป็นแผงจนอ่านไม่ออก!). ตัวอักษรโรมันเดิมถูกปรับสัดส่วน เพิ่มช่องไฟใหม่ให้เข้ากับตัวไทย อีกทั้งของเดิมบางตัวที่ผมยังรู้สึกขัดตา เช่น เส้นหางของตัว t เพิ่มที่แบนราบไปกับฐาน ได้ถูกปรับให้โค้งเล็กน้อยเพิ่มความนุ่มนวลขึ้น เป็นต้น.

คุณบอยจากฟิลิปปินส์บ้านเกิดมาทํางานอยู่เมืองไทย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 จนกลายเป็นคนไทยไปแล้ว แต่ก็ยังสื่อสารด้วยภาษาไทยไม่คล่องเท่าใช้ภาษาอังกฤษ. คุณบอยยังคงมีข้อดีเหมือนฝรั่งอยู่อย่างหนึ่งคือการจดบันทึก เห็นได้ จากแบบอักษรทุกชุดที่ทําเสร็จแล้วจะพิมพ์วันที่ระบุไว้ทุกครั้ง. เช่นเดียวกัน เมื่อผมโทรถามคุณบอยว่าทําเจ้า Thai Souvenir อ้วนๆ ต้นแบบเสร็จมาตั้งแต่ ค.ศ.ไหน คุณบอยกลับไปตรวจสอบไม่นานแล้วส่ง SMS กลับมาว่า "Dec 25, 1975 - date of Souvenir in Thai by Boy Santos" ตรงกับวัน คริสต์มาสปีนั้นพอดี!

DB Suvanni จึงเสมือนของระลึกจากคริสต์มาสปี 1975 ที่คุณบอยอุตส่าห์เก็บไว้. ของระลึกหรือที่ฝรั่งเรียก Souvenir นั้น ส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้เฉยๆ แต่ DB Suvanni คือของระลึกที่มีไว้ใช้...

เพราะมันดีเกินกว่าจะปล่อยให้อยู่บนกระดาษแผ่นเดียว.
 

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ June 2011