ฟอนต์ฝรั่งกลุ่ม sans serif (ไม่มีขา) ที่มีน้ําหนักแบบสม่ำเสมอนั้นมีพัฒนาการมายาวนานจนแทบจะหมดมุขเลยก็ว่าได้. ตัวอย่างที่ลงตัวขั้นเทพไปแล้ว ได้แก่ พวกกลมเกลี้ยงอย่าง Futura, พวกทรงสี่เหลี่ยมมุมมนแบบ Eurostile, หรือ พวกเรียบง่ายดูกลางๆ อย่าง Helvetica เป็นต้น การจะออกแบบอะไรให้มีบุคลิกฉีกไปจากนี้โดยที่คนยังอ่านได้สบาย ไม่ขัดเคืองตาจึงเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ทว่ายังคงท้าทายนักออกแบบตัวพิมพ์มืออาชีพเสมอ.
นอกจาก FF Meta (ฟอนต์ต้นแบบของ DB Moment) ที่สามารถซ่อนความประณีตพิถีพิถันด้วยปลายเส้นแนวตั้งที่ตัดเฉียงและบิดเบนเล็กน้อยแล้ว ยังมีฟอนต์อีกกลุ่มหนึ่งที่หันมาตัดแต่งน้ําหนักเส้นแบบสม่ำเสมอที่เคยพบในฟอนต์มาตรฐานทั่วไป ให้น้ําหนักเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตร. Apex New ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของความสําเร็จนี้.
ถ้าลองพิจารณาตัวพิมพ์เล็กของ Apex New เราจะพบเห็นการบีบเส้นล่างของตัว u จากเส้นโค้งเป็นเหยียดแหลมตรงโดยมีมุมยกจากเส้นฐานเพียงเล็กน้อยดูคล้ายปีกนก (พบได้ในตัว m, n และ h เช่นกัน). เราจะสังเกตเห็นการบากเส้นตรงเล็กๆ น้อยๆ กระจายอยู่ทั้งในแนวตั้งและแนวระดับ, แนวตั้งได้แก่ที่หัวเส้นหน้าของ n, p และที่ปลายล่างเส้นหลังของ d, u, ส่วนแนวระดับได้แก่รอยบากที่ด้านหลังขีดตัว f, t ที่ดูคล้ายภาพตัดขวาง (cross section) ของปีกเครื่องบิน. เมื่อรวมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว มีผลทําให้แบบตัวพิมพ์ที่ดูเรียบๆ ชุดนี้ สามารถเผยบุคลิกแห่งความทะเยอทะยานออกมาได้อย่างมีระดับที่เดียว. การจะออกแบบฟอนต์ไทยให้เทียบเคียง Apex New จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก จะกระทําโดยผลีผลามไม่ได้.
กับดักที่ซ่อนอยู่หลังความงามคือความกํากวม. ตัว u ของ Apex New นั้นมีเส้นที่ฐานค่อนข้างแบนกว่าฟอนต์ปรกติทั่วไปอย่าง Helvetica แม้เส้นหลังจะบากด้านในออกก็จริง พื้นที่ว่างใต้รอยหยักยังคงมีน้อยมากเกินกว่าที่จะเอามาทําเป็นตัว น ดื้อๆ เพราะยิ่งถูกใช้ในขนาดเล็กลงเท่าไร ตัว น, บ รวมทั้ง ม (ที่ได้จากการกลับด้านตัว น) จะดูกํากวมแยกออกจากกันยากขึ้นทุกที. ส่วนการบากเส้นให้เป็นลิ่มแหลมซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของ Apex New นั้น ก็ต้องพิจารณาใช้กับอักษรไทยอย่างมีสติไม่พร่ำเพรื่อจนจำบุคลิกเดิมของ Apex New ไม่ได้ อีกทั้งยังต้องคํานึงถึงการสามารถจินตนาการกลับไปสู่วิธีเขียนอักษรไทยมาตรฐานได้ด้วย.
ถึง Apex New ทั้งชุดจะมีหลายน้ําหนักก็ตาม แต่ตัวที่บ่งบอกบุคลิกได้ชัดเจนที่สุดคือน้ําหนัก Medium ซึ่งการเปลี่ยนแปลงน้ําหนักเส้น (ด้วยการบีบหรือบาก) สามารถสังเกตได้ง่ายสุด ผมจึงเลือกที่จะทําตัวอักษรไทยจาก Apex New Medium เป็นน้ําหนักแรก. คําว่า Apex New แปลว่ายอดแหลมสูง (เช่น ยอดอนุสาวรีย์ชัยฯ) ผมเลยให้ชื่อฟอนต์ไทยน้ําหนักแรกตัวนี้ว่า DB Yord Medium. สิ่งสําคัญสิ่งแรกที่ต้องทําก็คือการนําตัว u ของ Apex New Medium มาปรับเส้นล่างยกให้สูงขึ้นเพื่อทําเป็นตัว น (มีผลทําให้อักษรละติน u ใน DB Yord Medium ต้องปรับตามไปด้วยเล็กน้อย เพื่อให้เข้ากับชุดอักษรไทย). เมื่อพลิก น กลับด้านตามแนวระดับก็จะได้ทั้ง ม และ น ที่ไม่สับสนกับ บ ดังที่กล่าวมาแล้ว. การบากเส้นตรงให้ส่วนเฉียงดูคล้ายเส้นหักโค้งนั้น ถือเป็นลูกเล่นสําคัญที่กระจายอยู่ในหลายตัวอักษร ดังนี้
หัวของตัว ค, จ ที่เป็นเส้นขีดกลางแนวนอนถูกบากส่วนบนทิ้งไป. มันสามารถแทนทิศทางของเส้นเสมือนว่าเริ่มเขียนจากหัวแล้วโค้งลงมาบรรจบกับเส้นตั้ง.
หางของตัวประเภทหางเฉียงโค้ง ไม่ว่าจะเป็น ส, ฮ ฯลฯ หางรูปเส้นขีดสั้นๆ ในแนวดิ่งถูกบากให้สอบเข้าหาเส้นหลังนั้น เป็นการลดรูปวิธีเขียนหางแบบมาตรฐาน คือจากเส้นบนโค้งออกหลังขึ้นไป.
ตัว ห ส่วนขมวดม้วนของมันสามารถนําลูกเล่นของหาง ส มาใช้ได้เช่นกัน เพราะรอยบากสามารถแทนเส้นที่เขียนเฉียงขึ้นไปหักโค้ง เพื่อขมวดม้วนลงมาเส้นหลังได้.
เส้นกลางของ ล แทนที่จะพุ่งชนเส้นหลังให้ได้ฉาก (แบบตัว a ของ Apex New) กลับบากส่วนปลายลงให้ดูเสมือนโค้งลงฐานแบบวิธีเขียน ล มาตรฐาน. เครื่องหมายฯ ซึ่งใช้ร่วมกับ ล ในรูป ฯลฯ ใช้วิธีการบากด้วยเหตุผลเดียวกับ ล ทําให้เข้ากันได้ดี.
ส่วนหยักของ ฎ ฏ ใช้วิธีบากเส้นแนวนอนให้เทลาดไปทางหลัง แทนเส้นหยักแบบเดิมๆ ได้.
หางตัว ษ ลอกการบากแบบขีดตัว f, t ของ Apex New มาใช้โดยตรง เพราะดูเข้าตามีระดับกว่าไปตัดค้านหางแบบพวกไม้หันอากาศ หรือวรรณยุกต์โท, ตรี.
ปากตัว ก และสมาชิกตัวคล้ายที่มีอยู่มาก ต้องใช้วิธีบากทั้งปลายบนเส้นหน้า (บากแนวเฉียง) และปลายหน้าเส้นโค้งบน (บากล่างเป็นแนวนอน) เพื่อเปิดปากให้เห็นชัด.
อักษรบางตัวใช้วิธีเปลี่ยนน้ําหนักเส้นให้สอบแหลมกว่าปรกติเล็กน้อย (แบบเส้นล่างตัว u ของ Apex New) เช่นรอยหยักของ ต (และ ผ ที่ได้จากการพลิก ต ตามแนวตั้งขึ้นมา), พ ใช้วิธีลดน้ําหนักเส้นหยักตรงจุดบรรจบเพื่อคุมสไตล์และลดจุดจ้ำเข้มของอักษรไปในตัว. รอยหยักของ ย ก็เช่นกัน นอกจากจุดบรรจบเส้นจะบางกว่าปรกติแล้ว สังเกตให้ดีจะเห็นส่วนหยักเข้าเป็นโค้งเข้าหาเส้นแนวนอน แต่หยักออกจะเป็นเส้นเฉียงก่อนเข้าโค้งหาเส้นล่าง (เป็นลักษณะพิเศษของ ย ในฟอนท์ตระกูล DB เช่น DB Adman, DB Komol*)
อักษรหลายตัว เช่น ข, ด, ร, ว ไม่มีการบากการบีบเส้นคลายเครียดใดๆ เลย แต่ยังดูกลมกลืนกันได้ด้วยอาศัย ‘ลักษณะรอง’ ที่แอบแฝงอยู่ใน Apex New มาใช้ กล่าวคือ ตัวที่โครงอยู่ในรูปกลมรี ไม่ว่าจะ o, c, e จะไม่กลมรีเสียทีเดียว พิจารณาให้ดีจะแบนเล็กน้อยในแนวนอน (เส้นบน-ล่าง) และปลายเส้นโค้งในแนวนอนจะถูกตัดในแนวกิ่งเสมอ. ตัวเลขไทยทั้ง ๐, ๑, ๒, ๓, ๔ ก็ออกแบบโดย อิงลักษณะรองของ Apex New นี้.
ผมเคยตั้งคําถามว่า "ทําไมฟอนท์ไทยเสมือนโรมันทั้งหลายถึงต้องเอาตัวพิมพ์เล็ก n ของฝรั่งมาใช้เป็น ท ของไทยให้อ่านยากไปเปล่าๆ?" เลยลองทําฟอนท์ DB Gill Siam ด้วย ท แบบ N ในกระจกแทน มีคนเอาฟอนต์นี้ ไปใช้พิมพ์แผนที่ขนาดเล็กมากในโฆษณาอสังหาริมทรัพย์ ปรากฏว่ามันอ่านสบายมากเลย. ประสบการณ์นี้ทําให้ผมตัดสินใจเอา ฑ ที่ออกแบบเสร็จแล้วมาดัดแปลง โดยรื้อหัวหยัก (ที่ได้มาจากตัว r ของ Apex New) ออก แล้วเติมเส้นตรงซื้อๆ ใช้เป็น ท ตัวหลัก. ส่วนใครที่อยากได้ ท เท่ แต่อ่านยากแบบเดิมก็มีตัวเพื่อเลือกให้เปลี่ยนไปใช้ได้ โดยคลิกเลือกจาก ‘Type → Glyph’.
การขยายสมาชิกจาก DB Yord Medium ออกไปนั้น มีปัญหาที่ต้องแก้ไขเมื่อลดน้ําหนักลงไปเป็น Regular และ Light. อักษรบางตัวเช่น ช, ห เมื่อเส้นบางลงพบว่าไม่สามารถใช้แค่รอยบากแทนการหยักหรือหักโค้งแบบใน Medium, Bold และ Black ได้ (รอยหยักของ ช ดูไม่เป็น ช และตัว ห ก็ดูพิลึกเกิน) จึงแก้ไขด้วยการเปลี่ยนเป็นเส้นหักชัดๆ แทนรอยบากเฉียงเดิม.
ชุดอักษรละตินของ DB Yord นั้นมีขนาดและสัดส่วนแตกต่างไปจาก Apex New เล็กน้อย. นอกจากนั้นรูปอักษรบางตัวยังถูกตีความใหม่ให้ต่างออกไปตามชุดอักษรไทย นั่นคือ ‘เรียบ แต่แรง' ตัวอย่างเช่นอักษร g แทนที่จะเป็น g (มีหูแบบฟอนท์ serif ทั่วๆ ไป) ซึ่งดูค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ผมกลับเลือกที่จะให้มันดูเรียบง่ายเป็น g คล้ายของ Helvetica. หรือในชุดตัวเอน (italic) แทนที่จะเป็น y โค้งหวานแบบ Apex New ผมกลับชอบ y ที่ประกอบขึ้นด้วยเส้นเฉียง 2 เส้นเรียบๆ อย่าง Helvetica ซึ่งดูเด็ดขาดชัดเจนกว่า ถ้าพิมพ์คําว่า Dynamic เปรียบเทียบกันระหว่าง 2 ฟอนต์ จะพบว่า DB Yord แรงกว่า Apex New เพราะตัว y ของ ลูกยอด ดูเข้มแข็งกว่า แม่เอ นั่นเอง.
DB Yord ทั้ง 5 น้ําหนัก เกิดมาเพื่อใช้เป็น Headline แต่ใครจะเอาไปใช้เป็น body สั้นๆ ขนาดพอยท์เล็กๆ ในงานโฆษณา หรือตัวโปรยในแมกกาซีนก็ยังไหว เพราะชุดสระบนและวรรณยุกต์มีระยะห่างกับพยัญชนะพอสมควร (ตามมาตรฐานฟอนต์ DB) เมื่อถูกใช้ในขนาดเล็ก (หรือบน Billboard ที่ต้องดูจากระยะไกล) จะไม่ติดกันเป็นจ้ำอ่านยากแบบฟอนต์ทั่วๆ ไป. จะว่าไปแล้ว DB Yord ก็เหมือนอากาศยานที่ออกแบบขึ้นด้วยหลักอากาศพลศาสตร์ล้วนๆ เพื่อให้มันแหวกอากาศไปได้ดี ทะยานไปได้สูง รูปลักษณ์จึงดูเรียบๆ ไม่ได้ปรุงแต่งให้หวือหวาอะไรมาก.
ส่วนเครื่องจะแรงแค่ไหน ไต่ระดับไปได้สูงถึงยอด สมชื่อหรือเปล่า ต้องถอยออกไปลองดู !