ในยุคเรียงพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ตะกั่วนั้น เรามีแบบอักษรพาดหัวที่เป็นตัวตะกั่วแท้ๆ น้อยมาก ทั้งแบบของตัวพิมพ์และขนาดพอยท์. ก่อนปี 2516 แผ่นอักษรลอกไทยยังไม่มีให้ใช้, ตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสงของไทยยังไม่เกิด, ตัวพิมพ์ดิจิตอลยังเป็นวุ้นอยู่, หนทางเดียวที่จะได้ตัวพาดหัวโดนใจมากๆ คือลงมือทําเอง!
ถ้าลองย้อนดูงานโฆษณาไทยจากสิ่งพิมพ์ยุคเก่าที่รวบรวมโดย เอนก นาวิกมูล จะพบว่านอกจากตัวโป้งรอง 72 พอยท์, โป้งแซ 48 พอยท์, โป้งบาง 32 พอยท์ ฯลฯ แล้ว ตัวพาดหัวแบบอื่นๆ เป็นการเขียนแล้วนําไปถ่ายทําแม่พิมพ์ใช้ร่วมกับตัวพิมพ์ตะกั่วทั้งสิ้น.
ในปลายยุคที่นิยมประดิษฐ์อักษรใช้พาดหัว (ก่อนมีแผ่นอักษรลอกไทยแบบแรกจําหน่ายในปี พ.ศ.2516) นั้น เริ่มปรากฏอักษรเขียนประดิษฐ์แนวใหม่เป็นการผสมกันระหว่างลีลาเขียนด้วยพู่กันปากแบนแบบดั้งเดิมกับลักษณะเส้นแบบเรขาคณิตหนาสม่ำเสมอที่ดูเรียบง่ายทันสมัย, หนึ่งในตัวอย่างที่ดีของตัวประดิษฐ์ดังกล่าวคือ ตัวพาดหัวหน้า 1 บนหนังสือรายสัปดาห์ ‘กรุงเทพฯ' ฉบับปฐมฤกษ์ 9 ตุลาคม 2513. มันเตะตาผมเข้าโครมใหญ่ตอนเห็นวางขายอยู่ริมถนนนอกรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร.
ข้อเสียของนักออกแบบตัวพิมพ์จนตัวพิมพ์ขึ้นสมองอย่างผมประการหนึ่งก็คือ เวลาสายตาไปปะทะแบบอักษรพาดหัวที่โดนใจมาก บางทีผมโดนมันสะกดจิตจนลืมสะกดคําอ่าน! ความรู้สึกแรกที่ก้มหน้าลงไปเห็นหนังสือรายสัปดาห์กรุงเทพฯ คือ พบตัวพาดหัวที่สะดุดตา ทันสมัย ขัดแย้งกับความเก่าเหลืองกรอบของกระดาษ. อักษรเป็นทรงเหลี่ยมเส้นหน้าคล้าย ฟอนต์ Bank Bold แต่ไม่ลบมุม ที่สําคัญคือมีหัวกลมทึบ ช่วยลดความแข็งของฟอร์มตัวอักษรได้อย่างน่าสนใจ. พอลงมืออ่านก็พบว่าหัวมันช่วยให้อ่านง่าย ทั้งเนื้อหายังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เพราะเกี่ยวกับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม. ผมจึงควักกระเป๋าซื้อโดยไม่ต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น เกรงใจที่อุตส่าเก็บรักษาต่อๆ กันมาถึง 40 ปี กว่าจะถึงมือผม!
ผมค่อยๆ รูดหนังสือพิมพ์ ‘กรุงเทพฯ’ ที่ชราภาพมากแล้วออกจากซองพลาสติกมาเปิดสํารวจข้างในดู พบว่า ยังมีตัวพาดหัวสไตล์ที่ว่านี้อยู่อีกหนึ่งหน้า และพบอักษรมากพอที่จะต่อเติมตัวที่ไม่ปรากฏให้เห็นได้เกือบครบ. นอกจากนั้น ในรูปถ่ายที่หน้า 3 ยังพบโปสเตอร์ที่เขียนด้วยเส้นแบบสม่ำเสมอทรงเหลี่ยมๆ มีหัวกลมทึบรูปแบบคล้ายตัวพาดหัวหน้า 1 แต่เป็นแบบตัวผอม (Condensed).
ตัว ต และ ล ในอักษรพาดหัวสิ่งพิมพ์ฉบับนี้ มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ. ตัวแรกคือ ต นั้นทําลายกรอบการเขียนหยักเดิมๆ จาก หักลงแล้วยกขึ้น ไปเป็น ยกขึ้นแล้วหักลง. ส่วนตัว ล นั้น แทนที่จะใช้เส้นกลางเป็นขีดแนวนอน (แบบ ส ของตัวเขียนผอมในภาพหน้า 3) กลับยกเฉียงขึ้นสั้นๆ แล้วหักลงเฉียงยาวถึงฐาน. ไม่ว่าจะเป็นหยักของ ต หรือเส้นกลางของ ล ที่ว่ามานี้ล้วนเป็นลีลาที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับ ตัวอักษรเขียนด้วยพู่กันปากแบนตามโปสเตอร์หนังไทยยุคก่อนหน้าปี 2513 จึงเป็นไปได้ว่าคนออกแบบอาจได้อิทธิพลมาจากตัวเขียนโปสเตอร์หนังไทย.
ตัว ต ได้รับการถ่ายทอดหยักพันธุกรรมไปอีกหลายตัว เช่น ส่วนล่างของ ฎ, ฐ, ไม้ยมก (ๆ), วรรณยุกต์ตรี, และตัวเลขไทย ๒, ๓, ๗ เป็นต้น.
ตัวอักษรส่วนใหญ่ เจตนาเก็บรักษาต้นแบบไว้ เพราะเห็นว่ามันอ่านง่ายดี แม้บางตัวดูไม่เรียบง่ายนักก็ตาม เช่น ไ หรือตัว ผ, ฝ ที่มีเส้นหน้าหักสอบเข้ากลางเล็กน้อยที่เส้นฐาน ช่วยให้ช่องว่างด้านหน้าของมันโปร่งแยกแยะตัวเองออกจากอักษรตัวข้างหน้า (ที่ส่วนใหญ่เป็นเส้นตรงเต็มส่วนสูง) ได้ดี. ตัว ฯ ยืมลีลามากจากเส้นกลางตัว ล เมื่อใช้เป็น ‘ฯลฯ’ จะดูน่าสนใจ. ส่วนหางตัว ง เปลี่ยนเป็นตัดเฉียงเพื่อลด ระยะห่างจากตัวข้างหน้า.
ตัว ช แทนที่จะทําต่อจากตัว ข ที่มีในต้นแบบ กลับเปลี่ยนเป็น ช แบบหัวไม่ขมวด เส้นหน้ากิ่งตรงหยักแค่หางเส้นหลังพอ ซึ่งดูเกลี้ยงดี, หางตัว ฬ จึงได้อานิสงส์ มาจากหาง ช.
ชุดสระบน, วรรณยุกต์ต่ำของตัวอักษรทั่วไปจําเป็นต้องห่างจากตัวพยัญชนะพอสมควร เพื่อหลบหาง ศ, ส, ฮ. แต่สําหรับตัวหางเหยียดขึ้นตรงแบบ ป, ฝ, ฟ ชุดนี้หางยาวไม่มาก จึงยกชุดสระบน วรรณยุกต์สูง เลยหางขึ้นไปแบบต้นฉบับ (วิธีนี้ผมเคยใช้มาแล้วกับ DB Erawan ในฟอนต์ ดีบี ชุด 1) ส่วนวรรณยุกต์ต่ำคงวางเยื้องหน้าหางอยู่.
ส่วนตัวพิมพ์อักษรโรมันชุดนี้ นอกจากจะเป็นทรงเหลี่ยมง่ายๆ แบบชุดอักษรไทยแล้ว ความพิเศษของมันคือ พยายามเอาเม็ดกลมทึบมาประดับตัวอักษรบางตัว โดยเลียนแบบตัวพิมพ์แบบ serif ที่มักมีการขมวดปมกลมเป็นบางตัวอยู่แล้ว เช่น c, f, y ของฟอนต์ Century เป็นต้น.
เมื่อตัวหนาน้ำหนักแรกเสร็จ พบว่ามันดีเกินกว่าจะมีน้ำหนักเดียว จึงลดลงไปเป็น Regular และ Light ตามลําดับ และแน่นอน ชื่อฟอนต์ควรเป็น ‘ดีบี ตุลา’ อยู่แล้ว เพราะนอกจากจะเป็นชื่อที่อวดตัวเด็ด ทั้ง ต และ ล ยังบ่งบอกเดือนและ ยุคสมัยที่เกิดของอักษรประดิษฐ์ต้นแบบชุดนี้ นั่นคือ 9 ตุลาคม 2513 ก่อนเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 เพียง 3 ปี.
ใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคนั้นจะพบว่า ช่วงเวลาเพียง 3 ปีให้หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สังคมไทยกลับแตกแยกกันอย่างหนัก. นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแตกแยกความคิดออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย (คล้ายเสื้อเหลือง เสื้อแดงในยุคต่อมา) ผลคือฝ่ายซ้ายถูกล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จนหลายคนต้องหนีเข้าป่าไปจับปืนสู้. บางคนไปเสียชีวิตในป่า, แต่หลายคนรอดกลับมามีหน้าที่การงานใหญ่โต มีชื่อเสียงในสังคมมากมาย, น่าเสียดายที่ ‘คนเดือนตุลา’ กลุ่มนี้มีความคิดทาง การเมืองต่างกันมากขึ้นทุกที จนกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ของเมืองไทยที่ท้าทายการปลดชนวน.
แม้ว่าคนเดือนตุลาจะขาดเอกภาพ เจตนารมณ์ ปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวตลอดมาตามประสาปัญญาชน, แต่ DB Tula ดำรงเจตนาในการสร้างไว้แจ่มชัด คืออนุรักษ์แบบตัวพิมพ์ในยุคสมัยคนเดือนตุลาที่ลงตัวชุดนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ จะใช้ย้อนรําลึกประวัติศาสตร์หรือวาดฝันอนาคตได้ทั้งนั้น
ขอเพียงแต่จริงใจตรงไปตรงมา เหมือนบุคลิกของ DB Tula เป็นพอ