จุดเด่นที่ทําให้เราจดจํา BaseNine ได้คือ "เขี้ยวเสน่ห์’ หรือ Spur ที่กระจายตัวอยู่ตามปลายเส้นตั้งของตัวอักษร (ทั้งปลายบนและล่าง) เช่น ในกลุ่ม a, b, p หรือกลุ่ม m, n, u เป็นต้น โดยเฉพาะตัว r นั้นดูจัดจ้านเป็นพิเศษด้วยเขี้ยวเล็บ 2 ทิศทาง คือ มีทั้งขึ้นบนและลงล่าง ไม่มี r ใดเสมอเหมือน! แม้บุคลิกโดยรวมของ BaseNine จะดูกร้าวแบบเพศชาย แต่คนออกแบบเป็นหญิงชื่อ Zuzana Licko (house designer ของ Emigre อันเลื่องชื่อ.) ช่องไฟที่จงใจหลวมมากเป็นพิเศษนั้นมีส่วนทําให้ BaseNine ดูแปลกแยกไปจากฟอนต์ละติน ทั่วๆ ไปอย่างเด่นชัด. อย่างไรก็ตาม เมื่อผมตัดสินใจจะทําฟอนต์ไทยอารมณ์ BaseNine สิ่งแรกที่คํานึงถึงคือต้องลดช่องไฟลงจากเดิม. เหตุผลคือนักออกแบบไทยเคยชินกับตัวดิสเพลย์ไทยช่องไฟชิดๆ มาหลายสิบปีแล้ว (เริ่มติดนิสัยมาจากขูดตัวอักษรลอก?) พอเจอฟอนต์ไทยช่องไฟอักษรห่างๆ อย่าง SR FahMai ซึ่งอ่านง่ายดีกลับไม่นิยมใช้เป็นตัวเนื้อ หรือเจอ DB Moment ที่ทําช่องไฟค่อนข้างห่างก็มักแก้ให้ชิด เป็นต้น.
ในการออกแบบฟอนต์ไทยเสมือน Baseline เริ่มต้น ก็คล้ายๆ ฟอนต์ไทยเสมือนโรมันทั่วๆ ไป คือ เอาตัวพิมพ์เล็ก n, u มาทํา ท, น เป็นต้น จึงติดเขี้ยวเสน่ห์ของ n, u มาด้วย. ส่วนเขี้ยวคู่ของตัว r ที่แรงจัดนั้นสามารถพลิกกลับในแนวนอนมาทําหัวอักษรกลุ่มขมวดหยัก ซ, ฆ, ฑ ได้อย่างเหมาะเหมง. และถ้าเราตัดตอนตัว r เอาเฉพาะส่วนที่ยื่นไปทางขวามือ จะเห็นว่ามันใช้เป็นหัวอักษร ค ได้ และพลิกกลับไปเป็นหัว จ, ฐ ได้พอดี! เท่านั้นไม่พอ ยังนําไปจบปลายหาง ฎ ฏ, ฐ ได้ด้วยเป็นของแถม!
ตัวอักษรคล้าย ก ทุกตัว (ถ, ณ, ภ, ฎ ฯลฯ) ปากถูกออกแบบให้ยื่นแหลมล้อเลียนกับส่วนขมวดม้วน น, ม (ที่ถูกลดรูปเหลือแค่ปลายแหลม) ยกเว้น ก ตัวเดียวที่ไม่มีปาก เพราะเขี้ยวที่กระจายอยู่ทั้งชุดนั้นน่าจะกร้าวเพียงพอแล้ว จะเขี้ยวมากขนาดไหนให้อ่านต่อ!
เพื่อให้ฟอนต์ดูกร้าว ผมเลือกใช้ ข, พ แบบหยักฟันปลาเหมือนตัวพิมพ์เล็ก v, w. ส่วน ผ ใช้หยักแหลมเช่นกัน เพียงแต่แยกแยะให้มันดูต่างจาก พ ด้วยการให้มุมหยักกลาง ผ ต่ำกว่าของ พ มากๆ และให้เส้นหน้าเส้นหลังของ ผ อยู่ในแนวตั้งตามปรกติแทนที่จะเป็นแนวทแยงแบบ พ.
ก่อนหน้าที่จะซื้อ BaseNine Medium มาแตกแขนงเป็นฟอนต์ไทยนั้น ผมเคยผ่านประสบการณ์ออกแบบฟอนต์กร้าว อย่าง DB Kakabaht มาแล้ว ตัวอักษร ช, ธ, ย, ล, ที่อยู่ในโครงเส้นกากบาทสามารถนํามาดัดแปลงใช้กับโค้งบนล่างของ Baseline กลายเป็นของใหม่แปลกตาได้, นี่เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถนําประสบการณ์เก่ามาเกลาแต่งแปลงเสริมเป็นงานใหม่ได้เสมอ (ส่วนจะออกมาดีไม่ดีนั้นเป็นอีกเรื่อง!).
สําหรับตัวเลขอารบิกซึ่งนิยมใช้มากกว่าตัวเลขไทยนั้น ได้เติมเขี้ยวเพิ่มเข้าไปจากเดิมอีก 2 ตัวคือ 2 และ 7 (เลียนแบบ 3, 5 ที่มีอยู่แล้ว.)
ในส่วนของอักษรโรมันใหม่ที่ใช้เข้าชุดกับอักษรไทยนั้น นอกจากจะปรับช่องไฟให้กระชับตามชุดอักษรไทยแล้ว ยังได้ทําการขยายความกว้างของตัวพิมพ์ใหญ่บางตัวคือ D, O, Q และ Z (O ที่กว้างขึ้นช่วยให้ไม่สับสนกับตัวเลข 0 เหมือนใน BaseNine เดิม.) ส่วนตัวพิมพ์เล็กมีเพียง m ตัวเดียวที่ถูกขยายให้โปร่งขึ้น. ตัว z และ Z ที่คล้ายเลข 7 จึงเติมเขี้ยวด้วยให้เข้าชุดกัน.
ประสบการณ์ที่ได้จากการสร้างฟอนต์ DB Yord ทําให้เห็นว่า f, t ของ DB Yord ที่มีปลายเส้นนอนสอบแหลมนั้นน่าจะปรับมาใช้กับ f, t ของ BaseNine ภาคภาษาไทยได้กร้าวดี ไม่แพ้สิ่งที่ได้จาก DB Kakabaht.
แม้ว่า BaseNine ต้นตํารับจะมีบุคลิก Aggressive ก็ตาม เมื่อสะกดคําว่า Aggressive ด้วยฟอนต์นี้ กลับดูไม่ Aggressive เท่าที่ควร, เป็นเพราะตัว A ทรงยูคว่ำของมันดูหวานเกินไปนั่นเอง. ผมจึงจงใจแก้ A ให้กลับไปเป็นทรงวีคว่ำธรรมดา ซึ่งดูกร้าวกว่า. Aggressive ยังเป็นบุคลิกของ Activist ซึ่งบางทีก็ดูก้าวร้าวเกินจําเป็น. ผมเองชอบกร้าวแบบไม่ร้าว! ชื่อ Artivist จึงน่าจะเหมาะสมกับฟอนต์ไทยเสมือน BaseNine ตัวนี้มากกว่า (แค่เปลี่ยนจาก c เป็น r เท่านั้น). จะหมายถึงนักเคลื่อนไหวทางศิลปะ หรือ นักเคลื่อนไหวอย่างมีศิลปะก็ได้
ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวเชิงพาณิชย์ หรือเคลื่อนไหวเชิงสังคมอย่าง Aggressive ผมแนะนําให้ลองใช้ DB Artivist ไม่ผิดหวังแน่ แต่โปรดอย่าหวังในทางที่ผิดนะ เช่นหวังให้คนเข้าใจผิดเพื่อค้ากําไรเกินควร หรือเพื่อสร้างความร้าวฉานเกลียดชังระหว่างคนในชาติ ฯลฯ
เพราะบุคลิกของ DB Artivist คือ ‘กร้าว ไม่ร้าว’ เหมาะเอาไว้ใช้สร้างสรรค์กุศลศิลป์เท่านั้นครับ!