ระหว่างฟอนต์ Frutiger ที่เกิดในปี ค.ศ.1976 กับ Myriad ในปี 1992 นั้น คนส่วนใหญ่แทบไม่เห็นความแตกต่างเมื่อถูกใช้ในขนาดพอยท์เล็กๆ. อันที่จริงถ้าเราลองขยายเปรียบเทียบกันดูแล้วจะพบว่า Myriad ดูมีชีวิตชีวา ขณะที่ Frutiger ดูเป็นทางการกว่า อะไรทําให้เป็นเช่นนั้น?
ผมยังจําความได้ดี เมื่อครั้งแรกที่พบเจอฟอนต์ Frutiger บอกได้เลยว่า มันดูผ่อนคลายกว่า Helvetica ที่คุ้นเคยมาก่อนอย่างเห็นได้ชัด. ขณะที่การเดินเส้นของ Helvetica ถูกจัดระเบียบให้เรียบหรูนั้น Frutiger กลับเดินเส้นเกาะอิงกับตัวพิมพ์ serif ยุคเก่ามากกว่า (เทียบดูได้จากตัว R, 6 และ e ของ Helvetica จะดูแข็งกว่าเห็นได้ชัด.) อย่างไรก็ตาม Carol Twombly และ Robert Slimbach ยังสามารถปรับปรุง Frutiger ให้พัฒนาไปอีกอย่างน่าทึ่งกลายเป็น Myriad ด้วยความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง.
ปลายเส้นโค้งบนล่างของอักษรตามใน Helvetica นั้น ถูกตัดในแนวนอน ทําให้ดูเป็นแบบเป็นแผน ขณะที่ปลายเส้นบนล่างของอักษรตามใน Frutiger ถูกตัดในแนวดิ่ง จึงให้อิสระของเส้นสูงกว่า Twombly และ Slimbach เพียงแต่เปลี่ยนการตัดปลายเส้นบนล่างของตัวอักษรตามของ Frutiger จากแนวดิ่งเป็นแนวเฉียง อารมณ์ที่ได้ก็เปลี่ยนไป! นอกจากจะปรับเปลี่ยนสัดส่วนความกว้างอักษรแต่ละตัวให้แตกต่างจาก Frutiger แล้ว นักออกแบบทั้งสองยังทําการเกลาตัวอักษรนําไปในทิศทางเดียวกันกับตัวอักษรตามด้วยการตัด ปลายเส้นโค้งบนล่างทุกเส้น (C, G, J, S) ในแนวเฉียงตามรัศมีความโค้ง รวมทั้งทีเด็ดสําคัญคือการเปลี่ยนเส้นบนของ B, D, P, R ใน Frufiger จากที่เคยทํามุมฉากกับเส้นหน้า เป็นโค้งขึ้นเล็กน้อยใน Myriad. เมื่อใช้ฟอนต์ทั้ง 2 นี้เป็นตัว ดิสเพลย์ Myriad จึงละเอียดอ่อนกว่าด้วยความแตกต่างเล็กน้อยดังกล่าว.
Myriad เป็นฟอนต์ Pro มีสมาชิกครอบครัวมหาศาล. นอกจาก Myriad จะมีชุดความกว้างมาตรฐานหลายน้ําหนักแล้วยังมีชุดค่อนข้างแคบ (SemiCondensed) ชุดค่อนข้างกว้าง (SemiExtended) ฯลฯ ปริมาณ style จึงมหาศาล สมกับความหมายของ Myriad ซึ่งเป็นคําภาษาเก่า. ปัญหาชื่อ Myriad สําหรับคนไทยอย่างผมคือไม่รู้จะออกเสียงเป็น ‘มาย’ ที่แปลว่า ‘ของฉัน’ หรือ ‘มี’ แบบ 'Jimmy‘ ดี! เมื่อคิดจะ แปลง Myriad เป็นฟอนต์ไทย เลยแปลงชื่อเป็น DB Merit หมดเรื่อง อ่านออกเสียงเป็นไทยว่า ‘มีฤทธิ์’ (ฝรั่งจะอ่าน เป็น ‘แม-ริท’ ก็ช่างมัน!)
ถ้าเราขยายตัวพิมพ์เล็ก u ของ Myriad ดู จะพบว่า ปลายเส้นหลังจะเบนออกเล็กน้อยที่เส้นฐาน เช่นเดียวกับหัวเส้นหน้าของตัว n. ผมจึงคงลักษณะเช่นนี้ไว้เป็นส่วนหัวอักษรที่หันออกหน้าทุกตัว เช่น ฉ, น, บ, ม ฯลฯ (โดยเฉพาะหัวใน ตัว น ช่วยให้มันดูต่างจากตัวพิมพ์เล็ก u ของ DB Merit ได้เล็กน้อย) ส่วนตัว ภ และ ถ ซึ่งต้องเห็นชัดให้แตกต่างจาก ก เป็นพิเศษนั้นใช้โค้งงอและตัดเฉียงแบบหางตัว t.
ถ้าสังเกตให้ดีตัวอักษร ย ของ DB Merit ได้ซ่อนแนวตัดเฉียงแตกต่างไปจากฟอนต์ตระกูล DB ทั่วไปอย่าง DB Sathorn, DB Adman ฯลฯ จากงุ้มเข้าเป็นหงายออก (ผมลักจํามาจาก ล ของคุณ Boy Santos ใน DB Suvanni) วิธีนี้ ช่วยให้มันดูโปร่งขึ้นและยังคงความอ่อนโยนไว้ได้อยู่. หัวหลบ ใน ด, ล และหัว ข, พ ดูให้ดีถูกตัดเฉียงไปด้วยเช่นกัน.
เส้นโค้งบนล่างไม่ว่าจะเป็น จ, ญ, ร, ล, ว, อ หรือ สระอา ฯลฯ ใช้หลักการตัดปลายในแนวเฉียงเหมือน Myriad อย่างเคร่งครัด (รวมทั้งหางของตัว r, 6 และ 9 ที่ใน Myriad ยังคงตัดในแนวดิ่งหลงเหลืออยู่ ยังถูกจัดการตัดเฉียงไปด้วยเช่นกัน)
ตัวที่ถือเป็นผงชูรสให้ DB Merit กลมกล่อมเป็นพิเศษ ขึ้นไปอีกคือ ช และ ห. ด้วยโค้งหางตัว ช และขมวดม้วนตัว ห เลียนแบบโค้งตัว s ใน Myriad ทําให้ภาพรวมของ DB Merit แตกต่างไปจากฟอนต์ DB เสมือนโรมันที่ผ่านๆ มา อย่างเห็นได้ชัด.
รายละเอียดของ DB Merit เท่าที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าถามว่าเทียบเคียงความละเมียดกับ Myriad ได้แล้วหรือยัง? คําตอบคือ ‘เอาอยู่!’ หัวตัว ค, จ หางตัว ษ จึงปล่อยเหลือแค่ขีดตรงๆ ไว้แก้เลี่ยน. ขืนทําโค้งแล้วตัดเฉียงไปเสียหมด อาจดูล้นหลามเหมือนน้ําท่วมกรุง!
หลังจาก DB Merit น้ําหนักแรกที่ปรับปรุงจาก Myriad ตัวปรกติเสร็จแล้ว ได้ขยายสมาชิกออกไปเป็น 6 น้ําหนัก พร้อมตัวเอน รวม 12 styles จากนั้นเพิ่มตัว Condensed และ Extended เข้าไปอีก จึงเท่ากับคูณ 3 เข้าไปรวมเป็น 36 styles. สําหรับใครที่ต้องการหนีฟอนต์ที่เป็นระบบระเบียบ อย่าง DB Heavent. ฟอนต์ที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตอย่าง DB EuroThai, DB Futhaira* ละก็ ลองหันมาใช้ DB Merit ดู. Myriad เป็น humanist sans ที่มีชีวิตชีวา ใครใช้ DB Merit จึงพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย. คําว่า merit ในภาษาอังกฤษ แปลว่า บุญกุศล, ความดี
ดีบี มีฤทธิ์ จึงออกฤทธิ์ในทางที่ดีอย่างที่พาดหัวไว้ ด้วยประการฉะนี้ ...สาธุ!