วงการสิ่งพิมพ์สยามยุคช่วงต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี พ.ศ.2475 นิยมเรียกตัวพิมพ์พาดหัวที่มีขนาดใหญ่ว่า ‘ตัวโป้ง’ เช่น โป้งบาง โป้งรอง ที่เรียกตามลักษณะของมัน, โป้งแซ ที่ตั้งตามชื่อคนออกแบบ. และโป้งไม้ที่เรียกชื่อตามวัสดุที่ใช้สร้างมันขึ้นมา. โป้งแซ, โป้งบาง, โป้งรอง มีกําเนิดเป็นตัวเรียงตะกั่ว (ปัจจุบันอนุรักษ์ไว้เป็น Opentype font หมดแล้ว คือ DB Zair, DB BangRak และ DB PongRong ตามลําดับ) มีเพียงโป้งไม้ตัวเดียวที่เกิดมาเพื่อเป็นตัวพิมพ์ไม้ขนาดโต เพื่อใช้พาดหัวหนังสือพิมพ์ยุคนั้น. สํานวน ‘พาดหัวตัวไม้’ ที่หมายถึงข่าวพาดหัวขนาดใหญ่มาก จึงมีที่มาจากตัวโป้งขนาดโตที่แกะจากไม้นั่นเอง.
กลุ่มอักษร “ตัวโป้ง” ชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นตัวดิสเพลย์ จึงใส่รายละเอียดได้มากกว่าตัวเนื้อ. กระนั้นก็ตาม ความประณีตงดงามของตัวโป้งแต่ละตัวยังคงขึ้นอยู่กับฝีมือช่างแกะแบบหล่อตัวพิมพ์ของแต่ละค่าย รวมไปถึงคุณภาพการหล่อแบบ, คุณภาพงานพิมพ์ (ด้วยแท่นพิมพ์ยุคก่อนจะมีออฟเซท), ต้องไม่ลืมว่าตัวพิมพ์ตะกั่วหรือตัวบล็อกไม้นั้นสามารถสึกกร่อนได้ตามอายุการใช้งานอีกต่างหาก ไม่เหมือนกับฟอนต์ยุคนี้ที่ไม่ยอมสึกกร่อนเสื่อมสลาย (ตราบใดที่คุณยังตามอัพเกรดได้ทัน!)
ตัวพิมพ์โป้งไม้เท่าที่ผมพบจากเอกสารทั้งสําเนาและงานพิมพ์จริงนั้น มีลักษณะแตกต่างกันไปในรายละเอียด. เนื่องจากรูปลักษณ์ของมันดูเป็นทางการ อ่านง่าย (เพราะเป็นอักษรแบบมีหัว) หนักแน่นมีพลัง (เพราะมีเส้นตั้งหนามาก) อีกทั้งยังประหยัดพื้นที่ (เพราะตัวผอมสูง ส่งผลให้นิยมใช้ติดตา จนในที่สุดถูกนํามาแกะแบบทําตัวตะกั่วขนาด 72 พอยท์ในภายหลังโดยคงเรียกชื่อ ‘โป้งไม้’ ดั้งเดิมไว้.
เมื่อเข้าสู่ยุคตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง (คนในวงการพิมพ์นิยมเรียกตัวคอมพิว ตามชื่อแบรนด์ ‘คอมพิว กราฟิค’ เหมือนเรียกผงซักฟอกติดปากว่าแฟ้บ) มีเพียงตัวโป้งรอง (หรือโป้งใหม่) เท่านั้นที่ได้รับการอนุรักษ์ต่อเป็นฟอนต์ชื่อ ‘โกเมน’ โดยอาจารย์ มานพ ศรีสมพร. จนเข้าสู่ยุคฟอนต์แบบ PostScript จึงมีโป้งไม้อีกตัวที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้โดยการกํากับของประชา สุวีรานนท์. SMB PongMai ของประชามีความประณีตพอสมควร อย่างไรก็ตาม ยังพบความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ เช่น ระบบของหางอักษร (เช่น หางสระ เ ยังมนอยู่แทนที่จะเป็นเหลี่ยมแบบโป้งไม้ทั่วไป) ความโค้งของเส้นบน (เช่น ค, ด) สัดส่วนตัวพิมพ์ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเว้นช่องว่างรูปอักษรทั้ง ก-ฮ และรูปสระทุกตัวที่ตั้งบนเส้นฐานนั้นไม่ได้มาตรฐาน เพราะเว้นว่างเฉพาะพื้นที่ ด้านหลัง (ถ้าพิมพ์ ฅ ตัวโตๆ ไว้กลางหน้ากระดาษ A4 จะได้คนเอียงซ้าย) เมื่อโป้งไม้ถูกทําใหม่เป็น OpenType ข้อบกพร่องทั้งหมดที่กล่าวมาผมได้แก้ไขให้แล้วใน DB PongMai. นอกจากส่วนโค้งเว้าของอักษรโดยรวม (เช่น หางตัว ง, ไม้โท) ของ DB PongMai Bold จะถูกดัดให้ดูใหลลื่นขึ้นแล้ว ขนาดของตัวพยัญชนะก็ยังโตขึ้น เมื่อเทียบกับ SMB PongMai เดิมที่ขนาดพอยท์เท่าๆ กัน. ในชุด DB PongMai นอกจากจะมีตัวอักษรโรมันที่ผอมได้สัดส่วนกับอักษรไทยมากขึ้นกว่าใน SMB PongMai แล้ว ยังเพิ่มตัวโป้งไม้น้ําหนักปรกติเข้าไปเพื่อให้ใช้งานได้กว้างขึ้น.
พูดถึงการใช้งานโป้งไม้แล้ว คนนอกวงการออกแบบแทบจะไม่เคยสังเกตเห็น. ความจริงจังขึงขังของโป้งไม้เคยถูกประชา (ผู้ชุบชีวิตมันขึ้นมา) ใช้เป็นตัวพาดหัวงานรณรงค์ทางการเมืองผ่าน SMB PongMai เป็นระยะๆ นอกจากนั้นยังพบการใช้โป้งไม้กับหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คในเครือมติชน ซึ่งเป็นการนํา SMB PongMai มาทําให้เตี้ยลง แต่ยังคงมีแค่น้ําหนักเดียว. จะเห็นได้ว่าโป้งไม้ยังถูกใช้งานค่อนข้างจํากัดวง, การเพิ่มน้ําหนักบางใน DB PongMai คงไม่พอ ผมจึงนํา DB PongMai มาปรับแต่งสัดส่วนให้เตี้ยใกล้เคียงตัวเนื้อมาตรฐาน แล้วขยายน้ําหนักเพิ่มเติมเข้าไปอีกเป็น DB Bangkok 4 น้ําหนัก พร้อมตัวเอน เพื่อหวังเพิ่มทางเลือกให้ลูกหลานโป้งไม้ถูกใช้งานมากขึ้น เช่น ทํานิทรรศการ อย่าง DB ComYard หรือใช้เป็นตัวพื้นในหนังสือได้อย่าง DB JariyaTham เป็นต้น ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ หรือยาสมุนไพรอิงภูมิปัญญาเก่าที่ผลิตขึ้นใหม่สมัยนี้ก็น่าจะใช้บริการของลูกหลานโป้งไม้ได้.
เราจะเห็นตัวอักษรหน้าตาคล้ายๆ โป้งไม้อยู่ในเมืองบางกอกมาช้านาน ไม่เฉพาะพาดหัวตัวไม้บนหนังสือพิมพ์สยามยุคนั้น แต่ยังพบอักษรเขียนคล้ายๆ กันนี้มากมาย เช่น ตามป้ายอาคารเก่า ไปจนถึงปกหนังสือแบบเรียนเก่าของคุรุสภา. ทั้ง DB PongMai และ DB Bangkok จึงเปรียบเหมือนเครื่องบันทึกคําบอกเล่าอัตลักษณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณค่า หรือความขมขื่นก็ตาม
อยู่ที่การตีความของนักออกแบบว่าจะใช้แผดเสียงรณรงค์ หรือใช้เจรจาภาษาดอกไม้ ฯลฯ ได้ทั้งนั้นครับ!