DB PongRong

คนในวงการพิมพ์รุ่นก่อนเรียกตัวพิมพ์ขนาดใหญ่ สําหรับพาดหัวว่า ‘ตัวโป้ง’. ตัวโป้งแรกสุดคือ โป้งแซ ขนาด 48 พอยท์ โดย นายแซ ช่างแกะแบบตัวพิมพ์ย่านบางรัก. ตัวต่อมาเป็น โป้งไม้ เริ่มแรกที่เดียวเป็นตัวแกะด้วยไม้ ต่อมาภายหลังจึงแกะแบบหล่อเป็นตัวตะกั่วขนาด 72 พอยท์ ไม่ปรากฏหลักฐานคนออกแบบ. ตัวโป้งถัดมาคือ โป้งใหม่ ขนาด 40 พอยท์ ที่น่าจะออกแบบโดยนายแซ เช่นเดียวกัน (อ่านบทความที่ผมเขียนถึง DB BangRak ประกอบ)

โป้งใหม่ เป็นส่วนผสมของแบบตัวพิมพ์หลัก 2 ตัว คือ โป้งไม้ กับ โป้งแซ รวมกัน (ดู DB PongMai Bold กับ DB Zair Bold ประกอบ) กล่าวคือ มีสัดส่วนผอมสูง เส้นหนัก-เบาแบบโป้งไม้, หัวอักษรบนล่างเป็นรูปครึ่งวงกลมคล้ายโป้งไม้ที่เป็นรูปครึ่งวงรี, หัวอักษรกลุ่ม ค, ด (และอักษรคล้ายของมัน) เป็นวงรีเหมือนของโป้งไม้ ส่วนปากตัว ก (และอักษรคล้าย ก) คล้ายของโป้งแซ, กลุ่มอักษร บ, อ จะมีเส้นล่างแบนติดเส้นฐานแบบโป้งแซ (ของโป้งไม้จะโค้งมน) และปลายเส้นดิ่งของอักษรทุกตัวจะถูกตัดฉากเสมอเส้นฐานแบบโป้งแซ (ของโป้งไม้จะมน).

ยังมีอักษรบางตัวของโป้งใหม่ที่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากตัวพิมพ์เนื้ออื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า เช่น ตัว ข, จ ของมันที่ต่างก็มีเส้นหน้าดิ่งตรงขนานกับเส้นหลังเหมือนกับ ข, จ ของตัวตะกั่วชุดฝรั่งเศส (UPC Angsana ในปัจจุบัน) หรือตัว ย มีเส้นหน้าดิ่งแบบยักเยื้องไม่อยู่แนวเดียวกัน เหมือนกับที่พบในตัวพิมพ์ไทยยุคแรกๆซึ่งเลียนแบบจากตัวจารในใบลาน (อ่านบทความของ DB Yam ประกอบ).

ภาพถ่ายขนาดเท่าแบบ จากหนังสือแบบตัวพิมพ์ของศรีอักษร

แล้วโป้งใหม่มีอะไรเด่นพิเศษเป็นเอกลักษณ์ของมัน? คําตอบที่ผมพบคือ ชุดสระ อิ อี อึ อื ที่เขียนปลายด้านซ้าย วกกลับเป็นเส้นโค้ง ไม่ได้ทํามุมแหลมเหมือนกับตัวเรียงพิมพ์ทุกชุดที่เกิดขึ้นก่อนหน้า.

ด้วยความที่โป้งใหม่ถูกออกแบบไว้โปร่งกว่าโป้งไม้ จึงสามารถขยายพอยท์ออกไปมากมายจากสไตล์เดียวกัน เริ่มจากขนาดใหญ่ที่สุด คือ 72 พอยท์ และขนาดย่อลดหลั่นลงไปจากโป้งใหม่ 40 พอยท์เดิม เป็น 36, 32, 24 และ 19.5 พอยท์ ถือเป็นตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วทรงผอมของไทยที่มีขนาดพอยท์ให้เลือกใช้มากที่สุด!

ชื่อ ‘โป้งใหม่’ นั้นถูกใช้เรียกตัวขนาด 48 พอยท์ที่ออกมาก่อนเท่านั้น ตัวอื่นๆ ล้วนถูกเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปทั้งที่เป็นดีไซน์เดียวกันแท้ๆ เช่นตัวขนาด 72 พอยท์ นิยมเรียกว่า โป้งรอง หรือ โป้งไม้บาง ส่วนขนาดที่เล็กกว่า 40 พอยท์ ชื่อมักจะติดคําว่า ‘ย่อ’ กํากับไว้ เช่น ตัวโป้ง 32 ย่อ, ตัว 19.5 ย่อ เป็นต้น โป้งใหม่จึงใหม่อยู่ไม่นาน เพราะแตกลูกหลานไปเพียบ! อีกทั้งคําว่า โป้ง เป็นคําสามัญ ในวงการพิมพ์หมายถึงตัวพาดหัวทั่วๆ ไป เมื่อถูกขยายความ ด้วย ใหม่ เติมท้ายเป็น โป้งใหม่ จึงฟังดูไม่เฉพาะเจาะจงนัก เช่นเดียวกับชื่อพรรคการเมืองของไทย อย่างพรรคความหวังใหม่ ชื่อก็ฟังดูกว้างไม่สามารถสะท้อนอุดมการณ์ ทางการเมืองได้ชัดเจน หรือพรรคการเมืองใหม่ ที่ฟังดูเผินๆ อาจไม่รู้ว่าเป็นชื่อพรรคการเมือง จะสับสนว่าหมายถึงพรรคการเมืองพรรคใหม่ (พรรคไหนก็ไม่รู้!) หรือพรรคการเมืองแบบใหม่ (ที่หลุดพ้นจากวังวนน้ําเน่าอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้!). ผมเองนั้นไม่ชอบชื่อโป้งใหม่ด้วยเหตุผลคล้ายๆ ชื่อพรรคที่ยกตัวอย่างมา ยิ่งเมื่อสะกดโป้งใหม่เป็นภาษาฝรั่งจะเป็น PongMai สับสนกับโป้งไม้ที่สะกด PongMai เหมือนกัน. ผมจึงเกิดไอเดียว่าจะเรียกแบบตัวพิมพ์ชุดนี้ใหม่ โดยถือ เอาตัวขนาดใหญ่สุดของมันเป็นตัวหลักว่า ‘โป้งรอง’ แทน. เมื่อทําเป็นฟอนต์ใหม่ เขียน DB PongRong จะได้ไม่สับสน กับ DB PongMai (อ่าน ดีบี โป้งไม้) ที่มีอยู่ก่อน.

หนังสือ ‘ตอ.73’ สปอนเซอร์โฆษณาในเล่มเรียงด้วย ‘โป้งย่อใหม่ 32 พอยท์ เบอร์ 8’ แบบอักษรกลุ่มโป้งรอง ที่ใช้เป็นต้นแบบฟอนต์ย้อนยุค DB PongRong

ช่วงฝนตกน้ําท่วมปี 2554 ทําเอาหนังสืออนุสรณ์โรงเรียนเก่าของผมเละตุ้มเป๊ะไปด้วย. ผมต้องเอาเตารีดบรรจงรีดทีละหน้าทั้งเล่มเพื่อรักษามันไว้ และเป็นการทํางานที่สุดคุ้มค่าเพราะสปอนเซอร์โฆษณาทั้งหมดเรียงด้วยแบบตัวพิมพ์สไตล์โป้งรองอย่างสวยพอดี! อักษรมีครบแทบทุกตัวทําให้ไม่ต้องเสียเวลาไปเสาะแสวงหางานพิมพ์เก่าหลายๆ ชิ้นมารวมกัน จนได้ตัวครบอย่างที่เคยใช้อนุรักษ์ตัว DB TaGua มาก่อน ตัวอักษรขนาดใหญ่ 32 พอยท์ ของมันทําให้ผมสามารถสังเกตรายละเอียดหลายจุดที่ผู้ออกแบบซ่อนไว้อย่างน่าทึ่ง เช่น หัวสระอะ, หัวตัวการันต์, วงกลมของสระอํา. สระอึ นั้นแยกน้ําหนักแนวดิ่งเป็นเส้นทึบครึ่งวงกลมกับเส้นครึ่งวงกลมบางๆ ตามหลักการเขียนหนักเบาไว้ด้วยอย่างถูกต้อง (เขียนขึ้นเส้นเบาเขียนลงเส้นหนัก), หรือตัว ศ มีการกดเส้นโค้งมุมขวาบนให้ต่ําลงกว่าข้างซ้าย (ไม่สมมาตรเหมือนตัว ค) เพื่อให้สังเกตเห็นหางได้ชัดๆ เวลาอ่านไม่สับสนเป็นตัว ค.

อันที่จริงตัวพิมพ์แบบโป้งรองหรือโป้งใหม่ เคยได้รับการปรับปรุงให้โปร่งขึ้น และตัดทอนรายละเอียดเก่าๆ บางอย่างออกไปโดยอาจารย์มานพ ศรีสมพร ให้เป็นแบบตัวเรียงพิมพ์ ด้วยแสงชื่อ โกเมน (C3) และเป็นฟอนต์โพสท์สคริปท์ ชื่อ EAC Komain ตามลําดับ. ฟอนต์ดิจิตอลอื่นๆ ที่เกิดในยุค EAC Komain ก็มี AngThong, JS Sunsanee ที่มีน้ําหนักเดียว และ UPC Iris ที่มีตัว Bold เพิ่มขึ้นมา. อย่างไรก็ตาม ฟอนต์ 3 ตัวหลังนี้ไม่ประณีตเท่า EAC Komain อีกทั้งตัวปรกติของมันเส้นบางเกินไป ทําให้อ่านยากเมื่อใช้ในขนาดพอยท์เล็กๆ.

ภาพถ่ายเท่าแบบ จากหนังสือแบบตัวอย่างตัวพิมพ์ ของโรงหล่ออักษรกิจ เทียบตัวโป้งย่อขนาด 32 พอยท์ ระหว่าง เบอร์ 6 กับ เบอร์ 8 ต่างที่ขนาดชัดเจน แต่รูปอักษรต่างกันน้อยมาก

เป้าหมายในการสร้าง DB PongRong แตกต่างจาก ตัวพิมพ์กลุ่มโกเมน คือเป็นการอนุรักษ์ความประณีตของเดิมๆ ไว้ให้มากที่สุด ยกเว้นสัดส่วนตัวอักษรบางตัวที่แคบเกินไปบ้าง กว้างเกินไปบ้าง ซึ่งอาจารย์มานพ (รวมทั้งผู้ที่ทําตามๆ กันมา) ยังไม่ได้แก้ไขไว้ ผมได้ถือโอกาสปรับปรุงเล็กน้อย เพื่อให้สัดส่วนของตัวอักษรทั้งชุดสมดุลกันมากที่สุด.

แม้กลุ่มอักษรแบบโป้งรองจะมีความเปรียบต่างระหว่างเส้นแนวตั้งที่หนากว่าเส้นแนวนอนอย่างเห็นได้ชัด อย่างอักษรของฟอนต์ Bodoni ก็ตาม แต่ปลายเส้นหางส่วนใหญ่ยังเป็นเส้นวาดด้วยมือมากกว่าใช้เครื่องมือ, ภาพรวมของมันจึงสอดคล้องกับตัวอักษรในฟอนต์ Cheltenham มากกว่า ดังนั้น ชุดอักษรละตินของ DB PongRong จึงเลือกปรับปรุง จาก Cheltenham Condensed แทนที่จะเป็น Bodoni Condensed.

โป้งรองตัวแรกที่อนุรักษ์ไว้เป็น DB PongRong Bold. จากนั้นจึงเพิ่มตัว Regular และ Light เข้าไป โดยเฉพาะตัว Light นั้น ได้ขจัดความเปรียบต่างระหว่างความหนาของเส้นตั้งและเส้นนอนทิ้งไป. ทั้งชุดจงใจไม่ทําตัว Italic ให้ใช้ เพราะผอมเกินกว่าจะเอนได้สวยอย่างกลุ่มอักษรแบบโกเมน ที่ถูกทําให้ป้อมขึ้นจากตัวโป้งเก่าแล้ว.

ตัวตะกั่วแบบโป้งรองเคยเป็นรองแค่โป้งไม้ด้านความหนาและขนาดเท่านั้น แต่ครองแชมป์ฟอนต์ตะกั่วตัวเน้นที่มีขนาดให้เลือกมากไม่เป็นรองใคร! การกู้ชีพกลับมาเข้ารหัส Unicode เป็น DB PongRong จึงไม่ต่างอะไรกับการเล่นแร่แปรธาต!

คุณพร้อมจะเสกตัวตะกั่วเก่าให้กลายเป็นทองหรือยัง?

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ June 2012