DB Ekkamai

การเป็นเด็กห้องแถวที่บ้านมีกิจการค้าขายแบบเรียน เครื่องเขียน ยันแผงหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ฯลฯ มีส่วนให้ชีวิตในวัยรุ่นของผมสนใจแบบตัวอักษรอย่างค่อยๆ ซึมซับโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว. ช่วงที่ตําราเรียนของ ทวพ. (ไทยวัฒนาพาณิชย์) เริ่มใช้ตัวอักษร Monotype ผมสังเกตเห็นว่าตัวมันประณีตเหนือกว่าตัวเนื้อในตําราเรียนทั่วๆ ไปอย่างชัดเจน. เพราะร้านศรีบูรพาเคยเป็นตัวแทนจําหน่ายแบบอักษรลอก ทําให้ผมสนใจเฝ้าคอยแบบอักษรใหม่ๆ ที่ทยอยทําออกมาขาย! หนึ่งในจํานวนนั้นที่ผมประทับใจคือแบบอักษรลอกชุดสําคัญ 4 ที่ดูเบาสบายและไหลลื่นด้วยเส้นทรงเรขาคณิต. หยิบนิตยสาร ‘ลลนา’ บนแผงหนังสือมาเปิดดู ยังจําได้ว่ามีตัวอักษรบางๆ อีกแบบที่งามไม่แพ้กัน จําได้แม่นว่าตัว น, ม ของตัวพาดหัวชุดนี้มีขมวดม้วนที่ลดรูปแปลกตา เหลือเพียงขีดเฉียงสั้นๆ ต่างจาก น, ม ของสําคัญ 4 ที่มีขมวดม้วนเป็นแบบเส้นขีดแนวดิ่งชิดลําตัว.

ตัวพาดหัวบาง (ขนาดเท่าแบบ) จากหนังสือไปสัมมนาเมืองคาวบอย
ของสำนักพิมพ์ดวงตา ไม่ปรากฎปีที่พิมพ์ มีแต่บันทึกวันที่ 9 ก.ค. 2520
ใต้ลายเซ็นเจ้าของหนังสือเดิมที่ปกรอง

แบบอักษรลอกสําคัญ 4, สําคัญ 5 และสําคัญ 6 ผมได้อนุรักษ์เป็นฟอนต์ไว้แล้วให้ชื่อว่า DB Futhaira เพื่อเชิดชูว่ามันงดงามเทียบได้อย่างกับฟอนต์ Futura. ส่วนตัวบางในนิตยสารลลนาที่ผมคิดถึงจับใจนั้น ได้มีโอกาสหวนกลับมาพบกันอีกครั้งในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ อยู่ในพ็อกเก็ตบุ๊ค ชื่อ "ไปสัมมนาเมืองคาวบอย" ของสํานักพิมพ์ดวงตา ตีพิมพ์ ราวปี พ.ศ. 2520! เธอเพียงงีบหลับไปชั่วขณะ (30 กว่าปี!) อยู่ตามหน้าคั่นทั้ง 13 บท. กระดาษที่ใช้พิมพ์เปลี่ยนไปมากตามกาลเวลา แต่แบบอักษรขอยืนยันว่า 30 ยังแจ๋ว! แจ๋วพอที่จะปลุกขึ้นมาออกแบบปรับปรุงโฉมใหม่ ประชันกับฟอนต์รูปทรงเรขาคณิตอย่าง DB Adman (ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง) หรือ DB Futhaira (ที่กําลังมาแทนที่ฟอนต์เก่า ซึ่งสร้างมาจากสําคัญ 4-5-6 เหมือนกัน) ได้อย่างสบาย.

แม้ชุดตัวอักษรเส้นบางที่พบใน "ไปสัมมนาเมืองคาวบอย" จะไม่ครบ แต่ก็จัดว่ามากพอให้ใช้คาดเดาตัวที่เหลือได้. แรกทีเดียวเราต้องทําการอนุรักษ์ไว้เป็น DB DuangTa Light ก่อน (ยังไม่เสร็จจนกว่าจะสืบค้นตัวที่ขาดหายมายืนยันได้ครบ) จากนั้นจึงลงมือออกแบบปรับปรุง DB DuangTa Light เป็น DB Ekkamai Light. กระบวนการกลั่นกรองปรุงแต่งเป็นมาอย่างไร? ทําไมใช้ชื่อ "เอกมัย"? อยากรู้ต้องอ่านต่อ!

ผมนําชุดอักษรแบบสําคัญ 4 กับชุดอักษรเส้นบางจากสิ่งพิมพ์สํานักพิมพ์ควงตามาเปรียบเทียบกัน โดยแยกพิจารณา เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่รูปอักษรแตกต่างกันกับกลุ่มที่ตัวเหมือนๆ กัน ตามลําดับ สําหรับกลุ่มอักษรที่ดูต่างกันนั้น ผมเลือกตัวเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ ดวงตาบาง ยืนพื้นก่อน นั่นคือ น, ม ที่มีขมวดม้วนลดรูปไม่ซ้ําใครดังที่กล่าวมาแล้ว และตัว ย ที่หัวไม่มีส่วนงุ้มเข้ากลางตัวเลย. ทั้ง น, ม และ ย ถือเป็นตัวที่ดูลงตัวทั้งรูปแบบที่แปลกตาและประโยชน์ใช้สอยที่อ่านง่ายไม่สับสน จึงดึงมาใช้ในฟอนต์ใหม่ DB Ekkamai ได้เลย.

แสดงสัดส่วนของ ย กว้าง 2 สูง 3

ตัว ด ของควงตาบาง ที่ต่างไปจาก ด ของสําคัญ 4 นั้นแม้จะอ่านง่ายไม่สับสนเป็น ถ เหมือน ด ของสําคัญ 4 แต่กลับมีรายละเอียดมากเกินงาม ผมจึงหยิบยืมลักษณะส่วนหัวโค้งรูปหนึ่งในสี่ของวงกลมของ ย มาใช้ทําหัวตัว ด เสียใหม่.

ยังมีตัวที่แตกต่างกันอีกหลายตัว เช่น ข, ถ, ร เป็นต้น. ผมนํา ข ของดวงตาบางมาใช้เลย เพราะขมวดม้วนที่หัวชัดเจนอ่านง่ายกว่าตัว ข ของสําคัญ 4 อยู่แล้ว. ตัว ถ ของดวงตาบางที่ปากลดรูปเป็นมุมฉากนั้นเรียบง่ายดีจึง นํามาใช้ โดยไม่แก้เช่นกัน ส่วนตัว ร ของดวงตาบางดูเหมือนจะเป็นตัวเดียวที่การเดินเส้นของมันหลุดกรอบเรขาคณิตออกไปบ้าง ตรงรอยต่อระหว่างโค้งบนกับโค้งล่าง ผมจึงกลับไปเลือก ร แบบของตัวสําคัญ 4 ที่เหมือน S ของ Futura มาใช้แทน.

เมื่อพิจารณากลุ่มตัวอักษรของสําคัญ 4 กับดวงตาบาง ที่หน้าตาเหมือนหรือคล้ายกันมาก เช่น กลุ่ม ผ, พ กลุ่ม ว, อ และ ห นั้น ผมตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบใหม่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป.

ตัว ผ-พ เป็นคู่ที่ดูสับสนกัน (ผมแก้ไขใน DB Futhaira Light แล้ว โดยลดขีคกลางของ ผ ให้สั้นลง) ส่วนใน DB Ekkamai Light เปลี่ยนมาใช้เส้นหยักฟันปลาแทนเพราะต้องการแก้เลี่ยน เนื่องจากทั้งตัว ช, ส, ศ ของมันล้วนมีหางตั้งตรง ทําให้ทั้งชุดขาดเส้นเฉียงจัดๆ (ขีดเฉียงของ น, ม เป็นเพียงขีดสั้นๆ ไม่จัดพอ).

ตัว อ ซึ่งมักพบใช้ร่วมกับ ย บ่อยๆ (เช่นคําว่าบ่อย!) นั้นน่าจะออกแบบใหม่ให้สัมพันธ์กันได้โดยการรื้อหัวตัว ย ออก เหลือแค่หยักล่างกลายเป็นหัว อ จากนั้นเติมเส้นโค้งบนของ อ เข้าไป. เมื่อ อ ที่เคยกลมโตเปลี่ยนหุ่นไปแล้ว ว จึงต้องเปลี่ยนตามโดยให้ผอมกว่า อ เล็กน้อย.

ตัว ห โดยโครงสร้างตัวมาตรฐานนั้นมีขมวดม้วนเหมือน น, ม อยู่แล้ว เพียงแต่อยู่ด้านบน. ดังนั้นควรเปลี่ยนขมวดม้วนของ ห จากขีดยาวแนวนอนเป็นขีดสั้นเฉียงแบบ น, ม. เพื่อหนีตัว ห เดิม.

ต้องไม่ลืมว่าอักษร อ กับ ห มีที่ใช้มากในคําไทย เพราะ อ ใช้เป็นรูปสระด้วย เช่น พ่อ, บอก เป็นต้น ส่วน ห ใช้ประกอบอักษรต่ำ เพื่อช่วยผันเสียงวรรณยุกต์ เช่น ใหม่, หน้า, หลาน ฯลฯ เมื่อเราเปลี่ยน อ, ห ให้เข้ากับตัวเด่นคือ ย, น, ม จึงมีส่วนทําให้งานที่ได้ในขั้นนี้กลมกล่อมเกือบได้ที่แล้ว.

สําหรับสระหน้าบางตัว คือ โ, ไ ที่ดูคล้ายๆ กันทั้ง สําคัญ 4 และดวงตาบาง ผมเพิ่มส่วนโค้งทั้งคว่ำ (โ) และหงาย (ไ) เข้าไปให้ดูชัดขึ้นว่าเป็นฟอนต์ใหม่.

ถึงตรงนี้ พบว่าได้ฟอนต์ชุดใหม่ที่ถูกใจ(ผม)แล้วโดยแทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเพิ่มอีก ไม่ว่าจะเป็นตัว ก เกลี้ยงๆ, ค, ง, จ ที่คุ้นตา ฯลฯ หลงเหลือเพียงแค่ปรับแต่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น. ผมสังเกตว่าตัว ฟ ดูแข็งกร้าวเกินไปจึงปรับปลายหางให้โค้งไปด้านหลังเล็กน้อย (ป, ฝ ถูกแก้ตามไปด้วย), ส่วนหัวของ ล, ส ของดวงตาบางที่เลยเส้นฐานลงไปจนสายตาจับได้ ถูกดึงขึ้นเพียงเล็กน้อย เป็นอันเสร็จพิธี DB Ekkamai Light!

ฟอนต์ DB Ekkamai ทั้งครอบครัวถูกขยายออกจาก ตัว Light เพิ่มรวมเป็น 5 น้ําหนัก พร้อมตัวเอน รวมเป็น 10 สไตล์. ชื่อ ‘เอกมัย’ ไม่ใช่แค่เพียงชื่อถนนตามประเพณีการตั้งชื่อฟอนต์ของ DB ที่ผ่านมาที่มักจะมีฟอนต์ชื่อถนนหรือซอยในกทม. แทรกอยู่ แต่อักษรที่ใช้สะกดชื่อเอกมัย ไม่ว่าจะเป็น อ, ก, ม หรือ ย ล้วนเป็น DNA ของฟอนต์ทั้งสิ้น. ก และ ย เป็นตัวแทนความเรียบง่าย ม เป็นตัวแทนเสน่ห์ของมัน ส่วน อ เป็นตัวแทนการเกิดใหม่ที่ยึดโยงกับ ย คุณค่าเดิม.

สําหรับนักออกแบบที่ชื่นชมฟอนท์เส้นสม่ําเสมอรูปทรงเรขาคณิตนั้น ขอเปรียบว่า DB Ekkamai ก็คล้ายๆ กับไวน์ในขวดรูปทรงเดิมๆ ที่ดูก็รู้ว่าเป็นขวดไวน์นั่นแหละ.

ต่างกันตรงที่กลิ่นและรสที่ชวนให้จมูกและลิ้นของคุณแย่งกันจดจํา !!!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ July 2012