ต้องยอมรับว่าตัวพิมพ์ดิจิทอลเข้ามามีบทบาทต่อป้ายโฆษณา ตั้งแต่ระดับไฮเอนด์ จนถึงโลว์เอนด์ ร้านค้าห้องแถวยันตลาดสด ในรูปของงานพิมพ์อิงค์เจ็ทบนแผ่นกระดาษ แผ่นไวนิล, ตัวสติ๊กเกอร์ติดกระจกตู้ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ. ช่างเขียนฝีมือดีๆ มากมายอย่างในอดีตเริ่มถูกแทนที่ด้วยฟอนต์ยุคใหม่ที่สะดวกใช้. ไปๆ มาๆ เรากลับเห็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ทำขึ้นอย่างสุกเอาเผากิน ด้วยการให้ช่างเขียนเลียนแบบฟอนต์เสียอย่างงั้น! (เข้าใจว่าต้องการประหยัดต้นทุนผลิตป้าย).
อย่างไรก็ตาม งานเขียนมือก็ยังคงมีเสน่ห์เฉพาะตัว ต่างจากฟอนต์เท่าที่มีให้ใช้กันอยู่ นักออกแบบทั่วไป (รวมทั้งนักออกแบบตัวพิมพ์) จึงไม่ควรละเลยสังเกตความเป็นไปรอบตัวที่ผ่านสายตาเข้ามา.
ศิลปะไม่มีวันหมดอายุเหมือนอาหารกระป๋อง ดูได้จากศิลปะย้อนยุคที่ถูกนำมาทำใหม่ ไม่ว่าแนวดนตรี, แฟชั่นการแต่งกาย, งานตกแต่งภายใน รวมทั้งแบบตัวพิมพ์ที่เลียนวิธีการเขียนพื้นบ้านก็มีออกมาอย่างสม่ำเสมอทุกชาติภาษา.
เราสามารถแบ่งตัวอักษรทำมือยุคเก่าของไทยได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ (เอาเฉพาะที่พบเห็นกันบ่อย) คือ ประเภทเขียนลายมือด้วยปากกา พู่กัน ฯลฯ (ทั้งหวัด กึ่งหวัด กึ่งบรรจง และบรรจง) และประเภทใช้เครื่องมือเขียนแบบช่วย เช่น ไม้บรรทัด, วงเวียน (รวมพวกวาดเส้นเลียนแบบเส้นสายที่ได้จากเครื่องมือเข้าไปด้วย).
ประเภทแรกที่ทำเป็นฟอนต์ DB แล้ว ได้แก่ DB GunEng, DB Ribbin (เขียนด้วยพู่กัน), DB InWriting (เขียนด้วยปากกาเขียนแบบ). ประเภทหลังได้แก่ DB SiamSquare*, DB PloenJit เป็นต้น.
ก่อนจะมี DB SiamSquare* นั้น ยังมีแบบอักษรลอก ชุด มานพ 1 ที่ออกแบบโดยอาจารย์มานพ ศรีสมพร โดยอาศัยเค้าโครงตัวเหลี่ยมผอมที่ช่างยุคเก่าเคยทำกันมา. ส่วนตัว DB SiamSquare* ถือเป็นตัว ‘เถรตรง’ ที่คุณสุรพล เวสารัชเวศย์ เป็นคนริเริ่มให้ลูกน้อง (เข้าออกไวจนจำชื่อจำหน้าไม่ได้!) ทำไว้เป็น PostScript ผมมาปรับปรุงแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ ตอนทำเป็น Opentype เช่น ให้ ก, ถ มีปากยื่น ช่วยให้ ถ ไม่ดูสับสนเป็น ด เหมือนของเดิมเป็นต้น.
ตัวประดิษฐ์ทรงเหลี่ยมนั้น ถือเป็นงานหมูๆ สำหรับมือสมัครเล่นที่ริจะเขียนป้ายโฆษณาเองโดยไม่ง้อคอม เพราะเขียนเป็นเส้นตรงๆ นั้นมีแค่ไม้บรรทัดช่วยประคองก็เป๊ะแล้ว ง่ายกว่าเส้นโค้งเยอะ. หลายคนอาจไม่ชอบอักษรทรงเหลี่ยมๆ พวกนี้ แต่อย่าได้ดูแคลน ผมว่ามันตรงไปตรงมาดี อ่านง่าย ไม่เหมือนคนเหลี่ยมจัดที่คิดอย่าง พูดอย่าง ทำอย่าง อ่านใจยากเป็นบ้า! ใครที่เขียนโปสเตอร์ประท้วง ด้วยลายมือ หรือตัวประดิษฐ์เหลี่ยมๆ แบบนี้ ผมว่ามันดูจริงใจกว่าป้ายที่พิมพ์อิงค์เจ็ทด้วยฟอนต์ที่กำลังได้รับความนิยมด้วยซ้ำ.
บ่ายวันหนึ่งในต้นปี พ.ศ.2554 ขณะผมกำลังขับรถ ค่อยๆ เคลื่อนตัวไปอย่างน่าเบื่อบนถนนในกรุงเทพ เกิดสังเกตเห็นป้ายโฆษณาห้องแถวริมทาง เขียนด้วยตัวเหลี่ยมๆ ง่ายๆ แต่พิเศษตรงตัว น ที่ดูลงตัวมาก. ขมวดม้วนของ น มาตรฐานถูกลดรูปลงเหลือเพียงจุดรูปจัตุรัส วางอยู่ตรงพื้นที่ว่างใต้แนวเส้นหลังพอดี. เวลาเพียงไม่กี่วินาทีสายตาผมจึงกรองมาได้ตัวเดียวเท่านั้น. ขับเลยไปได้หน่อยรถติดยาวเลยได้โอกาสร่างใส่เศษกระดาษไว้. กว่าจะเอามาทำฟอนต์ก็ตอนหลังน้ำท่วมไทยปลายปี 54 แล้ว โดยตั้งชื่อเป็นคลองไว้ก่อน คือ ‘รพีพัฒน์’ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท่วม กทม. (กทม. ย่อมาจาก กรุงเทพจะท่วมมั้ย?).
น้ำหนักแรกที่ออกมาเป็นตัวเหลี่ยมค่อนข้างผอม เส้นหนา คล้ายต้นแบบที่ลักจำมา. ดูเผินๆ ก็เรียบง่ายเหมือนตัวแบบมือสมัครเล่น แต่คนดูเป็นสังเกตให้ดี มันมีระบบระเบียบกำกับไว้ และแน่นอน คลี่คลายมาจากอักษร น ซึ่งเป็น DNA เพียงตัวเดียว!
เส้นขมวดม้วน จงใจย้ำใช้ในอักษรหลายตัวที่มีความถี่ในการ ใช้งานสูง เช่น จ, ด, ท, ย, ร, ล ให้ดูกลมกลืนกับ น.
หางอักษร จงใจใช้เส้นเฉียงแบบตัว น กับหางบนของอักษรแทบทุกตัว (ยกเว้นพวกหางตรง ป, ฝ, ฟ) เช่น ช, ศ, ส, ฮ รวมทั้งหางสระอะ วรรณยุกต์ โท ตรี แม้กระทั่งหางเลขไทย เช่น ๑, ๔ เป็นต้น.
การละหัวอักษร
- พยัญชนะที่หัวบนหันออกนอกลำตัวไปด้านหน้าทั้งหมด เช่น น, บ, ม จะถูกละหัว.
- หัวอักษรที่มีเส้นแนวดิ่ง 3 เส้น คือ ฌ ญ ณ ถูกละหัวไปด้วย รวมทั้ง ฒ ที่ลดรูปหัวให้หดสั้นต่างจาก ต ทั้งหมดเพื่อลดรายละเอียดให้ดูโปร่งขึ้น.
- ตัว ล, ส แม้จะเป็นหัวประเภทหันเข้ากลางตัวก็ถูกละหัวด้วย เพื่อไม่ให้ส่วนครึ่งล่างของตัวอักษรดูทึบเกิน.
- สระหน้าทุกตัว ยังคงหัวไว้ เพื่อให้อ่านง่าย โดยเฉพาะสระแอ ถ้าไม่มีหัวแล้วพิมพ์คำว่า ‘แบบ’ จะดูลายตา อ่านยาก.
ยังมีรูปอักษรของ DB RapeePat Bold หลายตัวที่ดูคล้ายๆ ของ DB SiamSquare ExtraBold* เช่น อ, ว ของ SiamSquare ExtraBold จะมีปลายหางขีดลงมา ส่วนของ DB RapeePat Bold ตัดทิ้งให้ดูต่าง.
เมื่อ DB RapeePat Bold ภาษาไทยเสร็จ ผมว่ามันสามารถคงความจริงใจ โปร่งใสไว้ได้ ขณะเดียวกัน รายละเอียดยังเป๊ะไม่มีมั่ว. ตัวอักษรละติน และเลขอารบิก ถูกทำขึ้นด้วยหลักการเดียวกันกับอักษรไทย.
ชื่อคลอง ‘ระพีพัฒน์’ (ที่จริงควรสะกดว่า รพีพัฒน์) นั้นมีที่มาจากชื่อเต็มของ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย (7 สิงหาคม เป็นวันรพี) ทรงเรียนจบปริญญาตรีด้านกฎหมายชั้นเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด กลับมายกเครื่องระบบศาลไทยจนได้มาตรฐาน ช่วยให้ชาวสยามที่มีคดีความกับฝรั่งต่างชาติผู้รุกราน ไม่ต้องไปขึ้นศาลกงสุลฝรั่ง ด้วยข้ออ้างว่ากฎหมายไทยล้าหลัง. ในยามที่ประเทศชาติต้องการความสามัคคี ทุกคนยิ่งต้องทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมไม่มีการแยกว่าทำไปเพื่อเจ้าฟ้า หรือไพร่ฟ้า.
เช่นเดียวกับฟอนต์ DB RapeePat แม้ว่าจะกำเนิดขึ้นตรงตามหลักวิชาการเป๊ะ ระดับไฮเอนด์ แต่ไม่เว่อร์ ไม่ลืมตัว คือขนบชาวบ้านที่หวนกลับมารับใช้ชาวบ้านในที่สุด