DB Mahachai

ในยุคแผ่นอักษรลอกเฟื่องฟูของไทย นับจากที่มี ‘มานพติก้า’ ออกมาวางขายจนถึงยุคต้นของฟอนต์ PostScript ไทยนั้น ตัวดิสเพลย์ส่วนใหญ่จะใช้ขูดจากแผ่นอักษรลอกมากกว่าการเขียนประดิษฐ์เอง เพราะมันทุ่นเวลาดีและมีแบบให้เลือกใช้มากพอสมควร. ที่นิยมใช้กันแพร่หลายมากที่สุดจะขึ้นต้นด้วย ‘มานพ’ รองลงมา คือ ‘สำคัญ’ ตามด้วยเลขลำดับต่อท้าย. เป็นผลงานประดิษฐ์ชุดอักษรขั้นเทพของ ‘มานพ ศรีสมพร’ และ ‘สำคัญ โกศัลวัฒน์’ ตามลำดับ.

ครั้นเข้าสู่ยุค PostScript แบบตัวอักษรลอกที่เคยได้รับความนิยม ได้ถูกผลิตขึ้นใหม่เป็น PostScript มีตั้งแต่ประณีตเหมือนต้นฉบับ, ปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ ให้ดีขึ้น ไปถึงหยาบจนคนออกแบบเจ้าตำรับเห็นเข้าแล้วอยากร้องไห้! ฉะนั้น ถ้าเราจะหาตัวดิสเพลย์ไทยเก่าแบบเขียนมือสวยๆ จึงต้องย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะมีแผ่นอักษรลอกขายในบ้านเรา. เนื่องจากยุคนั้นตัวดิสเพลย์ตะกั่วมีให้เลือกไม่กี่แบบ ซ้ำดูเป็นทางการเสียส่วนใหญ่ ใครอยากได้ตัวพิเศษจึงต้องลงมือเอาเอง. กล่าวได้ว่า ความจำกัดขัดสนนั้นมีส่วนสำคัญผลักดันให้เกิดงานสร้างสรรค์หลากหลายเป็นทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ.

ปกหนังสือ ‘แม่ครัวหัวป่าก์’ ฉบับที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ สังเกตตัว ร คำว่า ‘ครัว’ เทียบกับ ร คำว่า ‘เครื่อง’ ภาพด้านล่าง
ตัวพิมพ์ตะกั่ว ‘โป้งแซ’ จากหนังสือ ประชานุเคราะห์ พ.ศ. ๒๔๗๘

ย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2486 ช่างเขียนฝีมือชั้นครูท่านหนึ่งได้ฝากผลงานไว้บนปกหนังสือ แม่ครัวหัวป่าก์ ตำรับกับข้าวของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์. ชื่อหนังสือเป็นตัวอักษรประดิษฐ์ที่ดูงามจับตาผมแต่แรกพบ! ลักษณะเด่นของมันคือเป็นอักษรหัวเปิด มีเส้นตรงแนวตั้ง (ทั้งเส้นหน้าเส้นหลัง) หนากว่าเส้นโค้งแนวนอน (ทั้งเส้นบนเส้นล่าง รวมทั้งส่วนรายละเอียด เช่น หัว) อย่างเห็นได้ชัด. เส้นแนวตั้งที่หนาถูกแรเงาด้วยเส้นขนานถี่ๆ ขวางตามแนวนอน. เมื่อประกอบรวมกันเข้ากับปลายมนๆ ของเส้นอักษรส่วนใหญ่ ทำให้แม่ครัวหัวป่าก์ หวานอ่อนช้อย ดูไม่เป็นทางการ กลมกล่อมสมกับเป็นชื่อตำรับอาหารเสียยิ่งนัก!

สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมากเป็นพิเศษ คือเส้นขมวดม้วนแบบหักโค้งเป็นมุมที่พบในตัว ม และ ห อาจเป็นเพราะมันมีส่วนคล้ายกับตัวคัดบรรจงที่ผมเคยหัดคัดเลียนแบบพี่ชายมาตั้งแต่ตอนอยู่ชั้นประถม 5. ลักษณะหักมุมแบบนี้ช่วยแก้เลี่ยนได้ดี คล้ายพริกขี้หนูคั่วที่โรยในไข่ลูกเขยอย่างไรอย่างนั้น.

ลักษณะร่วมที่กำหนดสไตล์ของตัวอักษร แม่ครัวหัวป่าก์ ฉบับ พ.ศ.2486 นี้ เท่าที่จำความได้ ผมยังไม่เคยพบเห็นจากที่ไหนมาก่อน ถือได้ว่าเป็นของเก่าแต่สดในยุคนั้น. จะมีเพียงเส้นบนของตัว ร ที่ดู คล้าย ร ของตัวพิมพ์ตะกั่ว ‘โป้งแซ’ มากไปหน่อยเท่านั้นเอง. เป็นไปได้ว่าช่างเขียนอาจได้รับอิทธิพลจากโป้งแซซึ่งเกิดก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ในปี พ.ศ.2475.

ช่วงที่เริ่มคิดจะเอาแม่ครัวหัวป่าก์มาปรุงใหม่เป็นฟอนต์ ตอนนั้นน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 อยู่พอดี จึงตั้งชื่อไว้ว่า ‘ดีบี มหาชัย’ ด้วย 4 เหตุผล คือ หนึ่ง มันเป็นชื่อคลอง เข้ากับตัวอื่นๆ ใน DB#11, สอง ชื่อฟังดูเป็นไทยประเพณี, สาม ความหมายเป็นมงคล, และสุดท้ายคือ มันสะกดด้วยตัว ม และ ห ซึ่งถือเป็นตัวเด่นของอักษรประดิษฐ์แบบนี้. แค่เรา พิมพ์ชื่อ ‘มหาชัย’ ด้วยฟอนต์นี้ก็จะเผยให้เห็น DNA ของมันแล้ว!

ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในการออกแบบ คือ ผมเลือกที่จะทำเส้นแนวดิ่งให้ทึบแทนการแรเงาตามขวางอย่างต้นแบบ ซึ่งเพิ่มโอกาสในการใช้งานได้มากกว่า. รายละเอียดสำคัญที่น่าจะกล่าวถึงมีดังต่อไปนี้

ขมวดม้วนแบบหักมุม

ขมวดม้วนหักมุมในตัว ม และ ห ถูกใช้กับขมวดม้วน ของ ฆ, ฌ, ฒ และ น, ฉ, ณ รวมทั้งขมวดหัวของ ข, ช, ซ และหางของ ใ. ไส้ของตัว ษ เป็นการพลิกขมวดม้วน ตัว ม กลับในแนวดิ่งมาใช้.

หัวและคอ ระหว่างเส้นหลัก-เส้นฐาน

อักษรที่มีหัวแบบกลุ่มนี้ มีตัว ค เป็นต้นแบบอยู่แล้ว. หัวและคอของอักษร ค ดูอ่อนช้อยเป็นเอกลักษณ์ จึงตกทอดไปถึง ศ, จ และ ฐ ด้วย. ส่วนตัว ด จงใจให้เส้นคอโค้งเฉียงชัดเจน จะได้ดูแตกต่างไปจากเส้นคอของ ค ที่อยู่ในแนวเกือบดิ่งอย่างชัดเจน.

เส้นสะบัดบน

เส้นบนปลายสะบัดขึ้นของตัว ร ถูกเปลี่ยนจากต้นแบบเดิมที่เป็นเส้นหนา ให้เป็นเส้นโค้งบางๆ แล้วหักเฉียงขึ้น (ยืม ร ของ DB JariyaTham มาใช้) ทำให้ ธ, ฐ และ โ เป็นเช่นนี้ด้วย. เส้นบนแบบนี้ช่วยสลัดคราบโป้งแซออกไปได้ ทำให้ดูสดใหม่ถึงยุคนี้.

หางสูง-หางต่ำ

หางที่เลยเส้นหลัก (แนวหัวอักษร บ) ขึ้นไป มีตัว ป เป็นต้นแบบที่อ่อนหวานดีอยู่แล้ว คือลู่แหลมไปด้านหลัง ไม่มนเหมือนตัวอื่นๆ จึงเก็บหาง ป มาใช้กับ ฝ, ฟ รวมทั้งกับหางที่เลยเส้นฐานลงมาคือ ฤ, ฤา, ฦ, ฦา และ ๆ ให้ลู่แหลมกลับไปด้านหน้า.

ปากไก่

ตัว ก ยังคงลักษณะหยักปากแหลมแบบเดิมไว้ คือ หยักเข้าแล้วหักออกเลยเส้นหน้าไปเล็กน้อย. ปากแบบนี้ใช้กับอักษรคล้าย ก ทุกตัวที่มีหัวหันเข้า คือ ถ, ฤ, ฌ, ญ, ณ. ส่วนอักษรคล้าย ก แบบหัวหันออก คือ ภ, ฦ, ฎ, ฏ ของแบบตัวพิมพ์ชุดนี้นั้น เนื่องจากหัวที่ฐานเป็นแบบเปิดจึงลองเปลี่ยนปากไก่ ให้ลากออกจากเส้นหน้ามากกว่าของ ก ต้นแบบเดิมเพื่อไม่ให้ช่องไฟด้านหน้าของมันโล่งเกิน. สังเกตให้ดีปากของอักษรกลุ่ม ภ จะไม่หยักเข้าลำตัวเพื่อไม่ให้ปาก(ยาว) มากจนเกินงาม!

หัวอักษร

ลักษณะหัวอักษรทั่วไปคงประมาณ 1 ใน 4 ของวงกลมเหมือนต้นแบบ. แต่สำหรับชุดตัวเลขไทยได้ต่อความยาวออกไปเป็นบางตัว พบว่าดูงามกว่า.

หยักกลางตัว

ถ้าเปรียบฟอนต์นี้เป็นยำทะเล รสชาติเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ได้ที่แล้ว ตัว ผ, ฝ และ พ, ฟ จึงเลือกใช้เส้นหยักตรงๆ ง่ายๆ เหมือนผักแพว, โหระพา เป็นอันขึ้นโต๊ะเสิร์ฟได้.

เมื่อทำ ดีบี มหาชัย ตัวหนาจบ จึงเพิ่มน้ำหนักปรกติอีกหนึ่งน้ำหนัก เพื่อให้สามารถใช้เป็นตัว Subhead ได้ แล้วค่อยต่อชุดอักษรโรมัน. สำหรับตัวพิมพ์เล็กนั้นแทนที่จะให้ปลาย ascender และ descender แหลมเหมือนหาง ป พบว่ามันดูมากเกินไป จึงเลี่ยงมาเล่นเส้นปลายแหลมที่อยู่แนวเส้น x-height (ได้แก่ตัว m, n, p, q, r) และแนวเส้นฐาน (ได้แก่ตัว a, b, d, k, u) แทน. ปลายแหลมแบบนี้ทู่กว่าหาง ป จึงดูไม่จัดเกินไปนั่นเอง. ส่วนชุดเลขอารบิกนั้นจงใจใช้ตัวเลขแบบ old style ซึ่งก็พอใช้ร่วมกับอักษรไทยได้ แต่จะให้ดีแล้ว ผมว่าควรใช้เลขไทยร่วมกับอักษรไทยจะดูงามกว่า.

ที่เขียนอธิบายมาสั้นๆ ดูราวกับว่า DB Mahachai มันง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว นับเป็นตัว มหายาก ของ DB#11 เพราะเสร็จทีหลังเพื่อน แล้วยังผลาญกระดาษ A3 ใบแล้วใบเล่า ปึกหนากว่าฟอนต์ตัวอื่นๆ. ตัวอย่างความยากก็เช่น ตัว ร, ว ในน้ำหนักปรกตินั้น แทนที่ขนาดของหัวจะเท่ากับอักษรอื่นๆ กลับพบว่าต้องหลอกให้กว้างขึ้นเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เกิดช่องห่างจากตัวอักษรข้างหน้ามากเกินไป เป็นต้น.

ถ้าจะว่าไปแล้ว ตัวดิสเพลย์ไทย ณ ปี พ.ศ. 2555 ขณะนี้มีให้เลือกใช้ในรูปดิจิทอลมากมาย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานที่นับวันจะขยายกว้างออกไป. ความหลากหลายจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นเสมอในยุคที่ต่างคนต่างแสวงหาความแตกต่างอย่างดูดี. แม้ผมและทีมงานจะเหนื่อยยากกับ DB Mahachai เท่าไร มันก็คุ้มค่า สำหรับฟอนต์ไทยประเพณีอีกหนึ่งตัวเลือก.

มหาชัย คือ ชัยชนะเพื่อความหลากหลาย อย่างแท้จริง.

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ October 2012