DB NopAnan

ถึงแม้ มานพ 2 จะเป็นอักษรลอกยอดนิยมเลื่องชื่อในอดีตก็ตาม แต่หากเราถามนักออกแบบรุ่นเก่าที่เคยขูดมานพ 2 มากับมือ จะมีสักกี่คนที่ยังจำชื่อได้? ไม่ใช่เพราะความจำเสื่อมหรือเป็นอัลไซเมอร์แต่อย่างไร! เหตุผลง่ายๆ คือ แบบอักษรลอกที่ชื่อ มานพ มีมากมาย ตั้งแต่ มานพ 1, 2, 3... ไปจนถึงมานพ 21! ตัวเลขนั้นบอกได้แค่ลำดับที่ผลิตออกมาขายแต่ไม่สามารถระบุลักษณะหรือที่มาของฟอนต์นั้นๆ ให้เราสามารถจดจำได้. ดังนั้น เมื่อโครงการพัฒนาแบบอักษรลอกมานพเป็นฟอนต์ โดยถือลิขสิทธิ์ร่วมระหว่าง อาจารย์มานพ ศรีสมพร กับ DB ใกล้จบ ผมจึงเสนอปัญหานี้ และอาจารย์เห็นด้วยว่าควรเปลี่ยนชื่อโดยให้เริ่มต้นด้วย ‘นพ’ สั้นๆ แทนทั้งหมดแล้วต่อด้วยคำขยายความ. มานพ 2 จึงได้ชื่อใหม่ว่า ดีบี นพอนันต์ เพราะรับใช้สังคมมาอย่างอเนกอนันต์นั่นเอง.

‘ศึก’ หนังสือประจำปี 2517 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ใช้ มานพ 2 เป็นตัวปลุกเร้า

สาเหตุที่ทำให้ มานพ 2 เป็นตัวดิสเพลย์ไทยมาตรฐานที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในบรรดาแบบตัวดิสเพลย์จากแผ่นอักษรลอกด้วยกันเพราะให้สุ้มเสียงที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ. มานพ 2 เป็นอักษรฐานค่อนข้างกว้างประกอบกับมีเส้นแนวตั้งหนา จึงให้ความรู้สึกมั่นคง. ส่วนโค้งเชื่อมต่อระหว่างเส้นหนากับเส้นบางเป็นไปอย่างประณีต. ดูจากขมวดม้วนของตัว ม และหยักปากของตัว ก จะพบการเปลี่ยนน้ำหนักเส้นจากหนาสู่บางเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่มีอาการสะดุด เหมือนเสียงพูดที่ฟังราบรื่นมั่นใจได้. ถ้าย้อนกลับไปดูหนังสือพอกเก็ตบุ๊คยุคเฟื่องฟูสมัย 14 ตุลา ดู จะพบ มานพ 2 อยู่หลายต่อหลายปก. นอกจากในวงการสิ่งพิมพ์ยังขยายไปสู่ธุรกิจทำป้ายอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ตัวเลื่อยจากแผ่นพลาสติกที่ใช้กับป้ายห้องแถวไปจนถึงตัวโลหะเป็นป้ายอาคารมากมาย ในกรุงเทพฯ นับว่า มานพ 2 ผ่านร้อนผ่านฝน มาอย่างยาวนานจริงๆ!

‘อธิบายแนวคิดปรัชญาการเมืองฝรั่ง’ (บริษัท เคล็ดไทย จำกัด พิมพ์ครั้งที่สอง 2523) ชื่อหนังสือ ขูดด้วยตัวอักษร มานพ 2 เข้าใจว่าตัวอักษร ร และสระ า หมด ตัว ร ต้องตัดต่อจากตัว ธ จึงดูกว้าง และสระ า เข้าใจว่าทำจากตัว ถ, ภ โดยตัดปลายบนในแนวดิ่ง จึงดูไม่เข้ากับตัวอื่น

มานพ 2 มาจากไหน?

ตัว มานพ 2 นั้น อาจารย์มานพ ศรีสมพร ใช้แบบตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วเดิมที่ชื่อ ฝรั่งเศสดำ เป็นตัวตั้งต้น. เมื่อค้นหนังสือ ‘ตัวอย่างอักษรคอมพิวเตอร์’ (นิยมเรียกสมัยนั้นสั้นๆ ว่าตัวคอมพิว) ของบริษัท พับบลิคโฟโต้และโฆษณา จำกัด ดูจะพบแบบตัวคอมพิวตระกูล ฝ.ศ. พิมพ์เรียง 3 คอลัมน์ในหน้าแรกสุด คือ ฝ.ศ. A1, ฝ.ศ.หนา A3 และ ฝ.ศ.ดำ A4 (ไม่ปรากฎรหัส A2 สงสัยลาป่วย!) แล้ว A4 (ที่ไม่ใช่กระดาษถ่ายเอกสาร) ต้นแบบ มานพ 2 นั้นต่างจาก A1 ที่เป็นต้นแบบ UPC Angsana ตรงไหน? ใครมีฟอนต์ UPC Quakerlady ซึ่งอนุรักษ์มาจากตัว A4 ที่ว่านี้ ลองพิมพ์ตัว อ, ย ของมันเทียบกับ อ, ย ของ UPC Angsana ดู จะเห็นว่าของ UPC Quakerlady หรือ A4 หรือ ฝ.ศ.ดำเดิม (เปลี่ยนชื่อไปเรื่อยเพราะถูกยุบเทคโนโลยีเหมือนพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค!) นั้น เส้นล่าง อ, ย จะแบนอยู่บนเส้นฐาน ไม่โค้งเหมือนของ UPC Angsana หรือ ฝ.ศ. ธรรมดาเดิม ซึ่งลักษณะนี้ตรงกับ อ, ย ฐานแบนของ มานพ 2. ถ้าลองพิมพ์ตัว ก ของ UPC Quakerlady เทียบกับของ UPC Angsana จะพบว่าปากตัว ก ของมันจะหยกเข้าออกในแนวเฉียงเป็นเส้นโค้ง (ไม่มีลักษณะเส้นนอนขีดตรงแบบ ก ของ UPC Angsana) ตัว ก ของ มานพ 2 ก็ได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมนี้มาด้วย.

จะว่าไปแล้ว ถ้าเราพิจารณาภาพรวมของ มานพ 2 กับ ฝ.ศ.ดำ จะพบว่ามีจุดร่วมที่ชัดเจน เพียงว่าเป็นตัวอักษรมีหัวม้วนกลมที่มีน้ำหนักเส้นแบบหนักเบา (เส้นตั้งหนา เส้นนอนบาง) ส่วนถ้าเจาะจงรายละเอียดกันทีละตัวจะพบว่า มานพ 2 พัฒนาไปเป็นตัวของตัวเองมาก โดยเฉพาะปลายเส้นบนของอักษรที่เขียนกลับไปด้านหน้า เช่น ล, อ จะมีลักษณะบานหนารับกับเส้นหน้า ไม่ได้เรียวแหลมแบบฟอนต์กลุ่ม ฝ.ศ. ทุกตัว.

แล้ว ดีบี นพอนันต์ มาจากไหน? DB NopAnan ได้มาจากการแกะแบบตัวอักษรลอก มานพ 2 ของ สยามวาลา รวมกับหนังสือเก่าๆ ที่ใช้ มานพ 2 จนครบ. ทั้งนี้เนื่องจากต้นแบบอักษรลอกแทบทุกชุดที่อาจารย์มานพทำไว้นั้น ส่วนใหญ่ได้สูญหายไปแล้ว.

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่กลับไม่พบหลักฐานว่ามีใครทำ มานพ 2 เป็นฟอนต์ PostScript ใช้มาก่อน (อาจจะมีคนในวงการป้ายโฆษณาทำไว้ใช้เอง?) จึงหายหน้าหายตาไปจากวงการสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิตอล ไม่เหมือนแบบอักษรลอก ‘สำคัญ 8’ (โดยสำคัญ โกศัลวัฒน์) ซึ่งเกิดในยุคสมัยเดียวกัน ทว่ามีคนทำเป็นฟอนต์ไว้ให้ใช้. มานพ 2 จึงถือเป็นแบบอักษรลอกตัวแรกๆ ของ อ.มานพ ที่ผม อยากจะพัฒนาเป็น Opentype.

DB NopAnan น้ำหนักปรกตินั้น ปรับปรุงแก้ไขจาก มานพ 2 น้อยมาก เช่น สระหน้า โ ใ ไ ของเดิมที่มีส่วนบนยื่นล้ำหน้าออกไปมากนั้น ถูกปรับแก้ไขหดสั้นเข้ามาเพื่อหลบสระบนและวรรณยุกต์ที่กำกับพยัญชนะตัวข้างหน้า. ( โ ใ ไ ต้นแบบยังคงอนุรักษ์ไว้ โดยหาได้จาก Glyph Palette ของฟอนต์)

การแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ บางส่วนทำขึ้นเพื่อผลต่อการอ่าน เช่น ระยะของขีดสระ   ืื ที่ถูกขยายเพิ่มขึ้น หรือการพยายามให้ช่องไฟโปร่ง (กว่าที่นิยมขูดชิดๆ ในยุคก่อน) เพื่อให้ไม่ว่าจะใช้เป็น subhead ขนาดเล็กในสื่อสิ่งพิมพ์ (รวม E-book) ที่ต้องดูใกล้ หรือใช้เป็น headline ขนาดโตกับสื่อที่ต้องดูไกล ก็อ่านง่ายเหมือนกัน. จากระยะช่องไฟที่เพิ่มขึ้นจึงต้องลดความกว้างของอักษรบางตัวลงเล็กน้อย เช่น ร เพื่อไม่ให้ดูโปร่งเกินไป. ตัวเลขไทยของเดิมของมานพ 2 มีขนาด ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับตัวพยัญชนะทั่วไป จึงทำการขยายขนาดขึ้นพอสมควรให้อ่านง่ายขึ้นเมื่อถูกใช้ในขนาดและระยะการอ่านที่เข้าขั้นวิกฤติ.

ปลายเส้นบนอักษรชุด มานพ 2 ทุกตัวที่เขียนกลับไปข้างหน้า (เช่น จ, ล, ว, อ) ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าถูกตัดในแนวเทลาดเข้าหากลางตัวอักษรเล็กน้อย แทนการตัดตามแนวนอนแบบพื้นๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในยุคตัวพาดหัวแบบเขียนมือที่เกิดขึ้นก่อนหน้า จึงคงไว้ในฟอนต์ใหม่.

มองในแง่ตัวดิสเพลย์ ไม่ว่าจะเป็น มานพ 2 เดิม หรือ ฟอนต์ DB NopAnan เมื่อเทียบกับ EAC Pimai Bold แล้ว ล้วนดูเนียนกว่า EAC Pimai Bold เพราะอาจารย์มานพ สร้าง EAC Pimai Bold ภายใต้ข้อจำกัดให้เป็นตัวหนาของตัวคอมพิว ‘พิมาย’ เดิม ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากตัว “เนื้อโมโนไทพ์” ของไทยวัฒนาพานิช. ใครที่ชอบใช้ EAC Pimai Bold (หรือ UPC Browalia Bold นั่นเอง) เป็นตัว พาดหัว ผมแนะนำให้ลองใช้ DB NopAnan แทนดู เพราะนอกจากจะมีชุดสระบน, วรรณยุกต์ ขนาดเตี้ยประหยัดที่กว่าแล้ว ยังมีน้ำหนักบางและหนาเพิ่มให้ใช้พร้อมตัวเอน รวมเป็น 6 สไตล์. อีกทั้งชุดอักษรโรมัน และชุดตัวเลขอารบิคของมันยังถูกทำขึ้นใหม่เป็นพิเศษให้มีปลายเส้นโค้งบน (และล่าง) เช่น a, c, 2, 3 ตัดเอนลาดเข้ากลางลำตัวอักษรเหมือนของชุดอักษรไทย มานพ 2 ต้นแบบ.

มานพ 2 อาจเป็นรอง สำคัญ 8 บ้างตรงที่น้ำหนักเส้น เพราะสำคัญ 8 เส้นหนาสม่ำเสมอ ต่างจาก มานพ 2 ที่ หนักเอาเบาสู้. แต่ DB NopAnan ทั้งชุดรวมกันย่อมไม่เป็นรองสำคัญ 8 เท่าไร เพราะตัว Bold หมัดหนักไม่แพ้ สำคัญ 8 แถมยังมีตัว Light เป็นหมัดแย็บเก็บคะแนน.

มานพ เบอร์ 2 จึงไม่เป็นรองใครอีกต่อไป ในโลกยุคดิจิตอล!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ November 2012