DB NopVithee

เรื่องราวของ ‘นพวิถี’ เหมือนละครไทย ชื่อเดิมของเขาคือ มานพ 5 หนึ่งในจำนวนแบบอักษรลอกไทยมาตรฐานที่ได้รับความนิยมมากในยุคก่อนจะมีฟอนต์ PostScript ใช้กัน. อันที่จริงแบบอักษรหน้าตาแบบนี้เกือบไม่ได้เกิดขึ้นมาในโลกด้วยซ้ำไป! อาจารย์มานพ ศรีสมพร ผู้ออกแบบ เคยเล่าให้ผมฟังว่า “ตอนที่คุณมิตร สยามวาลา เอาแบบตัวเขียนไม่กี่ตัวจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐเก่าๆ มาเสนอให้ผมทำน่ะ ผมยังคิดว่าทำออกมาแล้วมันจะขายได้หรือ?”

อย่าว่าแต่ อ.มานพ เลยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แม้แต่ใครทุกวันนี้ยังไม่สามารถฟันธงได้ 100% ว่าฟอนต์ที่ทำออกมาขายตัวไหนจะได้รับความนิยม เพราะคนตัดสินคือ ผู้ใช้ฟอนต์ ไม่ใช่ คนออกแบบฟอนต์.

ลักษณะสำคัญของแบบอักษรมานพ 5 คือ เป็นอักษรไทยทรงมาตรฐาน มีหัวกลม ทว่าทึบตัน. เส้นที่อยู่ในแนวตั้งจะหนากว่าเส้นในแนวอื่น. ปลายเส้นตั้งจะมน ต่างจากปลายเส้นแนวอื่นที่เรียวแหลม. แทบทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นลักษณะร่วมกับ DB ComBork (ดีบี คำบอก อยู่ในฟอนต์ DB#5) ฟอนต์ที่พัฒนาขึ้นจากแบบตัวอักษรป้ายบนทางด่วน.

แล้วกลุ่มอักษรหัวทึบมันมีข้อดีอย่างไร ถึงนิยม ใช้ทำป้ายถนนหนทาง?

ปก "การศึกษาในประเทศด้อยพัฒนา" ของสำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2518 ชื่อหนังสือใช้ตัวอักษรลอก มานพ 5 ให้สำเนียงทางวิชาการ
โลโก้ เวชพงศ์โอสถ ใช้ฟอนต์ JS Likhit (ซึ่งใกล้เคียงกับ มานพ 5 ถ้าดูในขนาดเล็ก) เพื่อสะท้อนคุณค่าผ่านกาลเวลา

เมื่อต้องดูตัวอักษรไทยในระยะไกล หรือดูผ่านด้วยเวลาอันสั้น โดยเฉพาะป้ายทางแยก ป้ายถนน ป้ายซอย ที่คนอ่านกำลังขับรถไปด้วยนั้น หัวอักษรกลวง แบบโดนัท ประสิทธิภาพอาจต่ำกว่าหัวอักษรทึบแบบซาลาเปาด้วยซ้ำ เพราะคนสายตาไม่ปรกติ ส่วนหัวแบบกลวงจะเห็นเบลอได้ง่ายกว่าหัวแบบทึบนั่นเอง. โดยเฉพาะอักษรหัวกลมทึบที่มีรัศมีไม่เกินความหนาของเส้นที่หัวของมันตั้งอยู่ (อย่างเช่น DB ComBork หรือ มานพ 5 กลุ่มนี้) นั้น ถือเป็นการลดรูปหัวที่แยบยล ผลลัพธ์ในการเอาไปใช้งานดีขึ้นกว่าแบบหัวกลวงซึ่งโดยปรกติต้องการรัศมีที่กว้างกว่าความหนาของเส้นตั้ง การประหยัดที่เล็กๆ น้อยๆ ด้านหน้าอักษรกลุ่มที่มีหัวยื่น ไปข้างหน้า (เช่น บ, น, ท) มีความหมายมากกับงานทำป้ายซึ่งมีพื้นที่จำกัด. เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ผมพูดได้โดยง่าย ต้องหันกลับไปดู JS Likhit ฟอนต์ PostScript ที่ดัดแปลงมาจากมานพ 5 ดู.

สิ่งที่ JS Likhit เปลี่ยนแปลงไปจาก มานพ 5 คือ เส้นแนวตั้งหนากว่า และปลายเปลี่ยนเป็นตัดฉาก (จากของเดิมที่ปลายมน) และส่วนหัวถูกทำให้กลวงโดยไม่ได้เพิ่มขนาดรัศมีวงกลม. ปลายเส้นตั้งที่เปลี่ยนเป็นตัดฉากนั้นไม่มีผลใดๆ ต่อการอ่าน แต่ส่วนหัวที่ดูแผ่วเบานั้น แน่นอนว่ามีปัญหาในการอ่านระยะไกล โดยเฉพาะกับสภาพแสงที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามท้องถนน.

สมมุติว่าเราเอา JS Likhit มาแก้ไขให้หัวมีขนาดโตขึ้นโดยมีเส้นรอบวงกลมของหัวที่หนาขึ้นกว่าเดิม ผลคือ มันอาจใช้เป็นตัวเนื้อหรือตัวดิสเพลย์ที่ดีได้ใกล้เคียงชุด DB Bangkok (ที่ต่อยอดจาก DB PongMai ใน DB#10) แต่ไม่สามารถทดแทนตัวหัวทึบแบบ DB ComBork หรือ มานพ 5 ในการทำป้ายบอกทางได้ เพราะขนาดหัวทำให้กินที่มากขึ้นและยังดูลายตากว่าแบบหัวทึบอยู่ดี.

แบบอักษร มานพ 5 เมื่อถูกใช้กับป้ายถนนที่ชื่อยาว จะถูกปรับสัดส่วนให้สูงกว่าเดิม (ถ่ายเมื่อ 18 ธันวาคม 2555)

โดยสรุป ในสภาพการอ่าน อย่างป้ายบอกทาง ที่ต้องการอักษรไทยประสิทธิภาพสูงนั้น ‘หัวทึบ’ ดีกว่า ‘หัวกลวง’ จะว่าต่างจากคนก็ใช่ จะว่าคล้ายก็ถูก. ที่ว่าต่างจากหัวคนก็ตรงที่ไม่ว่าจะคนหัวทึบหรือหัวกลวง ต่างล้วนทำหน้าที่บอกทางคนอื่นได้แย่ทั้งคู่. ที่ว่าคล้ายคืออย่างน้อย คนหัวทึบก็แค่คิดช้า ดีกว่าคนหัวกลวงที่คิดเองไม่เป็น.

จากลักษณะส่วนหัวของ JS Likhit ที่ดูด้อยกว่า มานพ 5 ต้นแบบดังกล่าว ประกอบกับในส่วนรายละเอียด เส้นโค้งเว้าโดยรวมยังไม่สามารถเก็บความประณีตของเดิมไว้ได้ จึงทำให้ JS Likhit ไม่ได้รับความนิยมเท่า มานพ 5 สมัยตัวอักษรลอกเรืองอำนาจ. ต่างจาก EAC Intanon ฟอนต์ PostScript ที่ อ.มานพ เป็นคนสร้างเองกับมือ จากแบบอักษรลอก มานพ 4 ซึ่งยังคงได้รับความนิยมใช้กันอยู่จนทุกวันนี้.

เมื่อเกิดโครงการอนุรักษ์แบบอักษรลอกชุด มานพ โดย DB ขึ้น จึงถือเป็นโอกาสที่ดี มานพ 5 ซึ่ง อ.มานพ ยังไม่ได้ทำเป็นฟอนต์ จะได้รับการชุบชีวิตขึ้นมาใหม่เป็นฟอนต์ Unicode. แทนที่จะใช้ชื่อ มานพ 5 เดิม ที่ตั้งตามลำดับที่ผลิตออกขายซึ่งจำยากนั้น ผมให้ชื่อใหม่ว่า ‘นพวิถี’ เพื่อให้จำที่มาและหน้าตาได้ง่าย, ว่าเป็นแบบอักษรของ อ.มานพ ที่ใช้กับป้ายถนนป้ายซอยใน กทม. มาก่อน.

งานอนุรักษ์ มานพ 5 เป็น DB NopVithee ชิ้นนี้ จัดว่ายากในขั้นเก็บรายละเอียดรูปอักษรให้ตรงตามต้นฉบับ ซึ่ง อ.มานพ ทำไว้พิถีพิถันมาก. ในขั้นจัดช่องไฟ เพื่อให้ได้ ‘สี’ กลุ่มอักษรที่สม่ำเสมอกันยิ่งไม่ใช่ของง่าย เนื่องจากผมจงใจให้ DB NopVithee เป็นตัวดิสเพลย์ ที่ช่องไฟค่อนข้างชิด จึงต้องปรับแต่งรายละเอียดอย่างพิถีพิถันในอักษรบางตัว เช่น

  • สระ อะ พบว่าของเดิมดูโปร่งไปเล็กน้อย จึงแก้ให้เส้นแนวนอนโค้งเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการลดพื้นที่ว่างตรงกลาง.
  • หัวขมวดม้วนของ ข, ช ถูกขยายช่องว่างให้โปร่งขึ้นเล็กน้อย ป้องกันหมึกท่วมจนทึบในงานพิมพ์หรือดูเบลอจากดำเป็นเทาๆ ที่ตัวขนาดเล็ก.
  • หาง ศ, ส ต้องเก็บให้ต่ำลง และเยื้องหลังเล็กน้อยเพื่อหลบสระบน ซึ่งถูกจัดให้ค่อนข้างชิดพยัญชนะ (ให้สมดุลกับอักษรบนเส้นฐานที่จัดช่องไฟไว้ชิด).
  • หางของ ช, ซ เดิมรอยหยักที่หางอยู่สูงเกินไปเล็กน้อย. นอกจากเลื่อนหางและรอยหยักลงมาเล็กน้อยแล้ว ยังเพิ่มชุดตัวพิเศษที่หดหางหลบต่ำเหมือน ฬ เมื่อพิมพ์สระบนตามมา.
  • ชุดตัวเลขไทยของเดิมๆ มีสัดส่วนที่เล็กและเส้นดูบางกว่าตัวอักษรอื่นบนเส้นฐาน จึงขยายขนาดให้โตจนได้สัดส่วน.
  • ขมวดม้วนของ ใ เดิมที่ล้ำไปข้างหน้ามากนั้นถูกหดเข้ามา (แบบ ข) ทำให้ลดระยะช่องไฟหน้า ใ ได้โดยส่วนบนไม่ชนสระวรรณยุกต์ของตัวข้างหน้า.
แบบอักษร มานพ 5 จากหนังสือแบบตัวอักษรลอกของสยามวาลา

สังเกตให้ดีจะพบว่า สิ่งที่ผมแก้ไขไปส่วนใหญ่จะเป็นการปรับแต่งน้ำหนักไม่ให้ดูโปร่งไป (เช่น สระอะ, ชุดตัวเลข) หรือทึบไป (เช่น ขมวดม้วน ข, ช). ส่วนการปรับปรุงรูปอักษรเพื่อรักษาระบบของการออกแบบ ผมพบว่ามีอยู่เพียง 2 ตัวเท่านั้น คือ ธ และ ๒ ที่มีเรื่องต้องพิจารณา. ปลายเส้นตั้งของตัว ธ พบว่า อ.มานพ ไม่ได้ทำให้มนแบบตัวอื่นๆ. เมื่อลองแก้ไขให้มน กลับพบว่าสู้ของเดิมไม่ได้! นี่เป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับชี้ให้เห็นว่า เพื่อเห็นแก่ความงามแล้ว มือประดิษฐ์อักษรขั้นเทพอย่าง อ.มานพ จะยอมผ่อนปรนระบบได้อย่างน่าทึ่ง. แต่กรณีเลข ๒ เส้นนอนที่ฐานซึ่งเป็นเส้นตรงเส้นหนานั้น ต่างจากตัวอักษร บ, อ, ย ซึ่งโค้งบางโดยสิ้นเชิง จึงแก้ไขให้โค้งบางตามกัน พบว่าดูไหลลื่นดีกว่า. ส่วนตัวอักษรโรมันของ DB NopVithee นั้น ปรับแต่งมาจากของ DB ComBork เพิ่มรายละเอียดให้อ่อนหวานมากกว่าเดิม โดยเฉพาะตัว italic. แบบอักษร มานพ 5 ที่งดงามเยี่ยงนี้ มิควรที่จะมีให้ใช้เพียงน้ำหนักเดียวอยู่แล้ว เมื่อ DB NopVithee เสร็จจึงต้องต่อตัว Bold พร้อม italic ให้ครบสมบูรณ์.

น่าเสียดายที่ปัจจุบัน มานพ 5 ถูกแทนที่ด้วย สำคัญ 2 แบบอักษรลอกที่เกิดในยุคเดียวกัน. เป็นเพราะ สำคัญ 2 เป็นอักษรทรงผอม (Condensed) ทำให้ใช้งาน ในที่แคบๆ ได้ง่ายกว่า. ส่วน DB NopVithee ฟอนต์เงาที่มี 4 สไตล์จะกลับมาแรงกว่าเหมือนมุนินทร์ในแรงเงาหรือเปล่า เรื่องนี้คงตอบยาก เพราะเดี๋ยวนี้มีฟอนต์จำนวนมากให้คนเลือกใช้. แต่ที่ตอบได้อย่างมั่นใจคือ ถ้าจะใช้อะไรนำทางให้เราละก็.

ฟอนต์หัวทึบตัวนี้วางใจได้มากกว่าคนหัวทึบ ชัวร์!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ January 2013