

อักษรประดิษฐ์ทรงเหลี่ยมมีมาช้านานแล้ว เพราะทำขึ้นง่าย โดยเฉพาะที่เหลี่ยมจัดไม่มีการลบมุมให้มนนั้น แค่มีไม้ฉากปากกาลงหมึกใครก็ทำเองได้. ในหนังสือสอนประดิษฐ์อักษรไทยยุคเก่าจึงมักใช้แบบอักษรตัวเหลี่ยมเป็นพื้นฐานฝึกเขียนกลุ่มอักษรที่มีจุดรวมสายตา (อย่างที่นิยมเขียนเป็นชื่อหนังบนโปสเตอร์สมัยก่อน.)
เพราะอักษรไทยมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เพื่อให้ได้ตัวพาดหัวที่หนา เตะตา และอ่านง่าย ตัวเหลี่ยมประดิษฐ์ของไทยโดยทั่วไปจึงนิยมให้รายละเอียดต่างๆ (ไม่ว่าจะเป็นขีดหัวแนวนอน หรือเส้นหยัก เส้นทะแยง ขมวดม้วน ฯลฯ) เป็นเส้นบาง แล้วเน้นหนาเฉพาะเส้นแนวตั้งแทน.



(ภาพจากหนังสือ ‘ร้อยปีหนังไทย’ รวบรวมโดย โดม สุขวงศ์ และ สวัสดิ์ สุวรรณปักษ์)
วิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างแบบอักษรทรงเหลี่ยมจากอดีตถึงปัจจุบัน ดูได้กว้างๆ เช่น มุมด้านนอกเป็นฉากคมหรือลบเหลี่ยม, เส้นขมวดม้วนของ น (ม) เฉียงขึ้น (ลง) หรือเป็นเส้นแนวนอนเชื่อมเส้นหน้าหลัง, เส้นหยักกลาง ผ (ฝ, พ, ฟ, ฬ) และเส้นทะแยง ท (ฑ, ห) ยังคงเฉียงหรือเปลี่ยนเป็นหักฉาก, มีการละหัวที่พอละได้บางตัวโดยอ่านไม่สับสน เช่น บ, น, ม หรือเปล่า, หัวและคอของตัว ด (ต, ฒ) ยังเต็มอยู่ครบหรือตัดทอนไปแล้ว เป็นต้น.
การละตัดทอนนั้นเพิ่งได้รับความนิยมราวทศวรรษ 2510 ที่กระแสสังคมไทยเราอยากทันสมัยอย่างฝรั่ง. การเกิดขึ้นของแผ่นอักษรขูดกลางทศวรรษนี้ ช่วยทำให้ตัวพาดหัวของไทยมีทางเลือกเปิดกว้างมากขึ้น. นักออกแบบที่ไม่สามารถประดิษฐ์ตัวดิสเพลย์ใช้เองได้ สามารถพึ่งพาซื้อแผ่นอักษรสําเร็จรูปมาใช้ เท่านี้งานก็หรูแล้ว (ดีกว่าดันทุรังทำเองในสิ่งที่ไม่ใช่ทางถนัด).
ตัวเหลี่ยมแคบ ‘มานพ 1’ ได้ถือกำเนิดขึ้นในยุคต้นๆ ของแผ่นอักษรขูดไทย เป็นฝีมือของ อาจารย์ มานพ ศรีสมพร ผู้มีผลงานที่ถูกผลิตเป็นอักษรขูดมากชุดที่สุดในเมืองไทย. ในจำนวนนี้มีบางแบบได้รับการอนุรักษ์เป็นฟอนต์ดิจิทอลนิยมใช้กันจนถึงปัจจุบัน ทว่ายังมีอีกหลายแบบ ซึ่งรวมมานพ 1 ด้วย ที่ยังไม่เคยมีใครทำเป็นตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง (ที่นิยมเรียกว่าตัวคอมพิว) หรือฟอนต์ดิจิทอลมาก่อนเลย!
ทำไม มานพ 1 จึงถูกละเลยไปร่วม 25 ปี? คำตอบที่สมเหตุสมผลน่าจะมีอยู่ 2 ประการ. ประการแรก จากการสอบถาม อ.มานพ พบว่าทาง EAC ไม่ได้ว่าจ้างให้ อ.มานพ ทำ มานพ 1 เป็น PostScript อาจเป็นเหตุผลทางการตลาดที่คาดเดาว่าไม่น่าจะเป็นที่นิยม เนื่องจากแบบมันดูง่ายธรรมดาเกินไปก็เป็นได้. ประการที่ 2 การเกิดขึ้นของ DB SiamSquare* ฟอนต์ทรงเหลี่ยมจัดคล้ายๆ กันได้สนองอุปสงค์ไปก่อนแล้ว. อันที่จริง DB SiamSquare* ไม่ได้ใช้ทักษะขั้นสูงใดๆ ในการออกแบบมากนัก ถูกจัดทำขึ้นโดยพนักงานใหม่ที่เคยมาทำงานกับ Dear Book (ชื่อเก่าก่อนจะมาเป็น DB) เป็นตัวฝึกสร้างฟอนต์ภายใต้การควบคุมดูแลของ คุณสุรพล เวสารัชเวศย์ อย่างหลวมๆ แต่ด้วยรูปร่าง อารมณ์ bitmap ของมันทำให้ดู popular เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น ขณะเดียวกันความเหลี่ยมดิบของมันก็ถูกตีความเป็นเรื่องขึงขังจริงจัง ถูกนำไปใช้มากกับชื่อหนังบู๊ไปจนถึงการเมืองบทบู๊! ส่วนมานพ 1 ซึ่งใช้ วิทยายุทธสูงส่งกว่า, ดูทางการเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าแท้ๆ กลับถูกแช่แข็งไปอย่างน่าเสียดาย!


เมื่อเกิดโครงการอนุรักษ์แบบอักษรขูดหรืออักษรลอก (แล้วแต่จะเรียก เพราะต้องออกแรงขูดถึงลอกหลุดออกมา) ระหว่าง อ.มานพ กับ DB ขึ้น มานพ 1 จึงถูกละลายน้ำแข็งเป็น DB NopSquare. เนื่องจาก มานพ 1 ทำไว้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้วจึงแทบไม่ได้แก้ไขอะไร. ถึงมันจะดูเป็นตัวเหลี่ยมง่ายๆ ทว่าถ้าใครสังเกตให้ดีแล้ว มีการลวงตาขั้นเซียนอยู่พอสมควร เช่น ตัว ฉ (ซึ่งมีเส้นหน้าสั้นกว่า น แถมมีเส้นบนนอนยาวนั้น) ถูกทำลำตัวให้แคบกว่าตัว น เพื่อลวงตาว่ามันกว้างเท่าๆ กัน เป็นต้น. อย่างไรก็ตาม อักษร ด ของมานพ 1 ที่ถูก ละทั้งหัวและคอเหลือเพียงขีดเดียวนั้น ทำให้มันดูสับสนคล้ายว่าเป็นตัว ถ มาก ผมจึงลบมุมซ้ายบนให้เฉียง 45 องศา เพื่อให้แยกแยะเป็น ด ให้ง่ายขึ้น (ในทางกลับกัน ผมเคยแก้ DB SiamSquare* เดิมจาก ก, ถ ที่กรอบบนเป็นเหลี่ยมธรรมดา ให้มีปากยื่นออกไป เพื่อให้ตัว ถ ไม่ดูสับสนเป็นตัว ด.)

ของคุณสุหฤท สยามวาลา
ใช้ฟอนต์ DB SiamSquare* เอาใจวัยรุ่น และได้อารมณ์การเมือง


สังเกตอักษร ด - ถ ดูแทบไม่ต่างกัน
สำหรับหัวอักษร ค ของมานพ 1 แม้จะยาวชนเส้นหลังจนไปพ้องรูปกับตัว A ของ DB SiamSquare* นั้น ผมอนุโลมคงไว้ เนื่องจากพื้นที่ว่างภายในตัวอักษรชุดนี้ค่อนข้างแคบ. เมื่อเพิ่มเติมเป็นชุด Bold จึงคงหัวตัว ค แบบนี้ไว้ ส่วนชุด Light เห็นว่าควรหดหัวตัว ค ให้แยกออกจากเส้นหลัง เพราะช่องว่างภายในมันมากพอนั่นเอง.
DB NopSquare มีชุดอักษรโรมันที่ออกแบบขึ้นใหม่ให้อ่านง่ายกว่าของ DB SiamSquare* โดยใช้ เส้นเฉียงที่เป็นเอกลักษณ์ของมานพ 1 เพิ่มเข้าไป เมื่อรวมชุดตัว italic เบ็ดเสร็จเป็น 6 สไตล์ ใครที่ชื่นชอบตัวเหลี่ยมทรงแคบจึงไม่ควรพลาด แม้ว่าจะมีเกิดใหม่ พอสมควร เช่น ฟอนต์จิ๊กโก๋อย่าง DB Kakabaht (DB#7) หรือ DB Rapeepat (DB#11) ก็ตาม
งานที่ดูเป็นทางการ, ชัดเจน ไม่ขี้เล่น ยังเปิดกว้างอยู่มากสำหรับตัวเหลี่ยมแคบอย่าง DB NopSquare