DB Nop OldStyle

ลักษณะกว้างๆ ของมานพ 20 (Regular) และ มานพ 21 (Bold) คือฟอนต์เสมือนโรมันประเภทมี serif ลักษณะที่เจาะจงแคบเข้ามาคือเป็น serif ยุคต้นๆ. เป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นตัวพิมพ์ของชาติภาษาใดก็ตาม ที่มักจะเป็นตัวที่คล้ายกับลายมือเขียนที่ผู้อ่านคุ้นเคยอยู่แล้ว (ต่อมาจึงค่อยมีการปรุงแต่งเพิ่มเติมเพื่อให้อ่านง่ายสวยงามด้วยศาสตร์และศิลป์ของตัวพิมพ์เอง.) ลักษณะที่อิงลายมือเขียน (ด้วย broad-nibbed pen) ของมานพ 20-21 ที่เห็นได้ชัดคือ ส่วนปลายที่เป็น serif นั้น พบว่าเส้นแนวระดับจะเว้าเข้าหาเส้นแนวตั้ง (stem) เล็กน้อย. ยิ่งพิจารณาดูตัว อ พบว่าส่วนหัวจะเป็นขีดเฉียงขึ้นเล็กน้อยซึ่งเป็นไปในลักษณะกลับด้านกับตัว e แบบ angled bar. ทั้งปลาย serif และ หัวตัว อ ของมานพ 20-21 ล้วนมีรากเหง้ามาจากตัวเรียงตะกั่วกลุ่ม Humanist Face. อย่างไรก็ตาม เส้นแนวตั้งของ มานพ 20-21 กลับขนานกันตลอดเส้น เหมือนตัวพิมพ์ยุคถัดมาคือ Garalde หรือ Old Style ซึ่งต่างจากกลุ่ม Humanist ที่มักดูค่อนข้างคอดกลาง หรือบิดเอนเล็กน้อยตามน้ำหนักกดปากกาของช่างเขียน. ในเมื่อมานพ 20-21 คล้ายทั้งฟอนต์ serif กลุ่ม Humanist และกลุ่ม Old Style ผสมกันดังนี้แล้ว เราควรให้ชื่อฟอนต์อนุรักษ์ชุดนี้ในภาค OpenType ว่าอะไรดี?

พ็อกเก็ตบุ๊คบน ‘วัฒนธรรมและกษัยธรรม’ ใช้ตัวขูด มานพ 21 (สำนักพิมพ์สยามรัฐ พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2523) และล่าง ‘เมียหลวง’ ชื่อคนเขียนคนแปล ใช้ตัวขูด มานพ 20 (บริษัท สี่เกลอ จำกัด ไม่ได้ระบุเดือนปีที่พิมพ์)
มานพ 20-21 อักษรลอกแบบใหม่ สำเนาย่อจากหนังสือแบบอักษรไทย ของสยามวาลา ถ้าใช้ขนาดเล็กเกินไปจะสังเกตตัวหัวหยักได้ยาก

ถ้าไปถามฝรั่งทั่วๆ ไปว่า ฟอนต์กลุ่ม Humanist กับ Old Style มันต่างกันอย่างไร คงมีไม่กี่คนที่ตอบได้! (นับประสาอะไรกับคนไทยอย่างเราๆ) เพราะมันเกิดประมาณยุค Renaissance ของยุโรป มีความเก๋าใกล้เคียงกัน. แม้แต่ ฟอนต์ Horley Old Style ซึ่งชื่อมี Old Style ลงท้ายแท้ๆ ในตำราฝรั่งบางเล่มยังจัดให้อยู่ในกลุ่ม Humanist จึงไม่แปลกที่ชื่อใหม่ของมานพ 20-21 ในภาค OpenType จะเป็น DB NopOldStyle เนื่องจากลักษณะของมานพ 20-21 ต้นแบบ เป็นส่วนผสมของ Humanist กับ Old Style ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว. ยิ่งกว่านั้นคำว่า OldStyle เหมาะที่จะใช้กำกับสำเนียงของฟอนต์มากกว่า Humanist ซึ่งกินความกว้างเกินไป. ถ้าเราให้ชื่อเป็น DB Nop Humanist อาจสับสนคิดว่าเป็นฟอนต์เสมือนโรมันกลุ่ม Humanist Sans ซึ่งไม่มี serif (ขณะที่มานพ 20-21 มี serif) ก็ได้.

ไม่เฉพาะส่วนปลาย serif ของมานพ 20-21 เท่านั้น ที่ดูอ่อนช้อย, ไม่ว่าจะเป็นส่วนหัวอักษร ส่วนหาง ฯลฯ ยังพิถีพิถันหาตัวจับยากอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้. นั่นอาจเป็นเพราะฟอนต์ไทยแบบมี serif นั้นทำยากจึงมีให้เลือกน้อย. ตามหลักฐานจากหนังสือแบบตัวอักษรไทย ของสยามวาลา ที่เราใช้อ้างอิง (ไม่ปรากฏเดือนปีที่ตีพิมพ์) มานพ 20-21 ยังเป็นอักษรแบบใหม่ที่ อ.มานพ ศรีสมพร ออกแบบไว้ 2 อันดับท้ายสุดเพราะมันทำยากนั่นเอง.

แบบมานพ 20-21 ที่ได้จากหนังสือของสยามวาลานั้น เราได้มาแค่พยัญชนะ ก-ฮ เท่านั้น ส่วนสระวรรณยุกต์ผมต้องค้นหาจากสิ่งพิมพ์เก่า (ก่อนปี พ.ศ.2530) อยู่เป็นแรมปี. เมื่ออนุรักษ์เป็นฟอนต์ DB NopOldStyle เราพยายามเก็บรายละเอียดที่งดงามเดิมๆ ไว้ให้ครบถ้วนมากที่สุด มีเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยเพื่อเป็นการแก้ปัญหาคู่สับสน ระหว่าง ผ-พ, ฝ-ฟ รวมทั้งกลุ่มหัวหยักระหว่าง ช-ซ, ม-ฆ และ ท-ฑ. ตัว ผ ได้แก้ไขจากที่หยักกลางสูงเสมอหัวเหมือน พ ไปเป็นตัวที่คล้าย ต กลับหัว. พวกหัวตัวหยัก ฆ, ซ, ฑ ได้เพิ่มรอยหยักให้กว้างดูเด่นชัดขึ้น. ตัวที่ผมขออนุญาต อ.มานพ แก้ไขใหม่นี้ถูกใช้เป็นตัวหลักจะได้อ่านง่ายขึ้น แม้ใช้ในขนาดเล็กหรือขนาดโตแต่ต้องดูจากระยะไกลๆ (ซึ่งก็เห็นได้แค่ตัวเล็กๆ อยู่ดี!) ส่วนตัวดั้งเดิมยังคงมีให้เลือกค้นใช้จาก (โปรแกรมใช้งานที่มี) Alternate ได้ ในกรณีที่พิจารณาแล้วว่าขนาด (ใหญ่) และระยะการอ่าน (ใกล้) เพียงพอ.

ในการทำชุดอักษรโรมัน ให้เข้ากับตัวดิสเพลย์ไทย DB NopOldStyle นั้น ผมจำเป็นต้องหาฟอนต์โรมันสคริปท์เทียบเคียงเอง เนื่องจาก อ.มานพ จำไม่ได้แล้วว่า มานพ 20-21 ได้เค้าโครงมาจากแบบตัวพิมพ์ฝรั่งตัวไหน (บางตัวอาจารย์ก็ทำขึ้นมาเอง ไม่ได้เจาะจงว่าจะให้ไปเหมือนฟอนต์ฝรั่งเหมือนเช่น ‘มานพติก้า’ ที่ต้องการเทียบเคียงกับ Helvetica) เท่าที่ลองค้นหาดูผมพบว่าฟอนต์ Horley Old Style นั้น มี e แบบ angled bar และมี stem (เส้นดิ่ง) ขนานกันตลอดเส้น. กล่าวได้ว่า Harley Old Style มีความเป็นลายมือเขียนน้อยกว่าพวก Humanist Face ด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับรายละเอียดของมานพ 20-21 ในตอนต้น จึงนำ Horley Old Style มาปรับแต่งสัดส่วน รวมทั้งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้เข้าชุดกับตัว DB NopOldStyle ไทย. แต่ในทางกลับกัน ชุดตัวเอนของ DB NopOldStyle ไทย กลับต้องปรับปรุงให้เข้ากับตัว italic ของ Horley Old Style ซึ่งมีตัวพิมพ์เล็กที่ผอมและพลิ้วไหวกว่าตัวตั้ง เพราะ serif ถูกเปลี่ยนไปเป็นเส้นตวัดปลายแหลมแทนนั่นเอง.

สำหรับนักออกแบบที่พิถีพิถันกับการใช้ตัวอักษรคลาสิกเยี่ยงมานพ 20-21 ซึ่งมีความหนาแตกต่างกันพอสมควรนั้น คงอยากได้มานพ 20.5 ด้วย! DB NopOldStyle จึงมีตัว Medium แทรกกลาง เพิ่มให้ด้วยเป็น 3 น้ำหนัก พร้อมตัวเอน รวมเป็น 6 สไตล์ ไม่ให้น้อยหน้าฟอนต์รุ่นหลังอย่าง DB Satawus (ฟอนต์เสมือน Century Scoolbook) หรือ DB Suvanni (ฟอนต์เสมือน Souvenir). อันที่จริง อ.มานพ ก็เคยทำตัวไทยแบบมี serif 3 น้ำหนักมาแล้ว คือ มานพ 17-18-19 นั่นเอง. แต่เนื่องจากเรามีฟอนต์ EAC Noparat ฟอนต์ฝีมือ อ.มานพ (ที่ถูกกอปปี้ไปเป็นฟอนต์อีกหลายชื่อ) ใช้เทียบเคียงมานพ 17-18-19 ได้อยู่แล้ว (หน้าตาคล้ายกันมาก แม้ว่าจะมีเพียง 2 น้ำหนักเองก็ตาม) ชุด DB Letter Press จึงไม่ได้บรรจุมานพ 17-18-19 ไว้.

เมื่อมีของดีให้ใช้แล้ว ปัญหาขั้นต่อมาคือจะใช้อย่างไรให้เหมาะสม? ข้อบ่งใช้ของ DB NopOldStyle พอสรุปได้เป็น 3 ข้อดังนี้

  1. ใช้เป็นตัวดิสเพลย์ไทยกับเรื่องราวย้อนยุคของโลกตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 15-16 เพราะมีรากเหง้ามาจากตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วกลุ่ม Humanist และ Old Style ที่เกิดในช่วงนั้น.
  2. เหมาะสมกับเรื่องราวของกรีก และโรมันโบราณ เนื่องจากตัวพิมพ์กลุ่ม Humanist และกลุ่ม Old Style จำนวนมากเกิดในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณ (ยุค Renaissance ในยุโรป ค.ศ. 1453-1527) จึงมีบทบาทสำคัญในฐานะเครื่องบันทึกเรื่องราวระหว่างเวลา 1,000 ปี แห่งสมัยกลางที่เคยลบเลือนไป.
  3. ไม่ควรใช้ DB NopOldStyle กับงานเชิงประวัติศาสตร์, วัฒนธรรมประเพณี หรือภูมิปัญญาไทย เพราะเรามีตัวอักษรหัวกลมเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งเทียบเคียงได้กับ serif ของฝรั่ง และตัวไทยประเพณีอื่นๆ ให้เลือกใช้เป็นตัวดิสเพลย์ได้มากพออยู่แล้ว (รวมไปถึงชาติอื่นๆ เช่น จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, อินเดีย ฯลฯ ที่เรามีฟอนต์ไทยเสมือนอักษรของชาตินั้นๆ ให้ใช้อยู่แล้ว).

ผมเคยเห็นโลโก้ยาสมุนไพรพื้นบ้านไทยใช้ฟอนต์ไทยแบบมี serif รู้สึกขัดตา เป็นอาการที่เรียกว่า ‘หัวมงกุฎไทย ท้ายมังกรไฟฝรั่ง’. ใครจะซื้อ DB NopOldStyle (ในชุด DB Letter Press) ไปใช้เยี่ยงนี้ถือว่าไม่ตรงข้อบ่งใช้. ข้อบ่งใช้ก็คือข้อบ่งใช้เท่านั้น ไม่ใช่ข้อบังคับ...

ใครจะไปบังอาจบังคับใจลูกค้าได้ล่ะครับ!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ May 2013