DB NopIntanon

ย้อนกลับไปยังยุคเรียงพิมพ์ด้วยตัวตะกั่วของไทย จะพบความจริงว่าแบบตัวพิมพ์สมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นตัวพื้นหรือตัวพาดหัว มักมีหัวกลมมาตรฐานเป็นส่วนใหญ่. ปรากฏว่ากลับมีตัวพิมพ์หัวกลมเพียงแบบเดียวที่มีสัดส่วนความกว้างมากกว่าความสูง และยังเป็นตัวพิมพ์หัวกลมเพียงแบบเดียวในยุคนั้นอีกเช่นกันที่มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยม โดยมีเส้นแนวตั้งหนาจัด (มากกว่า 1 ใน 4 ของความกว้างรูปอักษร) และเส้นแนวนอนบาง (ประมาณ 1 ใน 3 ของเส้นแนวตั้ง) ตัวพิมพ์ที่ว่านี้มีชื่อเรียกตามลักษณะเด่นของมันว่า ‘ป้อมดำ’. ผมเคย คิดว่ากลุ่มตัวเรียงตะกั่วพาดหัวทรงผอม (โป้งรอง, โป้งใหม่) มีสมาชิกมากสุด เอาเข้าจริงๆ ลองกลับไปนับจํานวนขนาดพอยท์ของป้อมดำจาก ‘หนังสือแบบตัวพิมพ์ของศรีอักษร’ ดู พบว่ามีขนาดพอยท์ลดหลั่นกันลงมาจาก 48, 40, 36, 32, 24, 19.5, 16 จนถึง 12 พอยท์ รวมจํานวนแล้วมากถึง 8 ขนาดพอยท์! นี่เป็นเครื่องยืนยันถึงความนิยมของป้อมดำได้เป็นอย่างดี

แล้วอะไรที่ทําให้คนนิยมใช้ป้อมดำ? เป็นเพราะความเหลี่ยมดูเข้มแข็ง หรือความกว้างดูมั่นคง หรือความเข้มดูหนักแน่น หรือความอ่านง่ายของมัน? คําตอบคือถูกทุกข้อ. ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบความสัมพันธ์ที่ว่าความเหลี่ยมช่วยให้เน้นเส้นตั้งได้เข้มเต็มที่ ส่วนความกว้างช่วยให้ตัวอ่านง่าย เนื่องจากทําให้เห็นรายละเอียดกลางตัวอักษรได้ชัดเจน.

แบบตัวพิมพ์ป้อมดำ จากหนังสือแบบตัวพิมพ์ ของศรีอักษร
PSL Chamnarn Bold

เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายว่าแบบอักษรที่มีเส้นบนเส้นล่างทํามุมฉากกับเส้นตั้งอย่างป้อมดำสามารถเน้นเส้นตั้งได้เข้มกว่าแบบอักษรที่มีเส้นบนเส้นล่างโค้งนั้น ผมต้องขอยกประสบการณ์ที่มีต่อ ‘ฝศ.ดํา’ ขึ้นมาเปรียบเทียบ. สมัยเริ่มทํางานออกแบบสิ่งพิมพ์ในปีแรกๆ ผมเคยสังเกตเห็นว่า แบบตัวคอมพิวท์กราฟิก ฝศ.ดํา หน้าตาไม่เหมือนตัว ฝศ.ธรรมดา และ ฝศ.หนา ซักทีเดียว โดยเฉพาะตัว อ นั้น แทนที่จะมีเส้นล่างโค้งกลมเป็นเอกลักษณ์แบบ ฝศ.กลับแบนราบติดเส้นฐานเสียอย่างงั้น! เนื่องจากขณะนั้นผมเป็นเพียงผู้ใช้ตัวพิมพ์ยังไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ จึงไม่ได้ตั้งคําถามว่า ทําไมเขาไม่ทําเส้นล่าง อ ของ ฝศ.ดำให้โค้งตามกัน? จนเวลาผ่านไปหลายปีเมื่อผมมีโอกาสมาออกแบบฟอนต์ใช้เองจึงได้ตั้งคําถามนี้ แล้วลองร่างตัว อ ของ ฝศ.ดำใหม่ให้มีเส้นล่างโค้งดูบ้าง จึงพบความจริงว่ามันดูเล็กและไม่ดําเข้มเท่าตัวอื่น. ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเส้นหลังแบบตัว ฝศ.นั้น โดยทั่วไปมีทั้งที่ตั้งเต็มส่วนสูง เช่น ท, บ, ผ, พ, ม และที่เกือบเต็มส่วนสูง (เพราะเส้นบนโค้ง) เช่น ก, จ, ค, ล จึงเน้นเส้นดำได้มาก ขณะที่ อ (ที่ผมร่าง) นอกจากจะมีเส้นหน้าสั้นอยู่แล้ว เส้นหลังยังสั้นกว่าตัวอื่นเพราะอยู่ระหว่างเส้นโค้งบน-ล่าง เน้นเส้นดำได้พื้นที่น้อยกว่า จึงดูเล็กและน้ําหนักแผ่วกว่า คนออกแบบถึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนเส้นล่างของ อ ให้แบนติดฐานนั่นเอง (เส้นล่างตัว ข, จ, ย ของ ผศ.ดําก็ต้องถูกเปลี่ยนจากโค้งเป็นแบนด้วยเหตุผลเดียวกัน.) ในทางตรงกันข้าม แบบอักษรทรงเหลี่ยมของป้อมดำไม่เกิดปัญหานี้เพราะชุดพยัญชนะของมันมีเส้นตั้งที่ยืนเต็มส่วนสูงทั้งหมด (ยกเว้น บางตัว เช่น ร.)

ส่วนที่ว่าความกว้างของป้อมดำช่วยให้อักษรแต่ละตัวอ่านง่ายนั้น เป็นเพราะผู้ออกแบบเลือกใช้เส้นบางๆ (ประมาณ 1 ใน 4 ของเส้นตั้ง) กับรายละเอียดที่อยู่กลางลําตัวอักษร ต่างจากตัวเหลี่ยม PSL Chamnarn Bold ที่แม้จะดูเข้มดำกว่า แต่อ่านไม่สบายเท่าป้อมดำ เพราะตัวจะแคบกว่าและเส้นรายละเอียดกลางลําตัวอักษรยังหนากว่า ทําให้รู้สึกหนักตา เมื่ออ่านต่อเนื่องไประยะหนึ่ง.

โป้งดำนี้เอง เป็นต้นแบบของ ‘มานพ 4’ แบบอักษรลอกปลายยุคตัวเรียงตะกั่วที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง เป็นตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง ชื่อ อินทนนท์, เป็นฟอนต์ PostScript ชื่อ EAC Intanon โดยนักออกแบบคนเดียวกัน คือ อ.มานพ ศรีสมพร.

ความแตกต่างในแง่โครงสร้างระหว่างมานพ 4 กับป้อมดำ เดิมคือมานพ 4 เพิ่มความสูงขึ้นไปเล็กน้อยด้วยการเพิ่มความหนาของเส้นแนวนอนขึ้นไปอีกเป็นประมาณ 2 ใน 5 ของเส้นแนวตั้ง ส่วนเส้นรายละเอียดกลางลําตัวยังคงความหนาประมาณเดิมไว้. วิธีนี้ทําให้มานพ 4 ตัวแคบกว่าป้อมดำเล็กน้อยแต่พื้นที่ว่างยังโปร่งเหมือนเดิม. เส้นบนเส้นล่างของป้อมดำเดิมซึ่งมีทั้งลากตรงบ้าง เป็นเส้นโค้งแบนๆ บ้างนั้น ถูกจัดระเบียบใหม่ให้เป็นเส้นตรงทั้งหมด. มุมฉากระหว่างเส้นแนวนอนกับแนวตั้งได้รับการลบมุมอย่างประณีตในมานพ 4 ทําให้ดูดีไม่เหลี่ยมจัดจนเกินไป.

ถ้าพิจารณามานพ 4 ที่รายละเอียดเส้นกลางลําตัวแต่ละอักษร จะพบว่าเส้นทะแยงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม น-ม, ท-ห ที่เคยลากเป็นเส้นตรงในป้อมดำเดิมนั้นถูกใส่ความโค้งเข้าไปเล็กน้อยในมานพ 4 ยกเว้นกลุ่ม ผ-พ ที่ยังคงเป็นเส้นตรงเหมือนเดิม. ส่วนหัวขมวดของ ข-ช เดิมที่เคยเน้นให้หนาตรงแนวดิ่งถูกลดน้ําหนักให้บางลง แล้วขยับเลื่อนเฉพาะเส้นหน้าเข้ากลางลําตัวเล็กน้อยโดยปล่อยส่วนหัวไว้ที่เดิม. หัว ข-ช ของมานพ 4 จึงดูปลอดโปร่งขึ้นบนเรือนร่างที่ไม่กว้างจนเกินไป (ช ช้าง ไม่ควรกว้างเท่า ย ยักษ์.)

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างและขัดเกลารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทําให้มานพ 4 เป็นหนึ่งในแบบอักษรลอกมาตรฐานที่นิยมใช้กันในงานออกแบบสื่อสารยุคนั้น. เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุค ฟอนต์ PostScript ของไทย (ราวปี พ.ศ.2530) นั้น มานพ 4 ในรูปดิจิทอลที่ชื่อ EAC Intanon ยังถูกถ่ายทอดเปลี่ยนชื่อไปเป็นฟอนต์ PostScript อีกหลายตัวตามมา เช่น JS Kiat, UPC Salvia รวมทั้งฟอนต์เข้ารหัส Unicode ในยุคปัจจุบัน ที่กลับมาใช้ชื่อเดิมคือ TF Intanon. นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าตัวพิมพ์รูปแบบนี้ลงตัวเพียงไรถึงยืนระยะได้นานจนปัจจุบัน.

อย่างไรก็ตาม ลูกหลานของป้อมคดำก็ยังคงมีเพียงตัว Bold ให้ใช้เพียงน้ําหนักเดียว อีกทั้งตัวอักษรละตินที่ทํามาให้ใช้ร่วมกันก็ยังคงเป็น Eurostile ที่ยังไม่ได้ผ่านการปรับปรุงความกว้างและน้ําหนักเส้นให้มีหนักเบาเหมือนป้อมดำต้นแบบ. UPC Salvia มีตัวละตินที่แคบและเล็กเกินไปมาก เมื่อเทียบกับตัวไทย ถ้าพิมพ์ 10 October จะเห็นเลข 0 อารบิก (ที่ได้ส่วนกับตัวไทย) มีขนาดใหญ่กว่าตัวพิมพ์ใหญ่ O ดูประหลาดมาก (ฟอนต์มาตรฐานเลข 0 ต้องแคบกว่าตัว พิมพ์ใหญ่ O เสมอเพื่อความสวยงามและไม่ให้ดูสับสนกัน.) ส่วนใน TF Intanon ตัวอักษรละตินของมันกลับดูกว้างเกินไป ไม่ได้ส่วนกับอักษรไทย รวมทั้งไม่ได้เน้นเส้นหนักเบาเหมือนป้อมดำหรือ EAC Intanon ต้นแบบ.

เมื่อเกิดโครงการอนุรักษ์แบบตัวอักษรลอกของ อ. มานพ ที่ยังไม่เคยถูกทําเป็นตัวพิมพ์มาก่อนให้เป็นฟอนต์ Unicode ทาง DB จึงถือโอกาสรวมเอามานพ 4 เข้าไว้ด้วยแม้ว่าจะเคยถูกสร้างเป็นฟอนต์ชื่อ EAC Intanon และอื่นๆ มาแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ฟอนต์ชุด DB LetterPress ที่รวมแบบ อักษรลอกชุดมานพไว้ด้วยกันมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น.

ในการแก้ไขปรับปรุงเป็นฟอนท์ใหม่ ชื่อ DB NopIntanon นั้น อ.มานพได้ฝากผมให้ช่วยลดความสูงของ โ ใ ไ ลง. ในส่วนอักษรอื่นๆ ดูเผินๆ แล้วมันสมบูรณ์มากจนแทบไม่เหลืออะไรให้ผมต้องปรับปรุงอีก นอกจากขมวดหาง ตัว ฎ และ ฏ ที่ลดน้ําหนักเส้นให้ดูโปร่งขึ้นได้อีก และ สระอะ ที่เพิ่มให้เข้มขึ้นได้อีกเล็กน้อย. นอกนั้นเป็นการปรับแก้ตามมาตรฐานของ DB คือเครื่องหมายไม้ยมก (ๆ) เดิมถูก ต่อหางให้เลยเส้นฐานลงมาเพื่อให้สังเกตเห็นความแตกต่าง ไปจากไปยาลน้อย (ฯ) ที่หางอยู่เสมอเส้นฐานอย่างชัดเจน (สัญญาณสื่อที่ไม่ชัดในบางสื่อของยุคนี้มีผลทําให้ไม้ยมกหางสั้นบางฟอนต์อ่านสับสนเป็น า หรือ ฯ ได้.)

ผมพยายามเอาป้อมคดำกลับมาศึกษาเทียบกับ EAC Intanon ทีละตัว เผื่อป้อมดำจะมีอะไรที่ดีกว่าหลงเหลืออยู่ ผมจะได้เอามาใช้! ความพยายามไม่สูญเปล่า ผมพบข้อดีที่ตัว ร และ ตัวการันต์, มุมฉากที่อยู่ระหว่างเส้นกลางกับเส้นตั้งของ ร ในป้อมคดำไม่ได้ลบมุมให้มนเลย ขณะที่ ร ของ EAC Intanon ลบมุมมากเกินไปเล็กน้อยทําให้เกิดภาพลวงตาว่าเส้นตั้งของมันเอนไปด้านหน้าเล็กน้อย. ส่วนหางตัวการันต์ของป้อมดำ แม้จะสั้นมู่ทู่แต่ปลายหางตัดแนวนอน สัมพันธ์กับไม้หันอากาศ, ไม้โท, ไม้ตรี และปลายหางของ จ, ว, อ ฯลฯ. การแก้ไข 2 ตัวนี้ผมใช้หลัก ‘เจอกันครึ่งทาง’ โดยการแก้มุมฉากตัว ร ให้คมขึ้นกว่าของ EAC Intanon และทําตัวการันต์ใหม่ให้หางยาวสวยแบบ EAC Intanon แต่แก้ปลายที่ตัดแนวเฉียงให้กลับไปตัดแนวนอนเหมือนของป้อมดำเดิม.

สําหรับชุดอักษรละตินใน DB NopIntanon Bold ต้องนํา Eurostile มาปรับสัดส่วนใหม่ให้เข้ากับชุดอักษรไทย แล้วรีดน้ําหนักเส้นนอนให้บางลงเพื่อรักษาเอกลักษณ์เดิมๆ ของมานพ 4 ไว้. จากนั้นจึงทําตัว Regular เพิ่มให้ใช้งานได้กว้างยิ่งขึ้น.

ในยุคที่นักออกแบบไทยนิยมใช้ฟอนต์ไทยหน้าตาคล้ายๆ อักษรละตินเป็นตัวดิสเพลย์ หลายคนอาจรู้สึกว่าโฆษณาของพวกธุรกิจธนาคารที่นิยมใช้ฟอนต์ไทยแบบมีหัวกลับแทรกตัวดูเด่นขึ้นมาอย่างน่าประหลาด! หนังสือพิมพ์บางฉบับ เช่น กรุงเทพธุรกิจ ใช้ฟอนต์มีหัวเป็นตัวพาดหัวทั้งหมด. ถึงคราวที่ต้องพูดอะไรออกไปตรงๆ ให้ดูน่าเชื่อถืออย่างธุรกิจที่ผมยกตัวอย่างมานี้ บางทีก็ไม่มีอะไรที่เท่ากับการหันกลับไปใช้บริการของฟอนต์ไทยแบบมีหัวซึ่งเป็นรากเหง้าของเราเอง อย่างเช่น DB NopIntanon ตัวนี้เป็นต้น. มันเป็นตัวเหลี่ยมที่โปร่งใสกับคนอ่าน โปร่งใสกับคนออกแบบฟอนต์ เพราะทุกบาทที่จ่ายไปคือค่าความสามารถพิเศษที่คืนกลับไปหาผู้ออกแบบฟอนต์ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ตัวตะกั่วป้อมดำที่ทรงคุณค่านี้ไว้ สิ่งที่ผมอยากรู้มากในขณะที่เขียนถึงบรรทัดนี้คือ

ใครเป็นผู้ออกแบบป้อมดำ?

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ June 2013