ก่อนจะถึงยุคฟอนต์ PostScript เรามีฟอนต์ไทยแบบตัวกว้างให้เลือกใช้น้อยมาก. ในยุคตัวเรียงตะกั่วเรามี ป้อมดำ เพียงแบบเดียวที่จัดว่าค่อนข้างกว้าง. เมื่อเข้าสู่ยุคตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง นักออกแบบสามารถสั่งช่างเรียงทำตัวพิมพ์ให้ บีบผอม ยืดกว้าง เอนหน้า เอนหลัง ได้ตามใจชอบ แต่ยังต้องรองานจากคนอื่นไม่สะดวกเหมือนทำเองด้วยโปรแรม InDesign ในปัจจุบัน. ตัวกว้างพิเศษที่ได้จากการสั่งเครื่องทำ ไม่ว่าจะเป็นตัวเรียงพิมพ์คอมพิวท์ (ที่ต้องรอเอาท์พุทเป็นแผ่นโบรไมค์มาตัดปะทำอาร์ทเวิร์ค) หรือตัวสั่งเองจากคอมฯ ก็ตามนั้น โดยมากจะดูยืดย้วยไม่ลงตัวเหมือนตัว Extended ที่นักออกแบบตัวพิมพ์ตั้งใจทำขึ้นมาเป็นพิเศษเพิ่มจากตัว Regular (เป็นการขยายสมาชิกครอบครัวตัวพิมพ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น.)
อาจเป็นเพราะว่าตัวพิมพ์แบบกว้างๆ สามารถใช้เครื่องสั่งยืดจากตัวปรกติได้ดังที่กล่าวมา จึงทำให้ไม่ค่อยมีใครคิดจะออกแบบตัวพิมพ์ไทยชนิดตัวกว้างโดยเฉพาะมาให้ใช้. ในทางกลับกัน แบบอักษรลอก มานพ 9 เกิดขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีการขยายความกว้างรูปอักษรของตัวพิมพ์ด้วยเครื่องยังไม่เกิดในเมืองไทย ดังนั้นนักออกแบบกราฟิกที่อยากใช้อักษรตัวกว้างจึงมีอยู่สองทางเลือก คือประดิษฐ์ใช้เองหรือไม่ก็ซื้อแผ่นอักษรลอกมาใช้. เราต้องกล่าวขอบคุณ ‘ข้อจำกัดทางเทคโนโลยี’ ที่มีส่วนช่วยให้แบบอักษรดีๆ อย่างมานพ 9 ได้แจ้งเกิด!
เพื่อตอบสนองความต้องการของนักออกแบบในขณะนั้น อ.มานพ ศรีสมพร ได้ออกแบบอักษรลอกชนิดตัวกว้างพิเศษ ไว้ 2 แบบ คือตัวเสมือนอักษรโรมัน Manoptica Extended และตัวดิสเพลย์หัวกลมไทยแท้ มานพ 9. ลักษณะโดยทั่วไปของ มานพ 9 มีส่วนคล้ายกับมานพ 2 ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเดินเส้นตามมาตรฐานอักษรไทยหรือน้ำหนักเส้นที่ใช้ แตกต่างกันที่อักษรโดยรวมของมานพ 9 มีความกว้างมากกว่ามานพ 2 อย่างเห็นได้ชัดเพราะเกิดมาเพื่อเป็นตัวกว้างโดยเฉพาะ.
ถ้าเราทดลองนำแบบอักษรมานพ 2 มาขยายความกว้างออกประมาณมานพ 9 โดยไม่ดัดแปลงใดๆ เราจะพบว่ารูปสระหลายตัวจะดูกว้างเกินไป ขณะเดียวกันปลายเส้นบนของอักษรซึ่งตัดแนวนอนจะบานออก. เพื่อให้แบบอักษรลอกทรงกว้างมานพ 9 ดูแตกต่างและกระชับกว่าการนำมานพ 2 มายึดโดยตรง อ.มานพ ผู้ออกแบบได้ใช้วิธีการอันแยบยล โดยการลดขนาดความกว้างรูปสระหน้า (โ, ใ, ไ) และสระหลัง (ะ, า) ให้แคบกว่าตัวพยัญชนะทั่วไป และตัดปลายเส้นบนอักษรทุกตัว (จ,ล,ว,อ ฯลฯ) ในแนวดิ่งแทน. นี่คือเคล็ดลับที่ทำให้งานที่ได้จากการใช้มานพ 9 (ในยุคที่นิยมขูดช่องไฟชิดๆ) ดูเข้มข้นหนักแน่นทั้งๆ ที่น้ำหนักเส้นของมันไม่ถือว่าหนาสักเท่าไร.
ด้วยการอ่านข้อความที่ใช้มานพ 9 และมานพ 2 อย่างผิวเผินเราอาจแยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำ ว่านอกจากสัดส่วนความกว้างแล้วมีอะไรบ้างที่มานพ 9 แตกต่างไปจากมานพ 2 แต่ด้วยการดูภาพโดยรวม ความรู้สึกที่เราสามารถจับต้องได้ไม่ต่างกันก็คือ มานพ 9 ดูมั่นคงและแกร่งกร้าวกว่ามานพ 2. เรารับรู้ว่าชามมั่นคงกว่าถ้วย โซฟามั่นคงกว่าสตูล ฯลฯ จึง เอาประสบการณ์เหล่านี้มาตัดสินความมั่นคงของแบบอักษรทั้งสองด้วยการเปรียบเทียบขนาดความกว้างกัน. แล้วอะไรที่ทำให้มานพ 9 ดูแกร่งกร้าวกว่ามานพ 2 ? คำตอบคือ การเปลี่ยนเส้นโค้งเล็กๆ น้อยๆ ของมานพ 2 ให้กลายเป็นเส้นทะแยงในมานพ 9 ดังต่อไปนี้:-
ก ปากมีรอยหยักออกเป็นเส้นทะแยงแทนที่จะโค้งเล็กน้อยเหมือน ก ของมานพ 2. อีกทั้งมุมที่ปลายปากยังถูกตัดในแนวดิ่งตามปลายเส้นบนของ จ,ล,ว,อ. เนื่องจาก ก เป็นทั้งพยัญชนะต้นคำไทยทั่วๆ ไป (เช่น โกง, กิน) และตัวสะกดแม่กก (เช่น ตก, นรก) มีความถี่ในการใช้งานสูง อีกทั้งยังมีจำนวนสมาชิกอักษรคล้ายมากที่สุด (พวกหัวเข้า ถ,ฌ,ญ,ณ,ฤ และหัวออก ภ,ฎ,ฏ,ฦ) จึงส่งอิทธิพลไม่น้อยต่อความรู้สึกที่มีต่องานที่ใช้มานพ 9.
ง หางเปลี่ยนจากที่เคยโค้งเล็กน้อยในมานพ 2 เป็น เส้นตรงเชิดชันขึ้นไป แล้วจบด้วยการตัดปลายหางทะแยงแหลมเสมอส่วนหัว ทำให้ดูเฉียบคมเหมือนปลายเส้นบน จ,ล,ว,อ ที่เกิดคมแหลมจากการตัดในแนวดิ่ง.
ช ใช้หางเฉียงทะแยงขึ้นสูงเสมอหัว แทนหางหยักโค้ง เหยียดตั้งเลยหัวเล็กน้อยแบบมานพ 2. ทำให้สายตาของเราแยกแยะ ช - ข ของมานพ 9 ออกจากกันได้ง่ายไม่แพ้ของมานพ 2 ทั้งๆ ที่ปลายหางอยู่ในแนวที่ต่ำกว่า.
ซ, ต เส้นหยักใช้เส้นหักเฉียงแทนเส้นโค้งเดิมที่พบในมานพ 2. เช่นเดียวกับมุมบนของ ท มีการเพิ่มสันเล็กน้อย ไม่ได้ปล่อยโค้งมนล้วนๆ เหมือนของมานพ 2 ทหารของมานพ 9 จึงดูแกร่งกว่า.
ร ถูกเปลี่ยนเส้นกลางจากที่เคยโค้งในมานพ 2 มาเป็นเส้นตรงทำมุมฉากกับเส้นตั้งด้วยความจำเป็น ทั้งนี้เพราะจะได้เส้นตั้งที่ยาวชัดเจนกว่า. มุมด้านขวาของตัว ร ถูกตัดในแนวดิ่งเหมือนปากของตัว ก รวมทั้งเส้นบนของมันยังถูกกดให้ลาดก่อนโค้งไปด้านหลังคล้ายเส้นบนของตัว ก. ส่วนอักษรคล้ายของมันคือ ธ และ ฐ นั้น ธ ออกแบบต่อเนื่องจาก ร ส่วน ฐ ซึ่งเป็นอักษรคล้ายของ จ ด้วยเช่นกันนั้น ยังคงใช้เส้นหลังแบบเฉียงสอบเข้ากลางลำตัวเหมือนตัว จ ซึ่งทรงตัวได้ดีกว่าเส้นหลังตั้งตรงแบบตัว ร. เส้นกลางและเส้นบนตัว ฐ ของมานพ 9 จึงเป็นโค้ง (แบบมานพ 2) เดิม เพียงแต่แต่งปลายหางให้ตัดแนวดิ่งตาม ร และ ธ.
ในการพัฒนามานพ 2 เป็นมานพ 9 นั้น นอกจากการเอาเส้นตรงเข้าแทนที่เส้นโค้งแล้วยังมีความเปลี่ยนแปลงในจุดที่น่ากล่าวถึงไม่น้อย คือ ที่หยักกลางตัว ย และที่หางตัว ส,ศ ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยเสริมความแกร่งให้มานพ 9 ดูกร้าวยิ่งขึ้น.
ย มีเส้นหยักกลางยาวลึกเลยหัวเข้ากลางลำตัว เป็นการจงใจออกแบบเพื่อช่วยลดความว่างภายในลำตัวนั่นเอง. ถ้าเรานำตัว ย ของมานพ 2 ซึ่งมีเส้นหยักกลางลึกไม่ถึงหัวมาลองขยายฐานให้กว้างดูก็จะพบความจริงข้อนี้. ผลพลอยได้ของเส้นหยักลึกคือได้ ย ยักษ์ ที่ดูเขี้ยวยาวขึ้น.
ส,ศ ใช้หางรูปทรงคล้ายเขี้ยวเสือพาดเฉียงทับเส้นบน. ปลายหางแบบนี้ถึงจะอยู่ในระดับต่ำกว่าหาง ส,ศ ของ มานพ 2 แบบโค้งตั้งขึ้นไป ก็ยังดูชัดเจนไม่แพ้กัน ซ้ำยังเฉียบคมกว่าด้วย.
เมื่อมานพ 9 ได้รับการอนุรักษ์เป็นตัวพิมพ์ดิจิทอลชื่อ DB NopPana มีการแก้ไขปรับปรุงน้อยมาก เช่น เพิ่มความกว้างของ ผ,ฝ และลดความกว้างของ ว เล็กน้อยเท่านั้น. ทั้งชุดมีตัวหนาและบางเพิ่มพร้อมตัวเอนให้เลือกใช้ รวมเป็น 6 สไตล์ (เช่นเดียวกับมานพ 2 ในชื่อ DB NopAnan.)
แม้มานพ 9 จะไม่เคยถูกอนุรักษ์เป็นฟอนต์ขายเชิงพาณิชย์มาก่อนเลยก็ตาม แต่ถ้าเราลองพิมพ์ DB NopPana Italic หรือ DB NopPana Bold Italic ดู เราอาจนึกคุ้นหน้าเหมือนว่าเคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน. อยากรู้ว่าเหมือนใครให้เปิดหนังสือ "แบบตัวพิมพ์ไทย" ของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ตีพิมพ์ มิถุนายน 2544) ไปที่หน้า ฟ - 173 จะพบฟอนต์ชื่อ JS Pisamai หน้าตาคล้ายกับมานพ 9 มาก เพียงแต่เป็นตัวเอน (ไม่มีตัวตั้ง) เส้นหนากว่า มานพ 9 เล็กน้อย. ผมเองเพิ่งเคยเห็นครั้งแรกในหนังสือเล่มนี้ ยังนึกถึงมานพ 9 เลย. เมื่อลองกลับไปพิจารณาดูอีกครั้ง จึงพบว่าแตกต่างจากมานพ 9 ต้นตำรับพอสมควรไม่ว่าจะเป็นหัวที่บวมทึบ เส้นที่ยังคงขรุขระ หรือความกว้างตัวอักษรที่ไม่ได้ส่วนกัน (ดูผอมกว่ามานพ 9 เล็กน้อย) ประกอบกับ การเลือกตัดปลายเส้นบนในแนวเฉียง (ไม่เหมือนมานพ 9 ที่ตัดแนวดิ่ง) ทำให้ลดความแกร่งกร้าวลงไป. ใครที่ยังคงใช้ JS Pisamai อยู่ผมแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้ DB NopPana ที่มีทั้งตัวหนา ตัวบาง ตัวตั้ง ตัวเอน ครบเครื่องกว่า.
ที่สำคัญคือยังคงรักษาตัวตนของมานพ 9 ที่เกิดมากว้าง สร้างมาแกร่ง ได้เป๊ะ!