DB ThaiText

งานออกแบบทุกยุคในโลก ล้วนพัฒนาคลี่คลายไปตามเทคโนโลยีร่วมสมัยของมันเสมอ. ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยี ใหม่ๆ เกิดขึ้น ย่อมเกิดโจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทายความจำกัดของเทคโนโลยีเดิม.

ราวปี พ.ศ. 2500 เมื่อเทคโนโลยีการเรียงพิมพ์แบบโมโนไทพ์จากอังกฤษเข้ามาสู่เมืองไทยนั้น ได้ปรากฏแบบตัวพิมพ์ใหม่แบบเส้นสม่ำเสมอขึ้น 2 ตัว คือ โมโนไทพ์บาง และ โมโนไทพ์กลาง ผลงานของคุณ พีระ ต. สุวรรณ. ปัญหาของตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วเดิมคือเสียพื้นที่สำหรับเครื่องบน (สระบน วรรณยุกต์ การันต์) มากเกินไป คุณพีระแก้โดยใส่ใจกับรายละเอียดชุดสระ อิ อี อึ อื จากที่ปลายด้านหน้ายกสูงแบบตัวพื้นเดิมๆ มาเป็นลดต่ำเสมอปลายล่างด้านหลัง และเก็บหางเฉียงของพยัญชนะทุกตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหางของ ส ไม่ให้สูงเกินเหมือนตัวพื้นยุคแรกเริ่ม ช่วยให้สามารถลดพื้นที่ระยะบรรทัดลงได้เล็กน้อย. แล้วการแก้ปัญหาหางตัว ส ของตัวโมโนไทพ์ใหม่ได้ไอเดียมาจากไหน?

บน ตัวโมโนไทพ์กลาง และล่าง ตัวโมโนไทพ์บาง
สำเนาเท่าแบบ จากปกหลังวิทยาสาร ปีที่ 17, ฉบับที่ 13, 1 เมษายน 2509.
พบว่าอักษร ค และ ส ของตัวพิมพ์ ทั้งคู่มีลักษณะที่คล้ายกัน

เพื่อหาคำตอบ ผมลองย้อนกลับไปดูตัว ส เท่าที่เคยปรากฏเป็นตัวพิมพ์มาก่อนหน้านี้ พบว่ามี ส อยู่ 2 แบบ ที่มีการเก็บหางมาแล้ว. แบบแรกเป็น ส ของตัวพิมพ์ ฝ.ศ. ใช้วิธีต่อหางจากเส้นกลางภายในลำตัว เฉียงออกไปด้านข้างเพื่อหลบสระบน แต่มักพบปัญหาหมึกท่วมพื้นที่เล็กๆ ที่ เกิดจากโคนหางปิดซอกระหว่างเส้นหลังกับเส้นกลาง. ส่วนอีกแบบเป็น ส ที่พบในกลุ่มตัวโป้ง (ชื่อเรียกตัวพาดหัวสมัยก่อน) ที่นายแซ ผู้ออกแบบใช้วิธีลากหางจากกลางลำตัวเฉียงไปด้านหลังเช่นกัน ทั้งโป้งแซ, โป้งบาง, โป้งรอง (อนุรักษ์เป็น OpenType แล้ว ชื่อ DB Zair, DB BangRak, DB PongRong ตามลำดับ) แต่เส้นกลางตัว ส ของนายแซทุกตัว แทนที่จะโค้งตามเส้นบน (เหมือน ฝ.ศ.) กลับหักเทจากเส้นหน้า (ซึ่งเป็นเส้นดิ่งเหมือน ฝ.ศ.) ลงไปชนเส้นหลัง. วิธีการของนายแซทำให้สังเกตเห็นโคนหางที่อยู่ภายในลำตัว ส ได้ง่ายขึ้นไม่สับสนเป็นตัว ล อีกทั้งช่วยขยายพื้นที่มุมอับให้กว้างขึ้น (ได้มากกว่า ฝ.ศ.) คุณพีระคงเห็นข้อดีของ ส แบบนายแซ จึงนำมาดัดแปลงใช้กับตัวโมโนไทพ์กลาง ทำให้อ่านง่ายแถมหมึกไม่ท่วมเป็นจ้ำอีกต่อไป.

เมื่อพิจารณาตัว ส (ตัวหางสั้น) ของตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วโป้งบาง กับ ส ของชุดโมโนไทพ์ใหม่เปรียบเทียบกันดู พบว่าเส้นที่สร้างขึ้นมามีความใกล้เคียงกันมาก ทำให้เชื่อได้ว่า ส ของโมโนไทพ์กลางน่าจะได้แบบอย่างมาจาก ส ของโป้งบางนี่เอง.

นอกจากจะแก้ปัญหาการกินที่ของเครื่องบนของตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วแล้ว ความน่าสนใจของตัวพิมพ์คู่นี้คือ เป็นตัวพิมพ์แบบเส้นสม่ำเสมอชุดแรกของไทยที่นำหลักการที่ดีของแบบตัวเรียงตะกั่ว ฝ.ศ. มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาคู่สับสนระหว่าง ค-ด หรือการแก้ปัญหาหมึกท่วมเป็นจ้ำที่ฐานตัว จ ก็ตาม. หัวตัว ค ของมันจงใจให้ห่างจากเส้นหลังมากที่สุดด้วยการโยกเส้นคอ (จากเดิมที่นิยมเขียนเฉียงลงมาบรรจบเส้นหน้า) ให้อยู่ในแนวดิ่งแบบเดียวกับที่พบครั้งแรกใน ฝ.ศ. ทำให้แยกแยะออกจากตัว ด ได้ง่าย. ส่วนตัว จ นั้นแทนที่จะให้คอของมันทำมุมรูปตัว V กับเส้นหลังอย่างที่นิยมเขียนกัน กลับเปลี่ยนเป็นตัว U (เส้นคอดิ่งขนานเส้นหลัง) แบบ ฝ.ศ. แทน.

ตัวอักษรที่ถือว่าเกิดใหม่ในโมโนไทพ์โฉมใหม่นั้นล้วนมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษคือตัว ง. มุมที่ฐานของมันแทนที่จะแหลมเหมือนตัวพื้นในอดีตทั้งหมด (ไม่ว่าจะตัวบรัดเลย์, ธงสยาม, ฝ.ศ.) กลับลบมุมเล็กน้อยด้วยการใส่เส้นโค้งเข้าไป. รูปอักษร ง แบบใหม่นี้นอกจากจะช่วยลดปัญหาจุดเข้มที่ฐานได้ดี (เหมือน จ ของ ฝ.ศ. ต้นแบบ) แล้ว ผมคิดว่ายังช่วยให้น้ำหนักตัวอักษรไม่เทไปข้างหน้าเหมือนแบบเดิม (ที่มีทั้งหัวและหางยื่นออกไปจากแนวเส้นดิ่ง) เนื่องจากจุดสัมผัสเส้นฐานได้เคลื่อนตัวออกจากเส้นดิ่งไปอยู่ประมาณจุดศูนย์ถ่วงของตัวอักษรนั่นเอง. ผมใช้หลักฟิสิกส์ตรวจสอบสมดุลของตัวอักษรอยู่เสมอและคิดว่าเส้นกิ่งที่ฐานของตัว ช ในตัวโมโนไทพ์ใหม่ที่รับมาจากตัว ฝ.ศ.นั้น มีส่วนช่วยให้อักษรทรงตัวได้ดีขึ้น.

ความอ่านง่ายและดูเรียบง่ายเป็นกลาง ทำให้แบบตัวพิมพ์โมโนไทพ์ทั้งสองนี้ได้รับความนิยมมาก ถูกนำไปหล่อเป็นตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วหลายขนาดพอยท์ และได้รับการอนุรักษ์เป็นตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง (ที่คนไทยนิยมเรียกว่าตัวคอมพิว) ชื่อ เชียงแสน และ พิมาย ตามลำดับ. นักออกแบบยุคนั้นยังคงนิยมเรียกตัว เชียงแสน และ พิมายกัน (ติดปากตั้งแต่ยังเป็นตัวตะกั่ว) ว่า ตัวธรรมดาบาง และ ตัวธรรมดา เนื่องจากเมื่อเราอ่านมันที่ขนาดพอยท์เล็กๆ เป็นตัวพื้นมันดูธรรมดามาก ไม่มีอะไรเด่นพอที่จะระบุตัวตนได้ชัดเจนเหมือนตัวพิมพ์คอมพิวอย่าง ทอมไลท์ (ที่เห็นความเป็นทรงเรขาคณิต) หรือ อู่ทอง (ที่เห็นเส้นหนักเบาอย่างตัว ฝ.ศ. แต่ดูเป็นไทยกว่า.) ตัวธรรมดาของโมโนไทพ์นี้ได้รับการยอมรับในวงการพิมพ์ว่าเป็นตัวพื้นที่ดีที่สุดในยุคสมัยของมันซึ่งอยู่ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2500-2520. การเกิดขึ้นของ ทอมไลท์ในปี พ.ศ. 2519 (แบบตัวพิมพ์ใหม่ที่เป็นสัญลักษณ์ของยุคเรียงพิมพ์ด้วยแสง) ช่วยแบ่งเบาภาระกิจตัวพื้นให้ เชียงแสน และ พิมาย มากขึ้นตามลำดับ.

โดยส่วนตัวแล้วตัวพื้นที่ผมใช้บ่อยที่สุด (ก่อนมาออกแบบฟอนต์ใช้เอง) คือ พิมาย เพราะมันดูเป็นกลางดี ใช้กับงานแนวไหนก็ได้ น้ำหนักก็ไม่บางเกิน จะสั่งตัวคอมพิวพอยท์เล็กก็ยังชัวร์ว่ายังดูชัด (เอาท์พุทเป็นแผ่นโบร์ไมด์สมัยนั้นต้องลุ้นอีกว่าตัวจะบวมหนาหรือจางเบาเกิน.) เมื่อเข้าสู่ยุค DTP ของไทย (เริ่มราวปี พ.ศ. 2531-2532) จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ฟอนต์ตัวพื้นลำดับแรกที่ผมอยากนำมาใช้เป็นแบบฝึกหัดคือ พิมาย!

DB ThaiText เป็นฟอนต์โพสท์สคริปท์ตัวพื้นไทยลำดับแรกของ ดีบี เกิดจากการนำตัวพื้น พิมาย ที่ดูธรรมดาดังกล่าวมาตีความใหม่ โดยปรับปรุงการเดินเส้นอักษร บางตัว เช่น ง, จ, ผ, พ, ม, ธ, ล ฯลฯ ให้ดูธรรมดาใกล้เคียงตัวเขียนมากยิ่งขึ้น ยกเว้นเส้นกิ่ง (ที่ไม่มีในลายมือธรรมชาติ) ยังคงรักษาไว้ และตัว ค ที่นอกจากจะไม่พยายามแก้ให้ดูคล้ายตัวเขียนแล้ว ยังพยายามปรับให้เข้าใกล้ ค ของ ฝ.ศ. ที่เป็นต้นแบบมากยิ่งขึ้นไปอีก.

ง มุมโค้งที่เส้นฐานเป็นของเด็ดที่ผมรักษาไว้เช่นกัน แค่รู้สึกขัดใจปลายหางที่งอมาด้านหน้า จึงเหยียดหางออกเป็นเส้นตรงเหมือนการเขียนปรกติ.

จ, ฐ ผมแก้ให้คอเฉียงจรดเส้นหลังซื่อๆ แม้จะทรงตัวสู้ของเดิมไม่ได้แต่รับประกันความอ่านง่ายไม่เป็นรอง!

ผ, พ เส้นหยักกลางตัวเดิมจะบิดโค้ง (พบเป็นครั้งแรกในตัวพื้นไทย) ผมชอบตรงไปตรงมามากกว่า.

น ของ พิมาย (โมโนไทพ์ใหม่) ก็อาจได้อิทธิพลมาจาก น ของ โป้งรอง คือขมวดม้วนอยู่นอกเส้นหลังซื่อๆ ต่าง จาก น ของตัวพื้นที่เกิดขึ้นก่อนหน้าซึ่งล้วนมีขมวดม้วนอยู่ใต้เส้นหลัง จึงคงลักษณะการเขียนที่เรียบง่ายกว่าไว้ในไทยเท็กซ์.

ม มุมที่ฐาน แทนที่จะใส่โค้งแบบเดิม ถูกเปลี่ยนให้ง่ายเหมือนตัว น. ทำให้ ฆ และ ฌ อักษรคล้ายของมันถูกแก้ตามไปด้วย. ฌ ของพิมายเป็นพยัญชนะเพียงตัวเดียวที่หัวเป็นรูปครึ่งวงกลม จึงถูกแก้ให้กลมเหมือนตัวอื่นๆ.

ธ เส้นหน้าเดิมสูงชนเส้นบน (เหมือนตัวบรัดเลย์ และ ฝ.ศ.) นอกจากจะดูแปลก (ไปจากลายมือที่เด็กยุคผมเขียน) แล้วยังดูเป็นจ้ำโดยไม่ต้องรอให้หมึกพิมพ์ท่วม! ธ ของไทยเท็กซ์จึงหดเส้นหน้าต่ำพ้นเส้นกลางลงมาอย่างที่เห็น.

ล และ ส ผมใส่โค้งที่เส้นหน้าเล็กน้อยเพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติเหมือนลายมือเขียน โดยคงข้อดีของ ส เดิมที่ได้จากโป้งบางของนายแซไว้อย่างเหนียวแน่น.

การแก้ไขในอักษรอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมานั้น ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ ให้ตัวอักษรได้สมดุลขึ้น เช่น การเพิ่มความโค้งด้านหน้าของเส้นบนตัว ก ให้ดูใกล้เคียงด้านหลังมากขึ้น, การลบมุมที่ฐานด้านหน้าของตัว ย ให้มนเหมือนด้านหลัง, การแก้ตัว ด ไม่ให้ดูคะมำหน้า โดยโยกเส้นคอให้เฉียงไปด้านหน้ามากขึ้นเล็กน้อย หรือการดึงขมวดม้วนของตัว ห ออกไปให้เสมอเส้นหลัง ฯลฯ.

ตัวอย่างหนังสือวงการสถาปัตยกรรม ที่ใช้ไทยเท็กซ์เป็นตัวพื้น

นอกจากจะปรับโฉม พิมาย หรือตัวธรรมดาให้ดูธรรมดายิ่งขึ้นไปอีกเป็น DB ThaiText แล้ว สุรพล เวสารัชเวศย์ เพื่อนผมผู้สร้างตัว Regular (ด้วย Fontographer จากเส้นร่างของผม) ยังถือโอกาสเพิ่มตัว Bold พร้อมตัว Italic ในคราวเดียวกันรวมเป็น 4 สไตล์ กลายเป็นฟอนต์ตัวพื้นทางเลือกใหม่ของยุค DTP ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลาอันรวดเร็ว. สุรพล เป็นคนใส่อักษร DB (ย่อจาก Dear Book) บอกตระกูลฟอนต์ ส่วนชื่อ ThaiText ตั้งโดย ปราสาท วีรกุล เพื่อนอีกคนที่ร่วมบุกเบิกภาษาไทย บน DTP กับสุรพล. มันเป็นชื่อที่ธรรมดามากก็จริง แต่ช่างเหมาะสมกับจุดประสงค์ที่ถูกสร้างไว้ใช้อ่านมากกว่าใช้อวด!

DB ThaiText ออกจำหน่ายรวมอยู่ในฟอนต์ ดีบี ชุดแรก เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 โดยเพิ่มตัว Light พร้อม Italic เข้าไปรวมเป็น 6 สไตล์ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อ และถูกพัฒนาเป็นฟอนต์ OpenType จำหน่ายในเดือนเมษายนปีถัดมา. ชุดที่ทำขายแตกต่างจากชุดแรกที่ถูกละเมิดสิทธิ์มาร่วม 16 ปี (แห่งความหลัง) อยู่ 2 ตัว คือแก้ ร ไม่ให้คะมำหน้า และแก้ ไม้โท ให้ไม่สับสนกับ สระอะ เมื่อใช้งานในขนาดเล็กจัด.

แม้ทุกวันนี้จะมีฟอนต์ไทยที่ตั้งใจออกแบบให้เป็นตัวพื้นมาให้เลือกใช้มากมาย ดีบี ไทยเท็กซ์ ก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ ด้วยเหตุผลที่หลายคนบอกผมว่ามันเรียบง่าย เทียบเคียงได้กับ Helvetica ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปลายเส้นบน ไม่ว่าจะเป็น จ, ล, ว ฯลฯ ล้วนตัดแนวเฉียงเหมือน a, c, s ของฟอนต์ Trade Gothic ขณะที่ a, c, s ของ Helvetica ตัดแนวนอน.

ความสำเร็จของ DB ThaiText ต้องขอยกเครดิทให้คุณ พีระ ต. สุวรรณ วิศวกรผู้สร้างตัวโมโนไทพ์กลางเป็นมรดกทิ้งไว้ให้พวกเรา. โดยส่วนตัวผมภูมิใจกับผลงานออกแบบ DB FongNam มากกว่าในฐานะฟอนต์ตัวพื้นเกิดใหม่ที่เป็นสัญลักษณ์ของยุค PostScript ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในตัวตนของผม ขณะที่ DB ThaiText ผมแทบไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากการพยายามรักษาปรัชญาการออกแบบตัวพื้นที่ดีที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในตัวโมโนไทพ์กลาง

มันคือ ความไม่มีตัวตน ขณะที่คนกำลังอ่านมันอยู่นั่นเอง.

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ September 2013