

ถ้าถามนักออกแบบกราฟิกไทยที่เคยทำงานในยุคฟอนต์ PostScript ของไทย (เริ่มคึกคักราวปี พ.ศ.2531) คงไม่มีใครปฏิเสธว่า DB FongNam เป็นฟอนต์ตัวพื้นที่แหวกสุดๆ ในยุคนั้น (เช่นเดียวกับที่ทอมไลท์ของอาจารย์ทองเติม เสมรสุต เคยให้ประสบการณ์นี้กับนักออกแบบยุคตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง) นอกจาก องอาจ ชนาธิปกุล ผู้ที่ช่วยผมเอาแบบตัวฟองน้ำไปสร้างใน Fontographer (Software สร้างฟอนต์สมัยนั้น) แล้วไม่น่าจะมีใครจำได้ว่า แรกเริ่มตัว ค, ด และ จ ของฟองน้ำไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น. มันซนเกินไปในสายตาของผม. ตัว ค, ด ดูกระโดกกระเดกเกเรไม่ราบรื่นพอจะเป็นตัวพื้น ส่วนตัว จ ดูลงตัวดีกว่า ทว่ามันซ่าเกินกว่าที่ผมคิดว่าคนยุคนั้นจะรับไหว. ผมเก็บ จ ตัวนั้นไว้นานร่วม 15 ปีจึงเอามาปัดฝุ่นลองใช้กับตัวพื้นไทยชุดใหม่ที่ตั้งใจจะให้ซ่ากว่า DB FongNam เลยตั้งชื่อว่า DB Soda. เราซุ่มทำและลองใช้งานพิมพ์จริงเพื่อดูข้อบกพร่อง ในปี พ.ศ.2546 จากนั้นทำการปรับแก้แล้วลองขยายสมาชิกครอบครัวออกไปให้ได้มากที่สุด ดูซิว่าฟอนต์ตัวหัวกลมๆ ของไทยจะขยายได้ซักกี่น้ำหนัก. ผลลัพธ์คือโซดา 7 น้ำหนัก ออกมาขายในปี 2548.

ในร่างแรกของ DB FongNam นั้น หัวอักษรและเส้นบนของ ค, ด, จ จงใจใช้จุดศูนย์กลางร่วมกัน.
เมื่อทดสอบทำการพิมพ์อ่านดูแล้ว ค, ด ไม่ผ่าน ส่วน จ เก็บบ่มไว้นานจนถึงเวลากลับมาแจ้งเกิดในฟอนต์ DB Soda.



สังเกตตำแหน่งสระอุมาตรฐานจะวางเสมอหลังตัวอักษร แต่รูปทรง จ ของ DB Soda จำเป็นต้องใช้สระอุคนละตัว โดยวางตำแหน่งใหม่ ด้วยการเลื่อนหัวของมันเข้ามาให้ตรงแนวเส้นตั้งของ จ ที่อยู่กลางลำตัว.
นี่เป็นการใช้สมรรถนะ ‘Ligature’ ครั้งแรกในงานออกแบบฟอนต์ไทยยุค OpenType
ในวันที่ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรให้ความรู้กับผู้สมัครเข้าประกวด 10 ตัวพิมพ์เพื่อการแจกใช้ฟรี ที่จัดทำโดยชมรมจัดพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ไทยนั้น ผมเอา DB Soda ที่ทำเสร็จแล้ว เป็น PostScript ไปแสดงเป็นครั้งแรก ได้รับความสนใจมาก เนื่องจากว่าคนไทยไม่เคยคิดว่าตัวพื้นแบบหัวกลมๆ ของไทย จะสามารถขยายสมาชิกได้ถึง 7 น้ำหนัก! (อาจมีคนเคยคิดแต่ไม่บ้าที่จะลงมือทำพิสูจน์เหมือนเรา!)
ผมนำอักษรบางตัวของทอมไลท์ ฟองน้ำ และโซดา มาเรียงเปรียบเทียบกันเป็นการเล่าถึงพัฒนาการของตัวพิมพ์พื้นรูปทรงเรขาคณิตของไทยเพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้เริ่มต้นออกแบบตัวพื้น.
จะสังเกตได้ว่า ฟองน้ำเป็นการนำทอมไลท์มาขัดเกลาเอาความเป็นลายมือเขียนออก เช่น ปากตัว ก ที่มีแต่หยักออก 45 องศาไปชนเส้นโค้งบน (ไม่มีหยักเข้า) หรือเส้นกลางของ น และ ม เหยียดเป็นเส้นตรงไม่ได้โค้งเหมือนทอมไลท์ เป็นต้น. ส่วนโซดามีทั้งที่แหวกแนวสุดๆ คือตัว จ ทรงต้นไม้พุ่มกลม และไม้โทที่มีคอตั้งตรง ยังมีที่ย้อนยุคกลับไปเอา ค-ด ของตัวตะกั่ว ฝ.ศ.มาจัดระเบียบเส้นใหม่ให้เข้ารูปทรงเรขาคณิต หรือตัว อ, ย ที่มีเส้นล่างเป็นโค้งครึ่งวงกลมก็เอา ฝ.ศ.มารีไซเคิลเช่นกัน. ผลลัพธ์ก็คือ นอกจากตัว จ และชุดตัวเลขไทยของโซดาที่ดูแหวกแนวทำลายขนบแล้ว ที่ขนาดพอยท์เล็กๆ แม้แต่ผู้อ่าน ส.ว. (สูงวัย) ก็ดูเหมือนจะคุ้นเคยกับมันโดยง่าย เพราะผมได้ทำการร่อนเอาของดีๆ มาใช้ นั่นเอง.
จะว่าไปแล้วตัว จ แบบที่มีคอเป็นเส้นดิ่งยืนบนฐานโดดๆ แบบนี้เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าผมอยู่ตัวหนึ่ง คือตัว จ พาดหัวไทยรัฐที่ อ.ทองเติม ออกแบบไว้ก่อน (ที่ผมจะทำ จ ของฟองน้ำชุดแรก) ระหว่างที่กำลังสนุกกับเส้นเรขาคณิตบนตัว จ ผมอาจได้รับอิทธิพลมาจาก จ ไทยรัฐโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้.


จุดเด่นอีกประการหนึ่งของ DB Soda ที่เหนือกว่า DB FongNam คือชุดอักษรละติน. ฟองน้ำนั้นคล้าย Avant Garde ซึ่งอ่านยากในสายตาของฝรั่ง Writer อย่างน้อย 2 คน ที่เคยบ่นให้ผมฟัง. ส่วนของโซดาเป็นการออกแบบขึ้นให้เข้ากับชุดอักษรไทยโดยเฉพาะและอ่านง่ายกว่า. สังเกตที่ตัว a และอักษรคล้ายของมัน ไม่ว่า d (b) หรือ q (p) เกิดจากการตัดวงกลมออกด้วยเส้นในแนวดิ่งทั้งสิ้น (เส้นหัก 45 องศา ที่ฐานติดพันมาจาก DB Stick) ไม่ได้กลมดิกเป็นตัว o แบบ Avant Garde แต่ตัว g ของโซดาที่ผมจงใจให้ซ่าเป็นเพื่อนตัว จ นั้น เมื่อลองทบทวนย้อนหลังฟอนต์ละตินเก่าๆ ดูแล้ว ผมคิดว่าคงได้อิทธิพลมาจาก g ของ Kabel. ตัว จ ของโซดาส่งอิทธิพลต่อ จ ของ DB ToonHua ที่ออกแบบขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่วนตัว g ผมนำไปดัดแปลงใช้กับ DB Object.




Mag Ad กวนๆ ของ DB Soda. คำว่า Black ในที่นี้
หมายถึงน้ำหนักตัวพิมพ์ ไม่ใช่เหล้า
สมัยทำงานออกแบบสิ่งพิมพ์อยู่ ผมเคยใช้ DB Soda เป็นทั้งตัวดิสเพลย์ที่ปกยันตัวพื้นในเล่มแบบฟอนต์เดียวอยู่. งาน Typography ไม่ได้หวือหวาอะไรมาก (ผมไม่ถนัด!) เล่มแรกที่ใช้เชิงพาณิชย์ คือ ‘น้ำหารสอง’ ที่เล่มหนาสุดก็ หนังสือครบรอบ 10 ปีดับเบิ้ล เอ เป็นต้น. ปัจจุบันจะเห็น DB Soda ใช้เป็นตัวพื้นในนิตยสารอยู่หลายเล่ม แต่ที่ผมสนใจคือเวลาที่มีใครเอามาจัดเป็นดิสเพลย์แปลกๆ มากกว่า. ความจริงแล้วฟอนต์หัวกลมพวกนี้อ่านได้ง่ายกว่าพวกไทยเสมือนละตินมาก ถ้าใครคิดว่ามันเชยให้ลองเอาโซดาไปขยายใช้ดู อาจเปลี่ยนใจหันมารักโซดา. เราจะเห็นว่าโฆษณา ธนาคาร, บริษัทขายประกัน หันมาใช้ตัวหัวกลมกันมากขึ้น เหตุผลน่าจะเป็นเพราะมันดูตรงไปตรงมาน่าเชื่อถือนั่นเอง.
DB Soda ไม่ได้ซ่าเฉพาะรูปทรงของมัน แม้แต่โฆษณา ที่ผมเขียนก็ซ่า ไม่ว่าจะเป็น Mg Ad หรือที่ลงใน website www.dbfont.biz
ผมอยากเรียกมันว่า ‘DB Soda กับฟองซ่าทั้งเจ็ด’ ครับ!