DB Manoptica

แบบอักษรประดิษฐ์ไทยเสมือนละตินชุดแรกของไทยที่สมบูรณ์ที่สุด คือ แบบอักษรลอกชุดมานพติก้า โดย อ.มานพ ศรีสมพร ในปี พ.ศ. 2516 ช่วงที่ทํางานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ บ.ดีทแฮล์ม ตามความต้องการของคุณ Deter Nort อาร์ตไดเร็กเตอร์ชาวสวิสที่อยากได้แบบอักษรไทยเรียบง่ายคล้ายฟอนต์สุดยอดนิยม Helvetica.

อันที่จริงแล้วก่อนการเกิดของมานพติก้าไม่กี่ปี อ.มานพ เคยฝากฝีมือการประดิษฐ์อักษรลูกครึ่งไทย-ฝรั่งมาบ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น แบบอักษรลอกชุดมานพ 3 (DB NopHybrid) ที่เริ่มมีลักษณะคล้ายอักษรละตินแบบเส้นสม่ำเสมอ (Even Weight) ตัวอย่างเช่น อักษร ท, น, ร ดูคล้ายตัวพิมพ์เล็ก n, u, s เป็นต้น. อย่างไรก็ตาม มานพ 3 ยังไม่ได้ละหัวอักษรที่หันไปทางซ้าย อย่างเช่น น, พ, ม) อย่างสิ้นเชิง โดยยังคงปลายหัวโค้งเอนด้านหน้าเล็กน้อยพอให้เป็นที่สังเกต และที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ชุคสระ อิ อี อึ อื ยังคงรูปวิธีเขียนดั้งเดิมไว้ ไม่ได้ละเส้นแนวนอนเหลือขีดเดียว (อย่างปัจจุบันที่นิยมทําเลียนมานพติก้ามา).

อักษร น, ร ของมานพ 3 เริ่มเลียนแบบตัวพิมพ์เล็ก u, s มาก่อนมานพติก้า
แต่สระ อิ อี ยังไม่ได้ละเส้นนอนเหลือเป็นเส้นเดียวเหมือน มานพติก้า
ภาพจากหนังสือตัวอย่างสินค้า MN Mecanorma (21x29.7 cm)
ด้านล่างแสดงให้เห็นแบบอักษรลอกชุดที่ขายดีของไทย มี ‘มานพติก้า 4’ ติดกลุ่มพร้อมกับ Helvetica ซึ่งอยู่ด้านบน

ลักษณะที่ทําให้มานพติก้าแตกต่างไปจากตัวอักษรประดิษฐ์เท่าที่เคยนิยมเขียนกันมา คืออักษรหลายตัวจงใจดัดแปลงจากตัวพิมพ์เล็กของชุด Helvetica โดยตรง เช่น เอา n, u, s, a, c, e มาดัดแปลงเป็น ท, น, ร, ล, ว, อ ตามลําดับ. ที่สําคัญ หัวอักษรหลายตัว เช่น ท, น, บ, พ, ม, ห ถูกละทิ้งไปโดยสิ้นเชิง ขณะที่ตัวอักษรดิสเพลย์ไทยที่นิยมประดิษฐ์มาก่อน มักละหัวอักษรจากกลมมาตรฐานเหลือเป็นขีดสั้นๆ ในแนวนอน. มานพติก้าจึงดูเรียบง่าย ทันสมัย เป็นแบบอักษรของมวลมหาประชาชนในยุคนั้นอย่างรวดเร็ว.

การละหัวดังกล่าวในมานพติก้า แค่เพียงทําให้อ่านยากเล็กน้อยสําหรับคนไทยในช่วงแรก แต่มันไม่ทําให้สับสนว่าเป็นตัวอื่น เช่น ถึง บ, พ ไม่มีหัว ข และ ผ ก็ยังมีหัวให้สังเกตแตกต่างกันระหว่าง ข-บ, ผ-พ เป็นต้น. การคํานึงถึงการอ่าน ถือเป็นความรับผิดชอบสําคัญที่ อ.มานพ ทิ้งไว้ให้นักออกแบบตัวพิมพ์รุ่นหลังอย่างผมได้นํามาศึกษาต่อยอด.

นักออกแบบตัวพิมพ์มีไม่น้อยที่บางครั้งลืมคํานึงถึงความสับสนระหว่าง ถ กับ ด. ถ้าเราศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ก, ถ, ด ของมานพติก้า จะพบว่า ก ของ อ.มานพ ละรอยหยักของปากเหลือเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ U คว่ํา. ส่วน ถ กลับมีปากหยัก เพื่อไม่ให้ดูสับสนเป็นตัว ด เอาได้ (โดยเฉพาะถ้าใช้กับพาดหัวที่ไม่มีตัว ด ให้ดูเปรียบเทียบ). สําหรับตัว ด ของมานพติถ้านั้นดูต่างจาก ถ มาก เพราะมาจากตัวพิมพ์ใหญ่ D กลับด้านในแนวนอน เส้นบนจึงแบนราบกว่า ถ ต่างกัน อย่างเห็นได้ชัด.

ถ้าเราลองสังเกตให้ดี ตัว ย ของมานพติก้าก็มาจาก ตัว B กลับด้าน เช่นกัน. ตัว ช น่าจะเป็นลูกติดพันมาจากตัว ย ทําให้ได้ ช แบบไม่มีหัว แตกต่างจาก ข อย่างสิ้นเชิง ซึ่งนับเป็นข้อดีที่ทําให้ ข-ช ของมานพติถ้าดูไม่สับสนกัน.

ในชุด DB Manoptica เลือกใช้ตัว ร เรือ ที่คล้ายอักษรมาตรฐานเป็นตัวหลักและ ร แบบ S เป็นตัวเลือกจาก Glyphs

แม้แต่ตัว ร อ.มานพยังทําไว้ 2 แบบให้คนได้เลือกใช้ คือ ร แบบตัว s ฝรั่งไปเลย กับ ร ที่ยังมีเค้าโครงของเก่า ปรากฏว่าคนนิยมแบบตัว s ฝรั่งมากกว่า!

เราต้องใช้การสังเกตให้ถี่ถ้วนขึ้นจึงพบว่า แท้ที่จริงแล้ว อ.มานพ ยังคงรักษาหัวแอบแฝงบิดโค้งเอนแบบมานพ 3 ไว้ในอักษรบางตัวของมานพติก้า เช่น จ, ฉ, สระอุ, อู และไม้โท.

อักษรลอกมานพติก้าทั้งชุด ทําไว้เพียง 5 สไตล์สําคัญๆ คือ ตัวกว้างมาตรฐาน Regular, Medium, Bold 3 สไตล์, ตัว Extended และ Condensed มีเฉพาะตัว Bold อีก 2 สไตล์, ในชุด Condensed นั้น พบว่าอักษร ง, จ, ว, อ เส้นหลังตรง ไม่เหมือนสมาชิกสไตล์อื่นๆ เป็นความจงใจขั้นเซียนให้ได้แบบอักษรทรงสูงที่ดูหนักแน่นนั่นเอง.

สําหรับงานอนุรักษ์อักษรลอกมานพติก้าชุดนี้ เดิมทีทาง DB ตั้งใจรักษาของเก่าเท่าที่มี 5 ชุดไว้ เพื่อใช้เป็นงานอ้างอิง จึงทําไว้ให้ใกล้เคียงต้นแบบมากที่สุด (แม้กระทั่ง ตัว ร ก็มีให้เลือกใช้เหมือนต้นฉบับ) แต่ด้วยพบว่ายังดูลงตัว ใช้งานได้ดีกว่าฟอนต์ไทยเสมือนละตินอีกมากมายที่เกิดในยุคปัจจุบัน จึงทําตัว Extended และ Condensed เพิ่มอีกอย่างละ 2 น้ําหนัก พร้อมเพิ่มชุดตัวเอนที่ไม่เคยทําไว้ ให้สมาชิกครบสมบูรณ์ขึ้น รวมเป็น 18 สไตล์ เพื่อจําหน่ายฉลองครบรอบ 40 ปีของตัวพิมพ์ที่เปลี่ยนโฉมหน้างานออกแบบสื่ออย่างขนานใหญ่ในอดีต.

ใครที่ออกไปเดินในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ร่วมกับเพื่อนร่วมชาตินับล้านๆ ที่ไม่เคยรู้จักเพื่อเรียกร้องให้ประเทศปฏิรูป ต้องไม่ลืมว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว วันที่ 14 ตุลาคม 2516 มีคนไทยร่วมแสนทํามาก่อน เราถึงมีวันนี้. เช่นเดียวกับใครที่เคยใช้ฟอนต์มหาชนอย่าง พีเอสแอล กิตติธาดา หรือ ดีบี เฮลเวไทยก้า ต้องไม่ลืมว่า เป็นเพราะเมื่อ 40 ปีที่แล้วเรามี มานพติก้าชี้นําสังคมมาก่อน!

โดย อ.มานพ ศรีสมพร ผู้ก่อการปฏิวัติตัวดิสเพลย์ไทย ด้วยความสนับสนุนของมวลมหาประชาชนคนอ่าน!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ December 2013