ในบรรดาพระราชโอรสทั้งหมดของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีอยู่พระองค์หนึ่งที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพในเชิงศิลปะหลายแขนง ทั้งงานสถาปัตยกรรม, ประติมากรรม, เขียนภาพ, ออกแบบนิเทศศิลป์, งานประยุกต์ศิลป์, งานอักขรศิลป์ ฯลฯ. พระราชโอรสพระองค์นี้ คือ กรมพระยานริศฯ ผู้มีบทบาทอย่างสูงต่อวงการศิลปกรรมของชาติ. ทรงมีโอกาสทํางานศิลปะชิ้นสําคัญๆ ถวายรับใช้พระเจ้าแผ่นดินสยามถึง ๓ รัชกาล จนได้รับฉายาในหมู่เจ้านายสมัยนั้นว่า ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’.
ถ้าเอาเฉพาะผลงานด้านอักขรศิลป์เด่นๆ ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เท่าที่ผมเคยศึกษามา พบว่าส่วนใหญ่จะมีลักษณะร่วมประการหนึ่งคือ เขียนด้วยปากกาปากแบนหรือพู่กันปากแบน ไม่ว่าจะเป็นหัวปกหนังสือ, บนตาลปัตรพัดรอง ไปจนถึงผนังบนหน้าบันในงานสถาปัตยกรรมไทย. อักษรแบบนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายตกมาถึงช่างพื้นบ้านเกิดวิวัฒนาการคลี่คลายกลายเป็นแบบตัวอักษรริบบิ้นหลายสไตล์ แต่ยังคงเรียกกันในหมู่ช่างเขียนว่า ตัวอักษรกรมพระยานริศฯ หรือ แบบไทยนริศ.
แต่แบบอักษรฝีพระหัตถ์ที่งดงามจับใจผมเป็นพิเศษ กลับเป็นแบบค่อนข้างเรียบง่ายที่เขียนเป็นคําบาลี ๔ บรรทัด บนหน้าตาลปัตรพัดดํารงธรรม พัดรองงานบุญฉลองพระชันษา ครบ ๖๐ ปี ของสมเด็จฯกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕. แบบอักษรดำรงธรรมดูทันสมัยกว่าชุดอักษรประดิษฐ์อื่นๆ ลักษณะทั่วไปตัวตั้งตรง น้ําหนักเส้นเป็นแบบค่อนข้างสม่ำเสมอ (ไม่หนักเบาอย่างตัวริบบิ้น) คล้ายตัวเนื้อสมัยนี้ ทว่าซ่อนความวิจิตรงดงามไว้ที่ปลายเส้นอักษรด้วยการทิ้งรอยสะบัดสั้นๆ ของหางพู่กันปลายแหลมไว้โดยตลอด. จุดเด่นที่น่าสนใจอย่างยิ่งอยู่ที่อักษร ต มีการเขียนเส้นไขว้แบบเลข 8 จากหัวลงมาบิดตัวขมวดเป็นปมทึบขนาดเล็กที่เส้นฐาน ซึ่งผมไม่เคยพบในอักษร ต หรือ ค ที่ไหนมาก่อน. จริตของตัว ต นี้เองทําให้ผมมั่นใจว่าน่าจะเป็น jigsaw ต่อเติมมรดก ๔ บรรทัดจากสมเด็จครู ให้หวนกลับมาเป็นแบบตัวพิมพ์ดิจิทอลที่อวดคุณค่าความเป็นไทยได้.
ในการอนุรักษ์แบบอักษรดํารงธรรมให้เป็นฟอนต์นั้น งานขั้นต้นของผมเริ่มจากการจัดระบบตัวอักษรจากเท่าที่มีปรากฏให้เราเห็น โดยดูภาพรวมคือ ลักษณะเส้นบนเส้นล่างของตัวอักษร, ลักษณะหัวของอักษร. เมื่อจัดระบบโครงสร้างหลักของตัวที่มีอยู่เสียใหม่จนเสร็จเรียบร้อย ก็จะได้หลักการออกแบบตัวที่เหลือจนครบ. จากนั้นงานขั้นสุดท้ายคือการไล่เก็บรายละเอียดการสะบัดปลายหางทุกๆ จุด.
พิจารณาที่เส้นบนของตัวอักษรดำรงธรรม จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นเส้นโค้ง ยกเว้น อ และ ร เพียง ๒ ตัวที่มีเส้นบนเป็นเส้นนอนราบ. เส้นบนโค้งถือเป็นลักษณะเด่นที่ดูร่วมสมัย และพัฒนาต่อยอดไปเป็นตัวเนื้อได้ง่าย ผมจึงเลือกใช้เส้นบนแบบโค้ง. ตัว อ สามารถยืมเส้นบนของ ล ส่วน ร มีสระ โ และ ธ เป็นต้นแบบให้หยิบใช้. แต่เมื่อพิจารณาที่เส้นล่างกลับพบว่าเป็นตัว อ (อีกแล้ว) ที่มีเส้นล่างโค้ง ขณะที่ตัวอื่นๆ คือ บ, ป, ย, ธ (ไล่ตามลําดับที่ปรากฏบนตาลปัตร) ล้วนมีเส้นล่างแบนราบเสมอเส้นฐาน. ถ้ามองในแง่อักษรประดิษฐ์เพียง ๔ บรรทัด ถือว่า อ กลมกลืนได้เป็นอย่างดีกับอักษรทั้งชุด อีกทั้งตําแหน่งที่อยู่ของ อ ทั้ง ๒ ตัวก็ช่างเป็นเหตุบังเอิญ คือ ตัว อ แถวบนอยู่ระหว่าง ส (ซึ่งมีหางคั่นกลางกับ อ) และ ก (ซึ่งบังเอิญเขียนไม่โค้งเท่าตัวที่อยู่ในแบบร่าง) และตัว อ แถวล่างก็อยู่ระหว่างสระ เ (ซึ่งไม่มีเส้นบน) และ ต ซึ่งเส้นบนเป็นหยักพอดี จึงแทบสังเกตไม่เห็นความผิดปรกติใดๆ ในตัว อ. แต่ถ้ามองในแง่การนํามาทําเป็นตัวพิมพ์แล้วอักษร อ และ ย มีโอกาสใช้ร่วมชิดติดกันอยู่บ่อยๆ ทั้งในรูปพยัญชนะต้น (เช่น อยู่, อย่า) และรูปตัวสะกด (เช่น บ่อย, เรื่อย). เส้นล่างของ อ และ ย จึงไม่ควรแตกต่างกัน. ดังนั้นจึงควรปรับ อ ให้มีเส้นล่างตรงเหมือน ย และ บ, ป, ธ ฯลฯ เพื่อรักษาภาพรวมของเส้นฐานอักษรต้นแบบไว้.
เมื่อพิจารณาที่หัวอักษร ส่วนใหญ่เป็นแบบหัวเปิดเฉียง มีแบบหัวกลมทึบแทรกอยู่ด้วยเพียงส่วนน้อย จึงขึ้นอยู่ที่การตีความว่าจะเลือกหัวแบบไหนดี. ดูจากภาพถ่ายต้นฉบับจะเห็นได้ชัดว่าคุณค่าของอักษรชุดนี้อยู่ที่การลงพู่กันเขียนสี (แม้อาจจะมีเส้นร่างอยู่ก่อนก็ตาม) แน่นอนว่าหัวแบบเปิดเฉียงเขียนง่ายเป็นธรรมชาติกว่าหัวแบบกลมทึบ จึงเลือกใช้แบบหัวเฉียงทั้งหมด โดยลดทอนส่วนคลื่นที่หัว (แบบหางตัว น ใน ดวงใจ ตราสัญลักษณ์ประจําพระองค์ของสมเด็จครู) และทำให้ทู่ลง เพื่อจะได้ไม่ยื่นแหลมแข่งกับปลายหางส่วนอื่นๆ.
อักษร ต นั้นสามารถเป็นต้นแบบของสมาชิกตัวคล้ายของมัน ไม่ว่าจะเป็น ด, ค เพียงแค่ตัวมันเองต้องปรับหัวให้ยาวออกมาชัดเจนไปเลยว่าเป็น เต่า หรือ ตน กันแน่ อักษร น, ม ถูกปรับขมวดม้วนเดิม (ที่กลมทึบอยู่แล้ว) ให้ เล็กลงจนดูเข้าชุดกับ ค, ด, ต.
อักษรอื่นที่ไม่ปรากฏให้เห็นในตาลปัตรนั้นมีวิธีออกแบบต่างกันไป. ตัว ฬ, ฎ, ฏ และ ฐ อาศัยขมวดปมแบบ ต มาต่อยอดได้. ตัว ช ใช้วิธีหาดูจากอักษร ช ในงานชิ้นอื่นๆ ของสมเด็จครู พบตัว ช แบบที่เขียนจากหัวไปเส้นหลังอ้อมลงฐานมาเส้นหน้า แล้วตวัดเฉียงขึ้นไปทางหลังเป็นหางซึ่งเหมือน ช ของตัวเนื้อบรัดเลย์ไปจนถึง ‘ทอมไลท์’ (คนคุ้นในชื่อ UPC Cordia) ที่ออกแบบโดยอาจารย์ทองเติม เสมรสุต ผมจึงนํา ช แบบนี้มาปรับหัวปรับหางให้เข้าชุดกัน โดยไม่ลืมหยอดจะงอยแหลมที่ด้านหน้าของเส้นล่างให้เหมือนตัว บ, ป ต้นแบบ. จุดที่ ช ต่างไปจาก บ, ป คือเส้นหน้าที่ผมเขียนให้เฉียงสอบเข้าหาฐานแทนที่จะเป็นเส้นดิ่ง.
ส่วนตัว ห นั้นถ้าไม่คิดอะไรมากก็แค่ทําเส้นหน้าให้ดิ่งตรงแบบ ท แล้วขมวดปมทึบแบบ น, ม. แต่หากพิจารณาตามหลักการผสมคําแล้ว ห มีที่ใช้นําอักษรต่ำในคำจำนวนมาก เพื่อช่วยในการผันเสียงวรรณยุกต์ ทั้งผันเสียงเอกในคำตาย เช่น หยุด, หลบ, หมอก ฯลฯ หรือผันเสียงจัตวาในคําเป็น เช่น หลง, หนม, หวาน ฯลฯ. ถ้าเราลองเขียน ห ตามด้วย อักษรต่ำที่ร่วมกันได้ เช่น หงา, หนาม, เหมือน, หยาบ, หรู, หลาก, หวาน ฯลฯ เราจะพบว่าอักษรต่ำในแบบตัวพิมพ์ชุดนี้จะประกอบด้วยเส้นตั้งตรงเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นตัว ล มีเส้นหน้าโค้ง). ถ้าเราใช้ ห แบบเส้นหน้าตรงดิ่งผสมเข้าไปอีก ย่อมเป็นการลดทอนความพลิ้วไหวไปไม่น้อย ผมจึงเลือก ห ที่เส้นหน้าเขียนบิดตัวแบบอักษรนริศทั่วๆ ไปมาใช้ ซึ่งช่วยให้งานโดยรวมดูละเมียดขึ้นได้. ความรู้ด้านอักขรวิธีทําให้เราคาดเดาความน่าจะเป็นของหน้าตาแต่ละคำที่ร้อยเรียงกัน จึงสามารถนำมาใช้ประกอบการออกแบบได้.
ไม่มีกฎตายตัวใดๆ ในงานออกแบบ. นอกจากตัว ห ที่เส้นหน้าไม่เหมือนเพื่อนฝูงของมันแล้ว การขมวดม้วนของ ตัว ฮ ก็เช่นกัน ถ้า ฮ ขมวดม้วนเล็กๆ เป็นปมทึบแบบ ฬ คงดูโล่งๆ แปลกพิลึก ผมจึงคงการขมวดหางแบบมีช่องว่างเหมือนตัวเนื้อมาตรฐานไว้.
เมื่อเขียนอักษรได้ครบทุกตัวแล้ว รายละเอียดขั้นตอนสุดท้ายที่ต้องพิจารณา คือ ทิศทางการสะบัดของปลายเส้น. สังเกตปลายเส้นดิ่งของอักษรดำรงธรรม เมื่อบรรจบฐาน จะสะบัดไปด้านหน้าเสมอ ยกเว้นตัว อ ที่ฐานโค้ง และเส้นกลางตัว ณ บนที่เลี้ยงหักหลบหัวกลมไปด้านหลัง. เช่นเดียวกัน ปลายเส้นตั้งของตัว บ และตัวอื่นๆ ที่หางสูงเสมอ บ ทุกตัวล้วนสะบัดไปด้านหน้า ยกเว้นเพียงสระ เ ตัวเดียวที่สะบัดไปด้านหลัง ทำให้ยืนได้สมดุลดีกว่า. ตัว น, ณ คล้ายสระ เ ตรงที่ส่วนยื่นเลยหลังออกไป จึงควรเปลี่ยนหางสะบัดไปด้านหลังแบบสระ เ แทน. ตัว พ มีเส้นหยักกลางอยู่สูง ถ้าแก้สะบัดหางเดิมไปด้านหลังแทน จะช่วยเพิ่มพื้นที่ภายในให้ดูโปร่งได้สมดุลซ้ายขวาดีกว่า. เช่นเดียวกับหาง ข ที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ก็สะบัดหางไปด้านหลังเพื่อช่วยเปิดช่องว่างด้านบนไม่ให้ดูทึบเกินไป.
ในชุดอักษรโรมันของแบบตัวพิมพ์ดำรงธรรมเป็นการเขียนขึ้นใหม่โดยอาศัยอักษรดำรงธรรมของสมเด็จครูเป็นครู. เฉพาะในตัวเลขอารบิก ผมจงใจซ่อนขมวดปมแบบตัว ต ไว้ในเลข 2, 3, 4 และ 7 เป็นพิเศษ. ใครที่รังเกียจเลขไทย (ทั้งที่บรรจงออกแบบใหม่ให้ใช้แล้ว) ก็ต้องเจอจริตไทยในเลขอารบิกอยู่ดี!
น้ําหนักแรกที่ทำเสร็จออกมาเป็นตัวค่อนข้างหนาตามต้นแบบ ส่วนชุดตัวบางมีน้ําหนักใกล้เคียงกับเส้นร่างฝีพระหัตถ์เดิม. ความพลิ้วไหวในความเรียบง่ายทําให้ชุดตัวพิมพ์นี้ใช้ได้กว้างขวาง จากงานพระราชพิธีถึงงานประเพณี พื้นบ้าน จากป้ายวัดวาอาราม, โรงเรียน ไปจนถึงร้านค้า ฯลฯ เป็นการถ่ายทอดอีกหนึ่งสําเนียงชาววังของสมเด็จครูสู่ชาวบ้าน นอกเหนือไปจากตัวเขียนแบบไทยนริศที่ช่างเขียนรุ่นเก่าทํามาก่อนผมนานแล้ว.
ชื่อฟอนต์ DB DamrongTham ตั้งชื่อตามตาลปัตร พัดดำรงธรรม เพื่อแสดงที่มาของตัวอักษรประดิษฐ์ อีกทั้งความหมายของ ‘ดำรงธรรม’ ยังลึกซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้เป็นอย่างยิ่ง, เสมือนเครื่องเตือนสติข้าราชการนักการเมืองทั้งหลาย ให้ยึดพระราชดํารัสของในหลวงในวันที่ทรงขึ้นครองราชสมบัติว่า ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’ เป็นแบบอย่างในการทํางาน.
ถ้าคนไทยช่วยกันดํารงความถูกต้องชอบธรรม ของบ้านเมืองไว้ได้ เมืองไทยนี่แหละสวรรค์บนดิน ของคนทั้งโลก!