DB Manit

ตามหลักฐานจากหนังสือ ‘ลายสือไทย ๗๐๐ ปี’ โดยศาสตราจารย์กําธร สถิรกุล ระบุไว้ว่า “ในช่วงระยะ พ.ศ. 2505-2510 ทางศูนย์พัฒนาหนังสือโตเกียว (Tokyo Book Development Center) ด้วยความร่วมมือของยูเนสโก ได้ให้ทุนเพื่อทําการพัฒนาตัวพิมพ์ของประเทศที่ไม่ใช้อักษรโรมัน และได้มอบทุนให้ทางกระทรวงศึกษาธิการจัดดําเนินการออกแบบพัฒนาตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้น โดยทางกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ส่งนายมานิต กรินพงศ์ ข้าราชการกรมวิชาการไปอบรมและร่วมออกแบบตัวหนังสือไทยที่ศูนย์พัฒนาหนังสือที่โตเกียว ซึ่งก็ได้ออกแบบตัวพิมพ์ไทยออกมาชุดหนึ่ง มีหลายแบบทั้งตัวบางตัวหนาและตัวเอน”

ศจ.กําธร เขียนทิ้งท้ายไว้ว่าตัวยูเนสโกไม่ได้รับความนิยมนัก ประกอบกับการเรียงพิมพ์แบบ Letter Press กําลังถูกแทนที่ด้วยการพิมพ์แบบ Offset ทําให้ตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วยูเนสโกที่ออกแบบไว้สําหรับ Letter Press หมดความนิยมลงไป.

ในยุคที่ใช้ตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง ตัวยูเนสโกกลับมาปรากฏขึ้นอีกครั้งโดยอีเอซี คอมพิวกราฟิก แต่มีเพียงน้ําหนักเดียว. ผมเข้าใจว่าเป็นการทําจากตัวยูเนสโกหนาของเดิม เส้นจึงดูค่อนข้างหนาและเหมาะจะเป็นตัว Medium มากกว่า Regular. เมื่อเข้าสู่ยุคฟอนต์ PostScript ของไทย (ราวปี 2530 เป็นต้นไป) ตัวยูเนสโกได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็น ฟอนต์ EAC UNESCO และ UPC Pansy ตามลําดับ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ายังคงเป็นน้ําหนักเดียวกับชุดตัวเรียงพิมพ์ ด้วยแสง! นี่เท่ากับเป็นการซ้ำเติมแบบตัวพิมพ์สวยๆ ที่เกิดผิดยุคให้ไม่ได้รับความนิยมต่อไปด้วยการลดน้ําหนักจากเดิมที่เคยมีทั้งหนาบางเหลือเพียงตัวกลางๆ น้ําหนักเดียว.

ผมมีความเชื่อว่าถ้าตัวยูเนสโกมีน้ําหนักให้เลือกมากพอก็น่าจะกลับมาได้รับความนิยมเป็นตัวเนื้อทางเลือกได้ อย่างไรก็ตาม หากตั้งใจจะอนุรักษ์เป็นฟอนต์ OpenType ทั้งที่ควรต้องศึกษารายละเอียดให้ถ่องแท้. เพราะโดยความหมายของการอนุรักษ์ไม่ได้จํากัดแค่รักษาแบบดั้งเดิมไว้ทุกกระเบียดนิ้ว หากรวมไปถึงการพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้น เพื่อให้สัมพันธ์กับการใช้งานในปัจจุบันที่ขนาดสามารถเล็กจิ๋วหรือใหญ่ยักษ์อย่างที่ตัวเรียงตะกั่วเดิมไม่ได้คิดเผื่อไว้.

เมื่อพิมพ์คําว่า ยูเนสโก ด้วย EAC UNESCO จะดูเหมือน ยูเนส โก (มีวรรค) เพราะสระโอ ปลายบนโย์หน้า ช่องไฟระยะหน้าจึงเว้นที่ไว้มาก

โดยภาพรวมแล้วตัวยูเนสโกมีสัดส่วนค่อนข้างแคบเป็นส่วนใหญ่ สอดคล้องกับหัวซึ่งรีแทนที่จะกลม. ความแคบนั้นด้านหนึ่งเป็นข้อจํากัดในการใช้งานอย่างมาตรฐานทั่วไป แต่มองอีกด้านมันอาจกลายเป็นโอกาสของการสร้างทางเลือกใหม่นั่นคือ ฟอนต์เพื่อการประหยัดที่. ผมเองนั้นไม่เคยเห็นงานพิมพ์โบราณจากตัวเรียงยูเนสโกมาก่อน ยอมรับว่ามาสังเกตเห็นเสน่ห์ของมันอย่างจริงจังตอนพบในงานที่พิมพ์ จากฟอนต์ EAC UNESCO. งานอนุรักษ์จึงเริ่มต้นจาก ตัว PostScript ของ EAC.

เมื่อจะเริ่มทําตัว Regular สิ่งแรกที่เห็นจาก EAC UNESCO ก็คือช่องไฟที่ค่อนข้างชิด. จากนั้นถ้าลองดูรายละเอียดเปรียบเทียบกันทั้งชุดตัวอักษรจะพบว่าอักษรบางตัวดูกว้างไป (เช่น จ, ร), บางตัวดูทึบไป (เช่น ค, ด), หางของ ช, ซ และ ส มีปลายอยู่แนวดิ่งเดียวกับเส้นหลัง ทําให้เกิดปัญหาเมื่อพิมพ์ไม้เอกหรือสระ อิ อี อึ อื จะชิดติดหางเกิน ทั้งไม่สวยและเป็นปัญหาต่อการอ่านในขนาดตัวพิมพ์เล็กๆ ตัว โ มีส่วนบนเยื้องหน้ามากไปทําให้ช่องไฟระยะหน้าของ โ ต้องห่างหลบรูปวรรณยุกต์การันต์และสระ ที่กํากับอยู่บนอักษรตัวข้างหน้าทําให้ช่องไฟดูไม่สวย ฯลฯ ปัญหาดังกล่าวค่อยๆ ถูกแก้ไขไปด้วยเส้นแบบสม่ำเสมอที่บางลงกว่าตัวต้นแบบ และช่องไฟที่หลวมกว่า ทําให้ได้ตัว Regular ที่สะอาดตาขึ้น จากนั้นจึงทําตัว Medium (หนากว่าตัวต้นแบบเล็กน้อย) ตัว Bold และ Light พร้อม Italic รวมทั้งชุดเป็น 8 สไตล์ หากนักออกแบบจะใช้เป็นตัวเนื้อในขนาดไม่เล็กมากนัก อาจใช้ตัว Light จะดูโปร่งไปอีกแบบ แล้วใช้ตัว Medium เป็นตัวเน้นแทนตัว Bold ก็ย่อมได้ แต่ถ้าใช้งานในขนาดเล็กหรืออยากได้สีตัวเนื้อที่เข้มขึ้น ให้เลือกใช้ตัว Regular และเน้นหัวข้อด้วยตัว Bold. นี่เท่ากับทําให้นักออกแบบสามารถแยกใช้งานได้เป็น 2 คู่ คือ คู่ตัว Regular กับ Bold ในกรณีที่ต้องการสีของงานเข้ม และคู่ Light กับ Medium ในกรณีที่ต้องการตัวเนื้อโปร่ง. กรณีหลังไม่ควรใช้ในขนาดเล็กจนความบางเริ่มมีอุปสรรคต่อการอ่าน.

ปัญหาชุดตัวพิมพ์อักษรโรมันทั้งที่อยู่ใน EAC UNESCO ซึ่งเป็นตัว Serif มีเส้นหนักเบา และ UPC Pansy ที่ตัว อักษรตามดูเล็กและแคบไม่สมดุลกับชุดอักษรไทยนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะละเลยได้ และถือเป็นเรื่องสําคัญของฟอนต์ตระกูล DB เลยก็ว่าได้ ในที่นี้ได้นําฟอนต์ Gothic ซึ่งรูปทรงค่อนข้างผอมอยู่แล้ว มาปรับปรุงสัดส่วนระหว่างตัวนําตัวตามให้ดูกลมกลืนกับตัว “ยูเนสโกใหม่” ทั้ง 8 สไตล์.

ในการจัดประกวด 10 ฟอนต์ไทยเพื่อการแจกฟรี โดย TEPC นั้น ผมได้รับเกียรติไปร่วมให้คําบรรยายเบื้องต้นกับผู้ลงทะเบียนประกวดที่เข้ามาฟังเป็นจํานวนมาก. ผมเพิ่งมารู้ในภายหลังการประกาศผลไปแล้วจากคุณปราสาท วีรกุล เพื่อนที่เป็นคณะกรรมการชุดนั้น ว่า หนึ่งในผู้เข้าร่วมประกวดและเข้าฟังคําบรรยายในวัน นั้นคือ อาจารย์มานิต กรินพงศ์ ผู้ออกแบบตัวยูเนสโกนั่นเอง! ผลงานของท่านไม่ผ่านการคัดเลือกจะเป็นด้วย เหตุผลใดผมไม่ทราบ เพราะผมขอไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินตามคําเชิญตั้งแต่ต้น (เพื่อเลี่ยงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะผมเตรียมทําฟอนต์ ขายอยู่แล้ว!). เมื่อทราบข่าวว่าท่านถึงแก่กรรมแล้ว ไม่นานก่อนจะลงมืออนุรักษ์ตัวยูเนโก ผมยิ่งรู้สึกทั้งใจหายและเสียดายที่ได้พบท่านแล้วแต่กลับไม่รู้จัก และที่เจ็บปวดคือไม่มีโอกาสได้สนทนากับท่านในฐานะที่ผม เป็นศิษย์ ท่านเป็นครูอย่างที่หัวใจวันนี้ต้องการ.

แม้ท่านจะจากพวกเราไป แต่ผลงานของท่านได้รับการสานต่อไว้ให้ยืนยาวเพื่อยังประโยชน์แก่คนรุ่นหลังแล้ว. ผมให้ชื่อตัวพิมพ์ชุดนี้ว่า DB Manit เพื่อเป็น อนุสาวรีย์ให้กับอาจารย์มานิต กรินพงศ์ แทนที่จะเป็น DB UNESCO ตามชื่อเดิม.

เพราะ UNESCO ไม่ใช่พ่อ!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ May 2010