DB Seri

คําว่า Sans เป็นภาษาละตินแปลว่าไม่. ฟอนท์กลุ่มที่ไม่มี Serif จึงนิยมเรียกว่าพวก sans serif หรืออาจเรียก Gothic คละๆ กันไป เช่น Gill Sans, Franklin Gothic หรือ Serif Gothic เป็นต้น. Franklin Gothic นั้นยังคงรักษาเค้าโครงของเส้นแบบหนักเบาแบบฟอนท์กลุ่ม Serif ยุคเก่าไว้ เพียงแต่ไม่หลงเหลือ Serif ไว้ให้เห็นแม้ปลายเล็บ. ในทางตรงกันข้าม Serif Gothic กลับรีดเส้นให้มีน้ําหนักสม่ำเสมอกัน และปล่อยเค้าโครงของ Serif ไว้ให้เห็นเพียงปลายเล็บ! (ชื่อฟอนท์ก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น Gothic ที่มีความเป็น Serif หลงเหลืออยู่).

Serif Gothic เป็นผลงานของ Herb Lubalin และ Tony DiSpagna (ระหว่าง ค.ศ. 1972-4) จุดเด่นของมันอยู่ตรงรอยต่อระหว่างเส้นโค้งแนวนอน (ทั้งบนล่าง) กับเส้นตรงแนวตั้ง จะสังเกตเห็นได้ว่าเส้นจะบิดตัวออกเล็กน้อย เกิดเป็นจะงอยเล็กๆ ดูพริ้วไหว กลมกลืนกับ Serif เล็กๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทําให้ดูหรูเลิศกว่าฟอนต์ ประเภท Gothic หรือ Sans Serif ทั่วไป. พิจารณาให้ดีแล้วมันก็คือ Serif ที่ลดรูปลงไปเช่นกัน.

ในการออกแบบฟอนท์ไทยเสมือน Serif Gothic ค่อนข้างไหลลื่น, ช่วงของการร่างใช้เวลาน้อยมาก อาจเป็นเพราะอารมณ์ของเส้นต้นแบบมันพาไปก็เป็นได้. ผมให้นิยามรูปอักษรทั้งชุคว่าเป็นการเอาความเรียบง่ายมาใส่จริต.

เริ่มจากตัว ก เพียงแต่เอาตัว n ของต้นแบบมาเพิ่มจะงอยให้ชัดๆ. ปัญหาสําคัญ คือการตัดสินใจว่า จะให้จะงอยอยู่ด้านไหนของตัวอักษร เช่น ตัว บ, ค และ ด เป็นต้น. ตัว บ ได้จากการพลิกกลับด้าน ตัว u มาใช้ เพื่อให้มันดูแตกต่างจาก u ชัดเจน. ตัว ค เลือกให้ จะงอยอยู่ด้านซ้ายเหมือนตัว n เพื่อให้สอดคล้องกับการเขียนตัว ค แบบบรรจงที่นิยมให้เส้นโค้งบนโป่งทางซ้าย (เพื่อหลบหัว) มากกว่าขวา. ส่วนตัว ด ที่เป็นแบบหัวลดรูปให้ดูเรียบง่ายนั้น เลือกให้จะงอยอยู่ทางขวาแทนเพื่อเลี่ยงไม่ให้มันดูสับสนกับ ถ.

ตัว ข ผมเลือกใช้โค้งแบบตัว s กลับด้านทําเป็นส่วนหัวเพื่อจะได้ใส่จริตเป็นจะงอยเล็กๆ ที่เส้นหลังได้. ส่วนตัว ช ถ้าเอาตัว ข มาต่อหยักหางจะดูรุงรังเรื่องมากเกิน (คือมีทั้งโค้ง ทั้งจะงอย ทั้งหยัก) เลยงัดเอา ช แบบเส้นหน้าตรงๆ เล่นจะงอยด้านหน้าแทนซึ่งดูเรียบร้อยกว่า.

ตัว ม ได้จากการเอาตัว u มาเพิ่มขมวดม้วนให้งอโค้งออกมา นอกจากจะช่วยสร้างสมดุลกับจะงอยที่เส้นหลังแล้ว ยังช่วยให้สังเกตขมวดม้วนแบบลดรูปของ ม ตัวนี้ได้ชัด ซึ่งช่วยให้มันอ่านง่าย. เมื่อพลิก ม ในแนวนอนจะได้ น พลิกแนวตั้งจะได้ ท ทําให้ได้ น ที่แตกต่างจาก บ, ม และ ท ที่แตกต่างจาก ก อย่างชัดเจน. ขมวดโค้งๆ ของตัว น ถูกถ่ายทอดพันธุกรรมลามไปเป็นหาง ศ, ส, ฮ.

กลุ่มอักษรคล้าย ก ทั้ง ฌ ญ ฎ ฏ ณ ละหัวได้ เพราะไม่ไปสับสนกับตัวไหนอยู่แล้ว รวมทั้งตัว ง และ สระหน้าทุกตัวก็ละหัวไปด้วย.

ตัว อ, ฮ และ ว เลือกใช้ทรงกลมกว้างเพื่อเพิ่มความเปรียบต่างกับเส้นโค้งบนล่างของตัวอักษรโดยทั่วไปที่แคบกว่า.

นอกจากเส้นเฉียงสั้นๆ ของหางตัว ช ซ และ ขมวดม้วนของตัว ห แล้ว ยังเลือกใช้ตัว พ (ฟ, ฬ) แบบตัว w เพื่อเพิ่มความแตกต่างของฟอร์มให้อักษรทั้งชุดดูน่าสนใจ อีกทั้ง พ แบบนี้ยังดูแยกแยะออกจาก ผ (ซึ่งกลับด้านมาจากตัว ต) ได้ชัดเจนไม่สับสน.

การตัดปลายเส้นโค้งบนล่างตามแนวดิ่งนั้นพบอยู่มากใน Serif Gothic เดิม เช่น Cc, Gg และ Ss เป็นต้น. ส่วนในภาษาไทย ทั้งพวกขมวดม้วน ม, น และหัว ถ, ภ ล้วนเป็นการตัดแนวเฉียง (ตามความหนาเส้น) จะคงการตัดแนวดิ่งไว้น้อยมาก. ดังนั้นจึงต้องย้อนกลับไปแก้ไขการตัดปลายแนวดิ่งของ Serif Gothic ดังกล่าวโดยเปลี่ยนเป็นแนวตัดเฉียงให้ได้ชุดอักษรโรมันใหม่ที่กลมกลืนกับชุคภาษาไทย. เพียงการลดทอนความแหลมอันเกิดจากการตัดปลายแนวดิ่งลง ก็สามารถช่วยให้ฟอนต์ทั้งชุดดูเรียบง่ายไม่พะรุงพะรังเกินไปเมื่อใช้เป็น Subhead เล็กๆ ขณะเดียวกันก็หรูหราละเมียดละไม เมื่อใช้เป็น Headline ในขนาดโตพอควรจนเห็น "จะงอย" และ Serif ปลายเล็บที่ตกทอดมาจากตัวต้นแบบ.

ผมนําชื่อ Serif Gothic มาตัดทิ้งเหลือ DB Seri เป็นนัยยะว่ายังคงมี Serif แบบไม่ชัดแจ้งแฝงตัวอยู่. อีกทั้งยังอ่านออกเสียงเป็นไทยได้ว่า "เสรี" ตรงตามประโยชน์ใช้สอยที่กว้างขวางของมัน เพราะมันมีช่องไฟค่อนข้างหลวมแถมอ่านง่าย. จะใช้เป็นตัวโปรยเล็กๆ ดูธรรมดาๆ ก็ได้ หรือจะใช้พาดหัวอวดความหรูก็ได้เช่นกัน. เมื่อใช้กับงานสื่อกลางแจ้งที่ผู้อ่านมีโอกาสเดินเข้าหา ดูไกลๆ ก็เหมือนจะธรรมดา พอเข้าใกล้ยิ่งดูละเอียดเข้าตามีระดับ.

เล็กๆ ไกลๆ ดูธรรมดา, ใหญ่ๆ ใกล้ตา ดูมีระดับ ครับ.

เอกสารอ้างอิง :
Rewis Blackwell; 20th-Century Type, 2004.

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ October 2010