DB Clung

Bank Gothic เป็นหนึ่งในผลงานเลื่องชื่อของ Morris Fuller Benton ระหว่างปี ค.ศ.1930-1934. จุดเด่นของมันคือตัวอักษรทรงเหลี่ยมหลายตัว (ดู C,  G, J, O, S, U ฯลฯ) จะถูกลบมุมให้มนเฉพาะเส้นรอบนอก ส่วนเส้นรอบในยังคงปล่อยให้ฉากอยู่ (คล้ายกรอบกระดานชนวนโบราณ) และปลายเส้นแนวดิ่งที่มีขนาดสั้น (ดู C, G, J, S, 2, 3 ฯลฯ) จะถูกตัดเฉียง (คล้ายลวดเย็บกระดาษ). แม้ว่าโดยภาพรวม Bank Gothic จะเต็มไปด้วยเส้นตรงเป็นหลัก ก็ยังคงมีบางตัว ที่ Morris จงใจทิ้งเส้นโค้งไว้ ได้แก่ ตัว D และเลข 5, 6, 9.

ตัว D ซื่อๆ แบบนี้ไม่ได้ช่วยให้เราจดจําความเป็น Bank Gothic ได้มากนัก เนื่องจากมันดูพื้นๆ เหมือน D ตระกูล sans serif ทั่วๆ ไป แต่ข้อสําคัญคือ มันอ่านง่าย. ไม่เชื่อลองจินตนาการดูว่า ถ้าเอาอักษร B ของ Bank มารื้อเส้นกลางแนวระดับออกแล้วเชื่อมต่อเส้นหลังตรง แบบตัว O ย่อมได้ D ที่อยู่ในกรอบใน grid อย่างเคร่งครัด ทว่าสายตาเราจะแยกมันออกจากตัว O ได้ยากมากเมื่อใช้กับ สิ่งพิมพ์ในขนาดพอยท์ที่เล็ก หรือใช้กับป้ายขนาดใหญ่แต่ต้องดูในระยะไกล. เช่นเดียวกับ D ของ Eurostile ใช้วิธีดัดเส้นหลังให้โค้งออกเล็กน้อยแบบตัว O ของมัน ช่วยให้สามารถรักษาบุคลิกไว้ได้ แต่ก็ต้องแลกกับความสับสนกับตัว 0 เล็กน้อย และมากขึ้นเมื่อถูกทําเป็นตัวมน (ดู DB EuroThai Rounded ประกอบ)

ส่วนเลข 5, 6, 9 ของ Bank Gothic นั้น Morris เลือกทิ้งเส้นหางให้โค้งช่วยให้มันอ่านง่าย ไม่ดูกลืนกันไปกับเลข 8 เหมือนที่เกิดใน Eurostile. เราจะเห็นชุดตัวเลขของ Bank Gothic ถูกใช้กับโปสเตอร์ทดสอบสมรรถนะสายตา ในจักษุคลินิก ขณะที่กรมการขนส่งทางบก (สมัยรัฐบาลไหนไม่รู้) กลับเลือกชุดตัวเลขของ Eurostile ไปใช้กับทะเบียน รถมอเตอร์ไซค์!

แม้ว่าโดยภาพรวมแล้ว ทั้ง Bank Gothic และ Eurostile จะดูเหลี่ยมๆ คล้ายๆ กัน แต่มุมของ Bank Gothic มนน้อยกว่า (มนเฉพาะเส้นรอบนอก) และยังมีการตัดปลายเส้นตั้งในแนวเฉียง จึงทําให้ Bank Gothic ดูขึงขัง เข้มงวด ต่างจาก Eurostile ที่ดูผ่อนคลาย ประนีประนอมกว่า. เราจะคุ้นเคยกับการใช้ Bank Gothic ในชุดตัวพิมพ์ใหญ่ล้วนๆ หรือไม่ก็ชุด Small Caps ในหนังประเภทอาชญากรรม หรือ หนังมหันตภัยพิบัติล้างผลาญ เช่น The Day After Tomorrow เป็นต้น จนคนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า Bank Gothic ไม่มีชุด ตัวพิมพ์เล็ก (small letter) เสียอีก

ปก THE DAY AFTER TOMORROW ใช้ Bank Gothic Medium พิมพ์ด้วยตัว Small Caps โดยปรับลดช่องไฟช่วย

เมื่อเริ่มคิดจะออกแบบฟอนต์ไทยเสมือน Bank Gothic นั้น ปัญหาอย่างหนึ่งที่ผมพบคือ ถ้าใช้ตัว Small Caps ของมัน ร่วมกับชุดภาษาไทยคงดูแปลกแยกไม่กลมกลืนกันเท่าไหร่ เพราะมันไม่มี descender หรือหางต่ำแบบตัวอักษรตาม ทําให้ทุกตัวยืนทื่อบนเส้นฐานหมด ไม่กลมกลืนกับชุดอักษรไทยที่มีทั้งเส้นที่เลยฐานลงมา และรูปสระล่างอย่าง อุ อู. ดังนั้นจึงต้องถอย Bank Gothic ชุดที่มีตัวพิมพ์เล็กมาเป็นวัตถุดิบเพื่อทําฟอนต์ดิสเพลย์ไทยตัวใหม่แทน และให้ชื่อเป็นไทยว่า DB Clung หรือ ‘คลัง’ ที่แปลจาก Bank นั่นเอง. รายละเอียดในการออกแบบชุดตัวอักษรไทยที่สําคัญของ DB Clung พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

อักษร ก แทนที่จะเอาตัว U ของ Bank Gothic มาคว่ำ ธรรมดาเกินไป ผมเติมเส้นบนยื่นออกไปข้างหน้าเล็กน้อยให้ดูเป็นปากและตัดปลายเฉียงให้ล้อกับลูกเล่นของ Bank Gothic. เช่นเดียวกัน ตัว ข และ ช ผมเลือกที่จะขมวดหัวเพื่ออวดเส้นตัดปลายแนวเฉียง แล้วใช้วิธีแยก ซ ออกจาก ช ด้วยการ เอาตัว ช มาบากเส้นนอนที่หัวออกเป็นรอยเว้นว่าง ทําให้กลายเป็น ซ ได้โดยไม่ต้องให้เส้นบนหยักทั้งเส้นอย่างที่เคยชินกัน, ที่ทดลองใช้วิธีนี้เพราะดูเรียบเหมือนนําเส้นนอน 2 เส้นที่ปลายตัดเฉียงมาแตะบรรจบกัน ความสับสนระหว่าง ช-ซ น่าจะเกิดได้ยากมาก เพราะร่องมันชัดพอสมควร) เช่นกรณีที่พิมพ์ด้วยขนาดพอยท์ค่อนข้างเล็กด้วยตัว ช แท้ๆ แต่ด้วยข้อบกพร่องทางการพิมพ์ (กระดาษ, เพลทชํารุด ฯลฯ) ทําให้ ช หัวแหว่งขาวคล้าย ซ. ใครที่บังเอิญชื่อ ตัน ชวย ก็จะซวยไป! การบากเส้นแทนหยักทั้งเส้นของ ซ ถูกใช้กับทั้ง ข, ฑ รวมไปจนถึงไม้ไต่คู้และไม้ตรีด้วย.

ในอักษร น, ม (และกลุ่มตัวคล้ายที่มีขมวดม้วนที่ฐานเหมือนกัน) นั้น ผมไม่อาจใช้ประโยชน์จากตัวพิมพ์เล็ก Bank Gothic ชุดที่ซื้อมา เพราะตัว u ไม่สามารถแปลงเป็น น ได้เลย ทั้งนี้เพราะรอยหยักที่ฐานตื้นมาก ผมจึงจําเป็นต้องเปลี่ยนเป็นยกเส้นล่างตัว น เฉียง และยอมให้มันยื่นเลยเส้นหลังแหลมออกไปเล็กน้อย (คล้าย น ใน DB Ramintra) ซึ่งมันล้อกับลีลาตัดปลายเฉียงของ Bank Gothic พอดี. ตัว ม และ ท ได้อานิสงส์จากตัว น ส่วนตัว ห ได้จากการต่อยอดจาก ท.

สําหรับกลุ่มอักษรตัวมีหาง ศ, ส, ฮ นั้น เลือกใช้หางเฉียงวางตําแหน่งกลางเส้นบนแบบวิธีเขียนอักษรประดิษฐ์ของช่างเขียนในยุคเก่า ทั้งนี้เพราะต้องการรักษา DNA ‘เหลี่ยมในมนนอก’ ของมุมบนซ้ายไว้ให้เห็นได้ชัดๆ โดยไม่มีหางงอกขึ้นมากวน. ตัว ฐ ก็อาศัยวิธีการเอาตัว จ มาเติมขีดหางแบบนี้พอให้ดูต่างจากตัว จ อนุโลมใช้แทนการขดเส้นแบบตัว ร, ธ ได้ เพราะปรกติเราจะเห็นพวงหางของ ฐ ชัดเจนว่าต่างจาก จ อยู่แล้ว (นอกจากจะเอาไปพิมพ์ภาษาบาลีเป็น ฐฺ อาจดูงงงง).

พิจารณาดูจากเส้นเฉียงทั้งในกลุ่มอักษร น, ม และหางบนของอักษรแทบทุกตัว จะพบว่ามีเส้นเฉียงกระจายตัว แก้เลี่ยนอยู่พอสมควรแล้ว ผมจึงเลือกให้ ผ, ฝ และ พ. ฟ มีเส้นกลางตั้งแทนเส้นหยักแบบตัว W ในอักษรละติน.

เช่นเดียวกับตัว D ของ Bank Gothic ที่ Morris ใช้เส้นหลังโค้งชัดๆ ผมตัดสินใจให้ ด มีเส้นหน้าโค้งเพื่อให้ดูแตกต่างจาก ถ (คู่สับสนของมัน) ซึ่งนอกจากจะมีเส้นหน้าตรงแล้ว ยังมีปากยื่นแบบตัว ก ต่างจากตัว ด อย่างสิ้นเชิง. ลองนึกภาพดู ถ้าเส้นหน้าของตัว ด ตรงแบบเส้นหน้าตัว O ของ Bank Gothic และเส้นหน้าตัว ถ หักฉากเฉยๆ ไม่ลบมุม แบบตัว B ของ Bank Gothic (ไม่มีปากยื่นออกไป) เราคงแยกแยะ ด และ ถ ออกจากกันได้ยากมาก เพราะว่าส่วนมุมขวาบนของ ด ลบมุมนิดเดียวเฉพาะด้านนอก (ต่างจากของ ถ ที่ไม่ได้ลบ) ต้องมาดูที่ความยาวของส่วนหัวแทนว่ามันจะ เป็นตัวอะไรดีวะ!?!

เมื่อจบตัวพิมพ์ไทยของ DB Clung แล้ว ต้องทําการขยับปรับสัดส่วนระหว่างตัวพิมพ์ใหญ่, ตัวพิมพ์เล็ก กับชุดตัวพิมพ์ไทยอยู่ถึง 3 ครั้งกว่าจะกลมกลืนกัน. ชุด Small Caps ยังคงมีให้เลือกใช้โดยทําขึ้นจากการนําตัวพิมพ์ใหญ่มาย่อให้ความสูงเท่ากับสูง บ. อย่างไรก็ตามช่องไฟที่เคยหลวมโครก ของ Bank Gothic ถูกปรับให้แคบลงใน DB Clung ทั้งอักษรไทยและละติน โดยที่อักษรไทยจะมีช่องไฟแคบกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ส่วนอักษรละตินใหม่ใน DB Clung จะแคบลงเล็กน้อยไม่หนีจากของ Bank Gothic มากนัก. สําหรับชุด ตัวเลขอารบิกของ Bank Gothic เดิมมีปัญหาที่ช่องไฟเลข 1 ซึ่งคูหลวมเกินไปมาก จึงเติมขีดที่เส้นฐานให้มันและถือโอกาสเปลี่ยนส่วนหัวไปด้วยใน DB Clung.

ฟอนต์ชุดนี้ไม่เหมาะที่จะทําตัวหนาหรือบางเกินไป โดยเฉพาะตัวบาง ถ้ามากเกินจะไม่สามารถสังเกตเห็นรายละเอียดมุมเหลี่ยมในมนนอกหรือการตัดปลายเส้นเฉียงที่เป็นเอกลักษณ์ของมันได้, DB Clung จึงมีเพียง 6 styles (Light, Regular และ Bold พร้อมชุด italic) แต่ก็นับว่าเพียงพอสําหรับนักออกแบบไทยที่คลั่งไคล้ Bank Gothic.

โดยสรุปแล้ว DB Clung ไม่ได้แปลจาก Bank Gothic เฉพาะชื่อเท่านั้น แม้แต่ภาษาดีไซน์ ซึ่งนับรวมทั้ง form และ function ของ Bank Gothic ผมก็เพียรพยายามแปลมาด้วยให้ได้ครบ.

จาก D dog เป็น ด เด็ก ยังไงล่ะครับ!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ April 2012